สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 8-12 มีนาคม 2564

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์  วันที่ 8-12 มีนาคม 2564

เงินบาทขยับอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยขึ้นตามตลาดต่างประเทศ แต่แรงหนุนจำกัดช่วงปลายสัปดาห์

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทขยับอ่อนค่า แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือนที่ 30.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ซึ่งมีแรงหนุนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งและหนุนเงินดอลลาร์ฯ

- ในวันศุกร์ (12 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.77 เทียบกับระดับ 30.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.50-30.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (16-17 มี.ค.) ทิศทางบอนด์ยีลด์ต่างประเทศ และประเด็นของเรื่องวัคซีนต้านโควิด 19 ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมี.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษ สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกเดือนก.พ.

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,568.19  จุด เพิ่มขึ้น 1.56% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 100,332.74 ล้านบาท ลดลง 0.74% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.97% มาปิดที่ 406.40 จุด

- หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ก่อนจะทยอยดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ชะลอตัวลง ประกอบกับมีแรงหนุนจากความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงในช่วงปลายสัปดาห์จากแรงขายทำกำไรหลังตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควรในระหว่างสัปดาห์ ประกอบกับมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,520 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (16-17 มี.ค.) ปัจจัยการเมืองในประเทศ รวมถึงสถานการณ์โควิด 19 ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน