'ชวน' เผยผลหารือ 3 ฝ่ายเห็นพ้องเปิดประชุมวิสามัญ 7-8 เม.ย.นี้

'ชวน' เผยผลหารือ 3 ฝ่ายเห็นพ้องเปิดประชุมวิสามัญ 7-8 เม.ย.นี้

"ชวน" เผยผลหารือ 3 ฝ่ายเห็นพ้องเปิดประชุมวิสามัญ 7-8 เม.ย. ชี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะให้กฎหมาย "ประชามติ" เป็นอย่างไร

วันที่ 24 มี.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... เร็วเกินไปว่า อยู่ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ตนได้พูดคุยกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ทราบว่าจะมีการประชุมในวันที่ 1 เม.ย.ก็จะเสร็จ แต่ถ้ารอให้เสร็จแล้วทำเรื่องกราบบังคมทูลเพื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญอาจจะไม่ทันในวันที่ 7-8 เม.ย. เพราะต้องมีระยะเวลาในการทำเรื่องทูลเกล้าฯ แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้การรับรองแล้วว่าพิจารณาเสร็จทัน

นายชวน กล่าวต่อว่า สำหรับกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายด่วนของรัฐบาล ไม่ใช่รัฐสภาเป็นผู้เสนอ ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ผู้นำฝ่ายค้าน และนายวิษณุ ได้พูดคุยกันเบื้องต้นแล้วว่าจังหวะเวลาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าวันที่ 7-8 เม.ย.จะเหมาะสม เพราะหลังจากนี้จะเป็นวันหยุดยาวของสมาชิกรัฐสภา

"ไม่เข้าใจว่าที่บอกว่าเร็วเกินไปนั้นหมายถึงอะไร ถ้าไม่เร็ว ต้องไปพิจารณาในการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ ในเดือน พ.ค.เลย แต่ในกรณีนี้ถือเป็นเรื่อด่วนที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ"นายชวน ระบุ 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีบางฝ่ายเป็นห่วงร่างกฎหมายดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ นายชวน กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์เรื่องนี้ เพราะเราทำหน้าที่ต่อฝ่ายที่เสนอกฎหมายมาให้ได้รับการพิจารณาตามวาระที่รัฐสภาดำเนินการ เพื่อไม่ให้กฎหมายค้างการพิจารณา แต่การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่ผ่านมานั้นเปิดมา เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้จบ แต่บังเอิญเกิดปัญหาขึ้น จึงต้องมาพิจารณาอีกครั้ง

161657175954

เมื่อถามว่า หากมีคนไปยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวสะดุดหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน การไปร้องก็แล้วแต่สมาชิกหรือใครก็ตามที่จะไปร้อง แต่รัฐสภามีหน้าที่กำหนดระยะเวลา โดยหารือกับทุกฝ่าย เพราะรัฐสภากำหนดเองไม่ได้ ถ้ารัฐบาลหรือฝ่ายอื่นไม่พร้อมหรือไม่ประสงค์จะเปิดประชุม ก็เป็นสิทธิ์ เนื่องจากผู้เสนอเปิดการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ คือฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ จึงอยู่ที่รัฐบาลว่าต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างไร 

"หากรัฐบาลเปลี่ยนใจ ไม่เร่งเสนอกฎหมาย ก็เป็นสิทธิ์ของรัฐบาล เราไม่มีปัญหาอะไร รัฐสภามีหน้าที่ดูแลนัดวันประชุมและกำหนดวาระให้ เพื่อให้เสร็จภารกิจเท่านั้น รัฐบาลได้แจ้งมายังรัฐสภาให้ยืนยันว่าติดปัญหาอย่างไร ซึ่งผมตอบไปแล้วว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะเป็นกฎหมายของรัฐบาลที่เป็นเรื่องด่วน"นายชวน กล่าว