'ประจักษ์' ชี้ 'รัฐธรรมนูญ2560' ทำลายประชาธิปไตย-พรรคการเมือง-ประชาชน

'ประจักษ์' ชี้ 'รัฐธรรมนูญ2560' ทำลายประชาธิปไตย-พรรคการเมือง-ประชาชน

นักวิชาการรัฐศาสตร์ ชี้ รัฐธรรมนูญ2560 วางกลไกสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร ทำลายประชาธิปไตยให้แคระแกร็น-ทำลายพรรคการเมือง-ลดเสรีภาพประชาชน

       นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีกิจกรรม ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มองว่าเป็นกลไกสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร ตอนหนึ่งว่า ระบอบเผด็จการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นสิ่งที่บิดเบือนกลไกประชาธิปไตย จนไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน โดยสิ่งที่ได้คือ การสืบทอดเผด็จการของทหาร เช่น กระบวนการการออกเสียงประชามติ ที่เป็นกลไกประชาธิปไตยทางตรง แต่ที่ผ่านมาระบอบประยุทธ์ อ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่ไม่มีการประชามติครั้งไหนที่จับบุคคลไปขัง

       “พ.ร.บ.ประชามติ และ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร กำลังจะออกมา แทนที่จะเป็นกฎหมายให้ประชาชนตรวจสอบรัฐ แต่เนื้อหากลับเป็นกฎหมายที่ทำให้รัฐขยายอำนาจตนเองมากขึ้น ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่กลไกที่กลับไปสู่ประชาธิปไตย แต่คือระบอบค้ำจุนประยุทธ์ รวมถึงทำลายประชาธิปไตยให้แคระแกร็น ทำลายพรรคการเมือง ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่สำคัญคือสร้างนั่งร้านเผด็จการ ได้แก่ ส.ว., องค์กรอิสระ, หน่วยงานรัฐ, รัฐวิสาหกิจ และให้หน่วยงานรัฐตั้งพรรคการเมือง” นายประจักษ์ กล่าว

       นายประจักษ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ เปิดให้กลุ่มทุนผูกขาดมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์จากกลไก ข้อมูล บุคลากรของรัฐอย่างเป็นทางการ ผ่านการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปมีบทบาทและเป็นกรรมการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานยุทธศาสตร์และคณะการปฏิรูปชุดต่างๆ นอกจากนั้นยังพบการขยายตัวของรัฐราชการจำนวนมาก

       “ทหารใช้อำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ อยากจะปลด อยากจะโยกย้ายข้าราชการจำนวนมาก โดยพบว่ามีการใช้มาตรา 44 โยกย้าย ปลดข้าราชการจำนวนมาก อย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ พบการจัดระบบทุนใหม่ สร้างรัฐราชการ และกีดกันประชาชนให้ออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ รู้จักแต่การปกครอง มองประชาชนเป็นพลทหารที่คอยรับคำสั่งเท่านั้น จึงพบว่าราชการและทหารเป็นใหญ่ ดูได้จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 หากพบการระบาดที่มาจากราชการ จะไม่พบการโทษตัวเอง แต่หากปัญหาเกิดจากประชาชน นายกรัฐมนตรีจะโทษประชาชนทันทีว่า การ์ดตก” นายประจักษ์ กล่าว

       นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวด้วยว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแม้ไม่ได้ชัยชนะ แต่เผด็จการจะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน วันนี้ คือจุดนับหนึ่ง คือการรื้อถอนเงื่อนไขที่ทำให้ระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นอำนาจตรวจสอบไม่ได้ กดขี่ประชาชนให้ออกจากอำนาจ.