สิ่งทอทางการแพทย์…โอกาสใหม่ ของผู้ประกอบการเดิม

สิ่งทอทางการแพทย์…โอกาสใหม่   ของผู้ประกอบการเดิม

ตลาดสินค้ากลุ่ม Medical Textile หรือ สิ่งทอทางการแพทย์ จัดได้ว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตดี โดยในโซนเอเชียแปซิฟิก (รวมไทย) มีแนวโน้มเติบโตมากสุดในโลกที่ 8.3% ต่อปี ในช่วงปี 2020-2027 และมีมูลค่าธุรกิจแตะ 3 พันล้านดอลลาร์

ตลาดสินค้ากลุ่ม Medical Textile หรือ สิ่งทอทางการแพทย์ จัดได้ว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตดี โดยในโซนเอเชียแปซิฟิก (รวมไทย) มีแนวโน้มเติบโตมากสุดในโลกที่ 8.3% ต่อปี ในช่วงปี 2020-2027 และมีมูลค่าธุรกิจแตะ 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะขยายตัวตามกระแส Health ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่ผู้บริโภคจะหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงแรงหนุนจากการเข้าสู่ Aging Society

สิ่งทอทางการแพทย์ในไทยยังถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมีการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ ทั้งนี้ มูลค่าเงินลงทุนของโครงการสิ่งทอทางการแพทย์ที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอ เพิ่มขึ้นราว 4 เท่าตัวจาก 405 ล้านบาทในปี 2018 เป็น 2,148 ล้านบาทในปี 2020 นอกจากนี้ ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะเติบโตสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่มีเป้าหมายให้ไทยเป็น Medical Hub ภายในปี 2025 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสิ่งทอทางการแพทย์ในไทยยังถือว่าอยู่ในจุดเริ่มต้น และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยจากการรวบรวมข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจทางการค้าและสถาบันสิ่งทอแห่งประเทศไทยล่าสุด พบว่ารายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอที่มีการขยายไลน์สินค้าในกลุ่ม Medical Textile ยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 21% ของมูลค่าธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมเท่านั้น ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่ผู้ประกอบการสิ่งทอเดิมเพิ่งปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจนี้ในระยะที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 นอกจากนี้ ยังพบว่ารายได้รวมของผู้ประกอบการกลุ่มนี้เติบโตที่ 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสูงกว่ารายได้ของผู้ประกอบการสิ่งทอทั่วไปที่ไม่ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการแพทย์ ที่เติบโตในระดับ 2% ต่อปีเท่านั้น

นอกจากนี้ อุปสงค์ในไทยต่อสิ่งทอทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มหน้ากากอนามัยก็ยังมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างชัดเจน โดยพบว่าในช่วงปี 2016-2020 แม้ว่าไทยจะมีการส่งออกหน้ากากอนามัยโดยรวมเติบโตกว่า 91% ในช่วงปีดังกล่าว แต่ก็พบว่ามีการนำเข้าหน้ากากอนามัยเข้ามาในอัตราที่เติบโต ณ ช่วงปีเดียวกันที่ 118% เช่นกัน โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงนัก เช่น หน้ากากอนามัยกันฝุ่น แต่สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มักใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงกว่า เช่น Surgical mask และชุด PPE เป็นต้น จึงสะท้อนให้เห็นว่า หากผู้ประกอบการไทยยกระดับการผลิตกลุ่มสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ ก็มีโอกาสสร้างรายได้จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังเติบโตนี้ได้

Krungthai COMPASS จึงมองว่าผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจสิ่งทอเดิม สามารถเริ่มต้นคว้าโอกาสจากธุรกิจสิ่งทอทางการแพทย์นี้ได้จากการผลิตสินค้าที่ยังไม่ต้องลงทุนสูงมาก โดยเริ่มได้จากสินค้า 2 กลุ่ม ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าที่ใช้ภายนอกร่างกาย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อสุขอนามัย (Health and Wellness) เช่น ชุดกีฬาที่กันแบคทีเรีย ที่มีแนวโน้มเติบโต 8.0% ต่อปี ในช่วงปี 2020-2027 และผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะทางการแพทย์ (Medical and Patient Care) เช่น ชุด PPE ที่มีแนวโน้มเติบโต 8.7% ต่อปี ซึ่งจำแนกได้อีก 2 กลุ่มย่อย คือ ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปโดยไม่ต้องถักทอเส้นใย (Nonwoven) โดยลักษณะสินค้าเหมาะสำหรับการใช้งานทางการแพทย์แบบครั้งเดียวทิ้ง และผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปโดยถักทอมาจากเส้นใย (Woven) โดยลักษณะสินค้าเหมาะสำหรับการใช้งานบ่อยครั้ง สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะที่ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการแพทย์ที่ใช้ภายในร่างกาย เช่น เส้นเลือดเทียมหรือเอ็นเทียม อาจต้องใช้ระยะเวลาอีก 5-10 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการสั่งสมประสบการณ์และพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงจึงจะไปต่อได้

Medical Textile จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจของกลุ่มธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งภาพรวมกำลังอยู่ในขาลง ให้สามารถพลิกฟื้นขึ้นมา โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้รายได้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุค New Normal ได้