‘ภาคี SME’ แนวคิดเสริมความเข้มแข็งธุรกิจขนาดเล็กในยุค Digital จาก 'Clubhouse'

‘ภาคี SME’ แนวคิดเสริมความเข้มแข็งธุรกิจขนาดเล็กในยุค Digital จาก 'Clubhouse'

แนวคิด “ภาคี SME” กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ใน 'Clubhouse' แชร์ไอเดียกัน เพื่อหาทางสร้างเสริมความเข้มแข็งของธุรกิจขนาดเล็กซึ่งหาแนวทางการนำ Digital มาแก้ปัญหาและยกระดับธุรกิจให้ไปได้ดียิ่งขึ้น

ภาคี SME” เป็นคำที่ผมได้มาจากการเฝ้าติดตามการสนทนาของกลุ่มต่างๆ ใน Clubhouse แล้วก็เป็นอย่างที่เล่าให้ทุกท่านฟังไปแล้วว่า สำหรับผม Clubhouse เป็นแหล่งความรู้เป็นที่รวมของผู้รู้ นักคิด ผู้ที่มีประสบการณ์เข้ามาแลกเปลี่ยนและร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ และผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นคนที่มีความสนใจทางด้าน Digital เป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์ที่ใส่ใจจะติดตามและยกระดับความรู้ความสามารถของตนเองให้ทันสมัย เต็มไปด้วยกลุ่มนักธุรกิจหัวสมัยใหม่ ซึ่งอาจไม่ได้ทำธุรกิจที่ใหญ่มากมาย แต่ทำในอัตราเร่งที่รวดเร็วและกล้าที่จะกระโจนไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

Startup และ SME

นักธุรกิจกลุ่มนี้มักเรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่ากลุ่ม Startup หรือ SME ซึ่งแม้ว่าในความเป็นจริง ธุรกิจสองกลุ่มนี้จะมีความแตกต่างกันด้านแนวคิด ด้านการตลาด การเงิน และวิธีการ แต่ในโลกยุคปัจจุบันธุรกิจของคนรุ่นใหม่หรือธุรกิจที่นำ Digital เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะถูกเรียกทั้งสองแบบสลับกันไปสลับกันมาแล้วแต่วัตถุประสงค์ของผู้เรียก ว่าจะต้องการสื่อสารออกไปในรูปแบบใด แต่จากที่ได้ติดตามการพูดคุยใน Clubhouse ก็พบว่าธุรกิจขนาดเล็กที่เน้นการนำนวัตกรรมมายกระดับผลิตภัณฑ์ มาพัฒนาการผลิต มาส่งเสริมการตลาด กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เรื่อยไปจนถึงกลุ่มพ่อค้าเดิมที่มองเห็นโอกาสในโลก Digital  หลายๆ คนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีอีกมากที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือประสบความสำเร็จในช่วงแรกแต่ไม่สามารถยืนระยะได้ จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า SME มีส่วนในการขับเคลื่อน GDP ของประเทศค่อนข้างมาก แต่ร้อยละ 75 ของ SME จะมีอายุไม่เกิน 1 ปี และ SME ที่ผ่าน 1 ปีไปได้จะมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่รอดผ่าน 5 ปี

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ SME ประสบและเป็นปัจจัยในการล่มสลายของธุรกิจมีหลักๆ อยู่ 3 ประการได้แก่

1.การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง

คำว่าเทคโนโลยีในที่นี่ไม่ได้หมายถึง IT หรือ Digital เพียงอย่างเดียวแต่เป็นความหมายที่รวมถึงระบบหรือโปรแกรมสำเร็จสมัยใหม่ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด อาทิ ระบบบริหารจัดการสินค้า การผลิต การขนส่ง ระบบบัญชี แม้แต่ระบบหรือ Platform ที่เลือกใช้ในการลงโฆษณา ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าของ SME โดยตรงด้วย

ระบบหรือโปรแกรมต่างๆ ก็มีรายละเอียด รูปแบบการใช้งาน ขนาด ราคา และการบำรุงรักษา ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หรือลักษณะการใช้งานในแต่ละธุรกิจ หากผู้ประกอบการไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดหรือประเมินการใช้งานของตนเองผิดพลาดก็จะทำให้สิ้นเปลืองเวลา เสียโอกาส เสียทั้งกำลังกาย กำลังความคิด กำลังทรัพย์ไปกับระบบ IT ที่ไม่เหมาะกับธุรกิจของตน เจ้าของธุรกิจ SME บางรายเลือกพึ่งพาเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมจนทำให้ธุรกิจต้องจบลงเพราะการคำนวณที่ผิดพลาดของระบบก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดังนั้นการเลือกเทคโนโลยีให้เหมาะกับธุรกิจจึงเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่จะนำพา SME ไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้

2.การประสบปัญหาด้านเงินทุน

ในประเทศไทย SME ส่วนใหญ่เป็นการสร้างงานด้านศิลปหัตถกรรม งานฝีมือของชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่น ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ สร้างสรรค์ สืบทอดพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น จนสามารถยกระดับฝีมือ พัฒนาผลงานโดดเด่นจนได้รับความนิยมสามารถขายในตลาดนอกชุมชนได้ และด้วยระบบ Online ในปัจจุบันส่งผลให้การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วประเทศหรือแม้แต่ต่างประเทศทำได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถขยายตลาด สร้างฐานลูกค้าได้อย่างมหาศาล แต่เนื่องจากจุดเริ่มต้นที่ทั้งฝีมือแรงงาน ทักษะ วัตถุดิบ ระบบการบริหารจัดการเริ่มจากชุมชนแบบวิถีชาวบ้านทำให้การเติบโตอย่างก้าวกระโดดส่งผลกระทบต่อการควบคุมคุณภาพ ระบบการจัดการและที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาเงินทุนหรือสภาพคล่องในการรองรับการขยายขนาดธุรกิจ ทั้งนี้ SME ส่วนมากไม่สามารถเข้ามาสู่กฎระเบียบที่สถาบันการเงินหรือระบบการช่วยเหลือของภาครัฐมีอยู่ในปัจจุบันได้ ดังนั้น SME ส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพาตนเองในการหาเงินมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการนำบ้านเรือน ที่ทำกินไปใช้ในการค้ำประกันเงินทุน หรือแม้แต่การพึ่งพาเงินนอกระบบ ทำให้ SME ต้องแบกภาระมากกว่าธุรกิจอื่นๆ การขาดสภาพคล่องทางการเงินคืออีกปัญหาที่ทำให้ SME ต้องฝ่าฟันและไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจให้มั่นคงและยั่งยืน

3.ปัญหาการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า

ต้องยอมรับว่าการที่พวกเราเข้าไปจับจ่ายใช้สอยในร้านสะดวกซื้อเจ้าเดิม เติมน้ำมันจากผู้ให้บริการเจ้าเก่า หรือแม้แต่การทำบัตรเครดิต บัตรสมาชิกต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่จะได้รับผลตอบแทนทั้งในรูปของแต้มสะสม ส่วนลด ที่จอดรถพิเศษตลอดจนบริการเสริมอื่นๆ ที่ธุรกิจเหล่านั้นมีให้กับลูกค้าเพื่อดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาจับจ่ายใช้สอยและรับบริการในเครือข่ายของผู้ให้บริการเจ้าเดิม การที่ลูกค้ากลับไปซื้อสินค้าเจ้าเดิมนอกจากจะเป็นการรักษาฐานลูกค้าแล้วยังสามารถขายสินค้าชนิดอื่นๆ ให้กับลูกค้าเก่า รวมทั้งสามารถติดตามความพึงพอใจและเก็บข้อมูลทางการค้าเพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการได้อีกด้วย ระบบแบบนี้ศัพท์ในโลกธุรกิจเรียกว่า ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management : CRM) ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับ SME แล้วเป็นเรื่องยากที่จะติดตามและประเมินความพึงพอใจของลูกค้า แม้ว่าสมัยนี้จะมี Digital Platform เช่น Facebook, Instagram, Tiktok หรืออื่นๆ ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าทำได้มากขึ้นแต่ SME ส่วนใหญ่ของไทยก็ยังคงใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มากนักในการติดต่อหรือเก็บข้อมูลของลูกค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์และต่อยอดธุรกิจ ไม่นับรวม SME เล็กๆ ที่ไม่แม้แต่จะเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้

ดังนั้น “ภาคี SME” ที่ผมติดตามอยู่ใน Clubhouse จึงเป็นช่องทางการรวมตัวของ SME ที่จะสร้างความเข้มแข็ง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูลระหว่างกันและกันเพื่อพัฒนา SME อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตที่  ส่วนในเรื่องของการปรับเปลี่ยนกฎกติกาของสถาบันการเงินหรือระเบียบของรัฐนั้น ถ้า “ภาคี SME” เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมการรวมตัวกันส่งเสียงดังๆ ให้กับทุกภาคส่วนก็คงจะง่ายขึ้น ประกอบกับที่ผมติดตามก็ได้เห็นนักการเมืองที่เข้าใจ SME ตัวเล็กๆ  นักวิชาการ ผู้รู้ ผู้มีวิสัยทัศน์เข้ามาร่วมรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้อย่างหลากหลาย

ดังนั้น “ภาคี SME” ก็ไม่น่าจะใกล้เกินฝันอีกต่อไป ผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ