ปรับปรุง 'สายพันธุ์กัญชง' อย่างไร? รับตลาดอาหารและเครื่องดื่ม

ปรับปรุง 'สายพันธุ์กัญชง' อย่างไร? รับตลาดอาหารและเครื่องดื่ม

ประเทศไทยมี "สายพันธุ์กัญชง" ที่ได้รับรองพันธุ์ เพียงแค่ 4 สายพันธุ์  คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 ทว่าทั้ง 4 สายพันธุ์ของไทยยังไม่มีสายพันธุ์ใดที่เหมาะสมที่จะปลูก เพื่อนำดอกกัญชง ไปผลิตสารสำคัญเพื่อใช้ในตลาดอาหารและเครื่องดื่ม

จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เปิดกว้างในนโยบาย “กัญชง “ สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ ศึกษาวิจัย และปรับปรุงสายพันธุ์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 นั้น  พบว่า ประเทศไทยมี "สายพันธุ์กัญชง" ที่ได้รับรองพันธุ์ เพียงแค่ 4 สายพันธุ์  คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 ซึ่งมีสาร THC ต่ำกว่า 0.3% (0.072- 0.270%) และมีปริมาณ CBD เฉลี่ย 0.824% (0.594 - 1.100 %) และมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยเฉลี่ย 13.9 % (12.9 – 14.7 %) สามารถเจริญเติบโตและในพื้นที่สูงที่มีแตกต่างกัน

ทว่าทั้ง 4 สายพันธุ์ของไทยยังไม่มีสายพันธุ์ใดที่เหมาะสมที่จะปลูก เพื่อนำดอกกัญชง ไปผลิตสารสำคัญเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม วันนี้ (16 มี.ค.2564) “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”ได้รับมอบทุนสนับสนุนงานวิจัย 10 ล้านบาท จากบริษัท หนองคายเพาเวอร์ดริ๊งก์ (เครื่องดื่มดับเบิ้ลซี) จำกัด บริษัท โกลกรีน เวลเนส กรุ๊ป จำกัด เพื่อดำเนินการงานวิจัย "กัญชง" และจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านกัญชงและสมุนไพร

  • มก.หนุน “กัญชง กัญชา กระท่อม”สู่แบรนด์สินค้าเกษตร

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “กัญชง กัญชา กระท่อม” ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมามีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับพืชเหล่านี้แต่ทำในวงแคบๆ นักวิจัยไม่ได้เปิดเผยมาก เนื่องจากมีข้อระเบียบ กฎหมายต่างๆ แต่ตอนนี้เมื่อทางรัฐบาลได้มีการปลดล็อก “กัญชง กัญชา กระท่อม” เป็นการเปิดโอกาสให้ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ นำสารสกัด “กัญชง กัญชา กระท่อม” มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพทั้งทางด้านการแพทย์ และเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทย

161588370250

ดร.จงรัก กล่าวต่อว่ามก.ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับพันธุ์พืชต่างๆ มากมาย และมีการสกัดนำมาใช้ รวมถึงมีเทคโนโลยี มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพืชจำนวนมาก  ขณะนี้ มก.ได้มีการสนับสนุนอาจารย์ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยในการศึกษาวิจัย พัฒนาสายพันธุ์ นำเทคโนโลยีมาใช้ มีการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในพื้นที่มก.วิทยาเขตสกลนคร

มก.มีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนส่งเสริม “กัญชง กัญชา กระท่อม” สู่ "แบรนด์สินค้าเกษตร" ซึ่งเป็นแบรนด์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ฉะนั้น การศึกษาวิจัย "กัญชง" จะเริ่มจากการปรับปรุง “สายพันธุ์กัญชง” และจะมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านกัญชงและสมุนไพร ที่จะมีบทบาททั้งการศึกษาวิจัย สารสกัด ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยและภาคธุรกิจ

  • ปรับปรุง “สายพันธุ์กัญชง”สู่ “ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม”

ประเทศไทยต้องเดินด้วยแบรนด์สินค้าการเกษตร เพราะเรามีพืชหลากหลายชนิด มีผลิตภัณฑ์ สินค้าการเกษตรจำนวนมาก  และเมื่อประเทศไทยเกิดจากแบรนด์การเกษตร เราจะไปผลิตรถยนต์และใช้แบรนด์รถยนต์แข่งขันคงไม่ได้  ต้องมีการพัฒนา ศึกษาวิจัย และนำนวัตกรรมมาใช้ให้เป็นสินค้าและบริการต่างๆ ให้แบรนด์การเกษตรเป็น 1 ในเขตร้อน ดร.จงรัก กล่าว

“กัญชง” ของประเทศไทยมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ที่ได้รับการรับรอง ซึ่ง RPF1, RPF2 เหมาะแก่การทำเส้นใย ส่วน  RPF3,RPF4 เหมาะแก่การทำเมล็ด ที่ผ่านมาเกษตรกร ได้มีการนำเส้นใยจาก “กัญชง” มาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหลัก นอกจากนั้น ทั้ง 4 สายพันธุ์ยังให้ CBD ในปริมาณที่น้อย เมื่อต้องพัฒนา “สายพันธุ์กัญชง” โจทย์แรกที่ต้องดำเนินการให้ได้ คือ การเพิ่มปริมาณCBD และต้องเหมาะกับการปลูกในพื้นที่ราบไม่เฉพาะเจาะจงต้องปลูกในพื้นที่ราบสูงเท่านั้น

ศ.ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว และหัวหน้านักวิจัยปรับปรุง “สายพันธุ์กัญชง” กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการปรับปรุง “สายพันธุ์กัญชง” มานาน ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชา ทั้งที่ในต่างประเทศมีการปรับปรุง “สายพันธุ์กัญชง” มากว่า 50 ปี 

161590138444

  • "โคลนนิ่ง-ใช้เทคนิครังสี" พัฒนาสายพันธุ์กัญชง

เมื่อปลดล็อก “กัญชง” ถือว่าก้าวกระโดดอย่างมาก  ทางคณะวิจัยจะนำ “กัญชง”จากอเมริกาและเนเธอแลนด์ ประมาณ 10 สายพันธุ์ มาปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ให้เหมาะกับภูมิอากาศ ภูมิประเทศของไทย เพราะ “สายพันธุ์กัญชง” ในต่างประเทศ จะเป็นต้นเตี้ยๆ เติบโตในภูมิอากาศที่หนาว  และในพื้นที่ต่างประเทศจะไม่มีแมลง แตกต่างจากพื้นที่ในประเทศไทย อากาศร้อน มีแมลงมาก

“นักวิจัยจะทำการโคลนนิ่งพันธุ์กัญชง เพื่อให้เกิดการขยายเมล็ดพันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยใช้กระบวนการทางวิจัย และหลังจากนั้นจะเลือกสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ เข้ากับรูปแบบการเกษตรของไทย เพื่อนำไปปลูกในช่วงพืชหลังนา อายุต้องสั้น ออกดอกเร็ว  และต้องมีCBD ที่สูงมากกว่า THC มากๆ  ซึ่งห้องปฎิบัติการกัญชง ตอนนี้กค้นพบว่าเป็นสายพันธุ์อะไรในต่างประเทศที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับที่ต้องการ” ศ.ดร. อภิชาติ กล่าว

นอกจาก นั้นมีการใช้เทคนิคการอาบรังสี ซึ่งเป็นเทคนิคที่เรามีความชำนาญ และได้ผลที่ดี อย่าง การทำข้าวสรรพสี การกระตุ้น(Induced mutation) โดยใช้กัมมันตภาพรังสี การใช้สารเคมีก่อการกลายพันธุ์ หรือ พันธุวิศวกรรม เป็นต้น ก็จะนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชง ในครั้งนี้ร่วมด้วย

  • แนะรัฐบาลลงทุนเทคโนโลยีพัฒนา "สายพันธุ์กัญชง"

การพัฒนา “สายพันธุ์กัญชง” ตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณ CBD สูงถึง 18% โดยเมื่อปลูกต้องทนแดด ทนแมลง  สามารถปลูกในพื้นที่ราบ พื้นที่หลังนาได้  และต้องมีการพัฒนาคุณสมบัติให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

“ศ.ดร.อภิชาติ” กล่าวต่อไปว่ามก.จะทำการศึกษาวิจัย และใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้เมล็ดสายพันธุ์กัญชง หลังจากนั้น บริษัท หนองคายเพาเวอร์ดริ๊งก์ (เครื่องดื่มดับเบิ้ลซี) จำกัด บริษัท โกลกรีน เวลเนส กรุ๊ป จำกัด จะนำไปปลูกในพื้นที่จ.หนองคาย ประมาณ 4,000 ไร่ โดยจะเป็นการปลูกแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง และมีการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมคุณภาพ โดยจะมีนักวิจัยของมก.เข้าไปติดตามกระบวนการปลูก เพื่อให้ได้ “กัญชง” ที่มีปริมาณCBD มากๆ นำไปสู่ "ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม" คาดว่าจะต้องใช้เวลา 1-3 ปี

161588375823

ศ.ดร.อภิชาติ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังขาดกำลังคน หรือนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญที่มีการทำงานเกี่ยวกับ “กัญชง กัญชา กระท่อม”  จึงเป็นสิ่งท้าท้ายของประเทศไทยอย่างมากที่ต้องเร่งผลิตบุคลากรด้านนี้ รวมถึงต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน  และรัฐบาลต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีพัฒนา "สายพันธุ์กัญชง" สายพันธุ์กัญชาและกระท่อมร่วมด้วย เพราะส่งเสริมการปลูกสายพันธุ์กัญชง เป็นสิ่งที่ดี แต่กัญชงที่ชาวบ้านปลูกตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นเส้นใย และมีCBD ปริมาณน้อย รวมทั้ง การปลูก “กัญชง กัญชา กระท่อม” ก็ต้องอยู่ในพื้นที่เหมาะสม ควบคุมคุณภาพมาตรฐาน หากต้องไปทำลายป่าเพื่อมาปลูกพืชล้มลุกเหล่านี้คงไม่เหมาะสม

“การปรับปรุงสายพันธุ์ ถือเป็นกระดุมเม็ดแรก สำคัญสุดของประเทศไทยในการจะทำให้กัญชง กัญชา กระท่อม  หากส่งเสริมการปลูกแต่ปลูกในสายพันธุ์ที่ไม่ได้ต้องการ ไม่มีสารสกัดในปริมาณที่มากพอ และไม่มีตลาด ไม่รู้ว่าปลูกแล้วจะทำอย่างไรต่อ ดูแลการปลูกอย่างไรให้ได้มาตรฐานคุณภาพ การจะนำกัญชง กัญชา กระท่อมมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม หรืออุตสาหกรรมอื่นๆแก่ประเทศอาจจะยาก ต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรและภาคธุรกิจร่วมด้วย” ศ.ดร.อภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง "กัญชากัญชง"ทางรอดวิสาหกิจชุมชนและร้านอาหาร

                       CP รุกธุรกิจกัญชง 'ธนินท์' นำทีมเซ็น MOU กับแม่โจ้พัฒนาสินค้า

                      เที่ยว 'ทัวร์กัญชา' อย่างไรให้เพลิน?

                      ส่งออก 'กัญชง' ปี 64 อย.ยังอนุญาตบริษัทเดียว