แฮชแท็กร้อน 'ศุลกากรหรือซ่องโจร' หลังช้อปออนไลน์เจอภาษีอ่วม ตกลง 'กรมศุลกากร' คำนวณภาษีอย่างไร

แฮชแท็กร้อน 'ศุลกากรหรือซ่องโจร' หลังช้อปออนไลน์เจอภาษีอ่วม ตกลง 'กรมศุลกากร' คำนวณภาษีอย่างไร

บัญชีผู้ใช้ Twitter ตั้งคำถามถึงการจัดเก็บ "ภาษีอากรขาเข้า" ของ "กรมศุลกากร" ในอัตราสูงผิดปกติ จนเกิดแฮชแท็กร้อน #ศุลกากรหรือซ่องโจร เรื่องราวเป็นอย่างไร? พร้อมเปิดวิธีคำนวณ "ภาษีสินค้าจากต่างประเทศ" ที่สายออนไลน์ควรรู้

เจาะปมดราม่าจากแฮชแท็ก #ศุลกากรหรือซ่องโจร ที่กลายเป็นประเด็นร้อน ถกเถียงกันบนโลกโซเชียลถึงเงินที่ต้องจ่ายสำหรับภาษีสินค้าจากต่างประเทศ ที่มีเสียงสะท้อนว่า ไม่ได้มีมาตรฐานตายตัวที่ชัดเจน นำมาสู่การตั้งคำถามถึงหลักการคิดภาษีของกรมศุลกากร ว่า มีวิธีคิดอย่างไร 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงจะสรุปเรื่องราวปมดราม่า พร้อมพาไปเปิดวิธีคำนวณ "ภาษีสินค้าจากต่างประเทศ" ที่นักช้อปออนไลน์ควรรู้

161666089659

สื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการใช้ชีวิตในปัจจุบัน สุข เศร้า เหงา เครียดล้วนถูกระบายผ่านโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องส่วนตัว แต่ขอบเขตของโซเชียลมีเดียยังสร้างผลกระทบต่อสังคมแบบคลื่นใต้น้ำที่เปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญอย่างนับไม่ถ้วน 

   

  • ดราม่า #ศุลกากรหรือซ่องโจร ปมร้อนออนไลน์ 

#ศุลกากรหรือซ่องโจร ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 โดยต้นเรื่องมาจากบัญชีผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งออกมาตั้งคำถามถึงการจัดเก็บภาษีอากรขาเข้าของกรมศุลกากรในอัตราสูงผิดปกติ หลังจากนั้นมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว พร้อมบอกเล่าประสบการณ์การถูกเรียกเก็บภาษีจากการสั่งสินค้าออนไลน์เป็นจำนวนมากกว่า 1 แสนข้อความ

ตัวอย่างข้อความเช่น “ทุกคนไม่ได้ไม่อยากจ่ายภาษีนะแต่แค่อยากจ่ายในราคาที่เหมาะสมและมีกฎระเบียบในการเก็บที่ชัดเจนแค่นั้นเองไม่ใช่มาโดนขูดรีดยังกะปล้นเอาขนาดนี้  #ศุลกากรหรือซ่องโจร" 

“มีแท็กนี้แล้ว เยี่ยมมากเลย ฉันเคยโดนประเมินราคาที่ผิดสุดโต่งมาแล้ว รอบนั้นยอมเพราะไม่อยากไปตีกลับไปประเมินแล้วติดปีใหม่ ของเป็นปฏิทินกับตัวปั๊ม ราคารวมส่งรวมประกัน 1,628.63 บาท โดนประเมินมา 15,400 บาท เสียภาษีไป 2,726 บาท #ศุลกากรหรือซ่องโจร" 

โดยสรุปประเด็นที่ถูกพูดถึงใน  #ศุลกากรหรือซ่องโจร คือ

- การประเมินภาษีอากรขาเข้าของเจ้าที่พนักงานที่ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดแน่ชัด ราคาต่างกันแม้จะเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน 
- การเปิดสินค้า และมีสินค้าหาย ไม่ได้ครบตามจำนวนที่สั่งไป 
- ข้อกำหนดยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ให้มีจำนวนเกณฑ์ราคาสูงขึ้น 

     

  • อัตราภาษีอากรขาเข้า คืออะไร? 

"ภาษีอากร" คืออะไร? กรมศุลกากรให้ความหมายคำว่า “อากร หมายถึง เงินรายได้ของประเทศที่กฎหมายกำหนดให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บจากการนำของเข้ามาในหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร หรือ จากกรณีอื่นๆ ตามที่บัญญัติในกฎหมายศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ตลอดจนกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอากรศุลกากร

โดยหลักการของการเก็บอากร ระบุไว้ว่า ของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร เป็นของที่ต้องเสียอากร  สามารถค้นหาอัตราอากร ได้จากพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 นอกจากนี้ในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร ยังมีของที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับยกเว้นอากรหากนำของเข้า หรือ ส่งของออก แล้วแต่กรณี แต่ต้องมีลักษณะตามเงื่อนไขที่กำหนด

  • อัตราภาษีที่เรียกเก็บ

อัตราภาษีที่เรียกเก็บ บางประเภทเรียกเก็บตามสภาพ บางประเภทเรียกเก็บตามราคา บางประเภทเรียกเก็บทั้งตามสภาพ และ ตามราคา

ตามสภาพ หมายถึง อัตราที่เรียกเก็บตามจำนวน ปริมาตร ปริมาณ เช่น กระบือตัวละ 500 บาท น้ำมันลิตรละ 0.50 บาท เป็นต้น

ตามราคา หมายถึง อัตราที่เรียกเก็บตามร้อยละของราคาศุลกากร เช่น รองเท้านำเข้า  อัตรา 30%ของราคาศุลกากร ไม้ส่งออก อัตรา 10% 

ของใดที่กฎหมายกำหนดให้มีทั้งอัตราตามสภาพ และ อัตราตามราคา ให้คำนวณทั้ง 2 แบบ และให้ชำระอากรตามแบบที่คำนวณอากรได้สูงสุด

อัตราภาษีอากรขาเข้าที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยได้แก่ 

- เสื้อผ้า รองเท้า 40 % 
- อัลบั้ม โฟโต้บุ๊ค 10%
- เครื่องสำอาง 30% 

ทั้งนี้อัตราภาษีอากรขาเข้าเป็นเพียงการประเมินขั้นต้นเท่านั้น โดยสามารถตรวจเช็คได้จาก ... พิกัดอัตราศุลกากร ฉบับที่ 6 ปี 2558 หรือสามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์กรมฯหัวข้อ ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากร

161666016638

   

  • วิธีการคำนวณภาษี สั่งของออนไลน์ต้องเสียเท่าไหร่? 

เมื่อทำความเข้าใจของอากรขาเข้าแล้ว สิ่งสำคัญขั้นต่อไปคือการคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายจริงๆ หากเราจะสั่งของออนไลน์จากต่างประเทศ เพราะนอกเหนือจากค่าอาการขาเข้าแล้ว ยังมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 % อีกด้วย 

โดยขั้นตอนแรก คือการเช็คราคาสินค้า 

เช็คราคาสินค้า = ราคาของ + ประกันภัย + ค่าขนส่ง

- หากราคารวมไม่เกิน 1,500 บาท ยกเว้นอากรขาเข้า แต่เสียVAT 7%

- หากราคารวมเกิน 1,500 บาท เสียอาการขาเข้า + เสียVAT  7%

ล่าสุดวันที่ 21 มีนาคม 2564 พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า รัฐมนตรีการคลังเตรียมศึกษาแนวทางลดผลกระทบต่อเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันอาจปรับเกณฑ์การเสียภาษีใหม่ พิจารณาแนวทางเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าทางไปรษณีย์จากต่างประเทศที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท จะช่วยให้รัฐบาลสามารถเพิ่มประสิทธิการเก็บภาษี ลดการรั่วไหล และปัญหาการทุจริตได้ด้วย 

  • วิธีการคำนวณค่าภาษีขาเข้า

ขั้นตอนต่อมาคือวิธีการคำนวณค่าภาษีขาเข้า 

อากรขาเข้า = ราคาสินค้า x อัตราภาษีขาเข้า

ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x VAT  7%

สรุปค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ = อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

  •  "ศุลกากร" จัดการอย่างไร 

ในปีงบประมาณ 2563 สถิติขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่ผ่านบริษัทเอกชนต่างๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 38 ล้านชิ้น และขนส่งสินค้าทางไปรษณีย์จำนวน 5 ล้านชิ้น ซึ่งกว่า 99% ที่เกิดปัญหาดราม่ามีผู้ร้องเรียนว่าสินค้าหายหรือถูกประเมินภาษีเกินราคานั้นคือ การขนส่งทางไปรษณีย์เป็นหลัก

กรมศุลชี้แจงว่า การคัดแยกสิ่งที่ของที่นำเข้าทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

- กลุ่มที่มีราคามากกว่า 40,000 บาท 
- กลุ่มที่ 2 ราคา 1,500-40,000 บาท 
- กลุ่มที่ 3 ราคาต่ำกว่า 1,500 บาทซึ่งไม่เสียภาษี

กลุ่มที่มีปัญหา คือ กลุ่มที่ 2 ที่ส่งสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ จำนวน 300,000 ชิ้น อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้ กรมศุลฯ แกะสินค้าเพื่อประเมินภาษีแค่ 3-5% จากสินค้าเท่านั้น โดยส่วนมากสินค้าที่มีปัญหา เนื่องจากบางรายแจ้งราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง น้ำหนักสินค้าไม่ตรงกับที่แจ้ง ซึ่งส่วนมากเป็นของสะสมของแฟนคลับศิลปินเกาหลี อาทิ อัลบั้ม โฟโต้บุ๊ค เป็นต้น

ดังนั้นกรมศุลจึงมีการแกะกล่องร่วมกับไปรษณีย์ไทยเพื่อประเมินภาษีใหม่ ซึ่งหลักการประเมินจะใช้หลักการของเหมือนกันคิดราคาใกล้เคียงกัน โดยราคาที่นำมาคิดภาษีจะดูจากสินค้าประเภทเดียวกันที่เคยส่งมาหรือดูหน้าเว็บไซต์ในกรณีที่สินค้าไม่มีป้ายติดราคามา

รวมถึงเปิดช่องทางร้องเรียนพิเศษ หรือ Hot Line ขึ้นบนเว็บไซต์ของกรมศุลกากร โดยให้ผู้ที่มีปัญหา สามารถส่งอีเมลแจ้งปัญหาได้เช่นกัน 

ที่มา : กรมศุลกากร