“เกษตร”วาง4เป้าหมายงาน เพิ่มผลิตภาพ-ลดยากจน

“เกษตร”วาง4เป้าหมายงาน  เพิ่มผลิตภาพ-ลดยากจน

"เฉลิมชัย”วาง 4 เป้าหมาย ดันจีดีพีภาคเกษตรแตะ 3.8 %ต่อปี เพิ่มผลผลิตของภาคเกษตรเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ลดเกษตรกรยากจนได้ 10 % พร้อมเพิ่มพื้นที่ชลประทานปีละ350,000ไร่

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (31 มี.ค. 64) ว่าในวาระครบรอบ 129 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 1 เมษายนนี้ และกำลังที่จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 130 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานสู่มิติใหม่ภายใต้เป้าหมายใหม่ ได้แก่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีในประเทศสาขาเกษตรเฉลี่ย 3.8% ต่อปี เพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ลดเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี และ เพิ่มพื้นที่ชลประทานไม่ต่ำกว่าปีละ 350,000 ไร่

ทั้งนี้ ภายใต้วิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคอย่างมาก กระทรวงเกษตรฯจึงมีกลยุทธ์และยุทธศาสตร์บริหารการพัฒนาที่ชัดเจนสามารถปฏิบัติได้ กำหนดแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรม 5 ยุทธศาสตร์ และ15 นโยบายหลัก เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารสู่เป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2. ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0

3.ยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability- เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน) 4. ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” และ 5. ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา

นอกจากนั้น ยังมีการกำหนด 15 นโยบายหลักที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบประกอบด้วย นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เพิ่มช่องทางตลาดให้หลากหลายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก . การส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)

การพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และแปลงใหญ่ การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การ ประกันภัยพืชผลให้ความคุ้มครองความเสียหายหรือความสูญเสียต่อพืชผล การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน