"3พรรคร่วม" จ่อเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ

"3พรรคร่วม" จ่อเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ

นิกร เผย 3พรรคร่วม เคาะยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ไม่วิจารณ์ "พปชร." เสนอฟื้นระบบเลือกตั้งปี40

       นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อการพิจารณาเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ของ   3พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาธิปัตย์  ว่า เบื้องต้นมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ แบ่งเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขหลักเกณฑ์ออกเสียงวาระแรก และวาระสาม ที่ใช้เสียงเห็นชอบ 3 ใน 5 ตามที่รัฐสภาเคยเห็นชอบ แทนการใช้เสียง ส.ว. จำนวน 1 ใน 3  หรือ 84 เสียง , 2. ประเด็นกระบวนการเลือกตั้ง ระะบบเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวยังไม่ตกผลึกว่าจะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือ สองใบ, 3. ประเด็นกระบวนการทำงานในรัฐสภา  เช่น หมวดว่าด้วยการปฏิรูปที่เห็นว่าควรให้รัฐสภาพิจารณา แทน ส.ว. และควรพิจารณาความคืบหน้า ทุกๆ 1 ปี และ 4.ประเด็นสิทธิเสรีภาพประชาชน รวมถึงการกระจายอำนาจ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เนื้อหาทั้งหมดถูกโหวตตกในวาระแรก
         "ตัวแทนของ 3 พรรคที่เคยร่วมศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในนาม กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ  อยู่ระหว่างหารือร่วมกันถึงรายละเอียด ซึ่งในการแก้ไขประเด็นต่างๆ ที่จะเกี่ยวกับมาตราใดบ้างนั้น จะนำมาจากผลการศึกษาของกมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ชุดที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ เป็นประธานกมธ.ฯ ทำให้ไม่จำเป็นต้องศึกษาเนื้อหาใหม่เพิ่มเติม" นายนิกร กล่าว

       นายนิกร กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ เตรียมยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ 13 มาตรา และระบุว่าหากญัตติอื่นเสนอแก้เกินกรอบจะไม่ลงมติให้  เช่น ประเด็นเกี่ยวกับส.ว. ว่า เป็นความคิดเห็น ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่พิจารณาภายหลังได้ เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่ ส.ว. จะเห็นด้วยหรือไม่ ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.พลังประชารัฐจะเห็นด้วยหรือไม่เท่านั้น อีกทั้งในประเด็นขอแก้ไขมาตรา 256 นั้นที่ผ่านมา วุฒิสภา เห็นด้วยกับการแก้ไขใช้เสียง 3 ใน 5 มาแล้ว
       เมื่อถามว่าการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐเสนอให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า การกำหนดรายละเอียดไว้มากเกินไป เช่น ต้องส่ง ส.ส.​100 เขต หรือกำหนดเกณฑ์ให้ได้คะแนนเลือกตั้ง 1% ของคะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศ เป็นการกำหนดรายละเอียดที่มากเกินไป และเห็นว่าควรนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายเลือกตั้งจะเหมาะสมกว่า อย่างไรก็ดีในรายละเอียดอื่นๆ ตนไม่ขอออกความเห็น.