เปิดทางตั้งกองทุนชดเชยงดทำนาปรัง

เปิดทางตั้งกองทุนชดเชยงดทำนาปรัง

ประวิตร”สั่งเกษตรหารือคลังตั้งกองทุนชดเชย หลังประกาศงดทำนาปรัง วงเงินประเดิม 1-2 พันล้านบาท

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง หารือถึงการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมตราการรัฐ อันเกิดจากน้ำท่วม น้ำแล้ง จนไม่สามารถทำการเพาะปลูก หรือทำอาชีพประจำได้  เพื่อให้มีกองทุนชดเชยรายได้ให้เกษตรกรเบื้องต้นไม่ควรต่ำกว่า 1,113 บาท/ไร่/รายซึ่งชดเชยตามทะเบียนเกษตรกรที่มี

เบื้องต้นกระทรวงการคลัง โดยสำนักงบประมาณเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว การตั้งกองทุนดูแลเกษตรกรที่เสียหายจากคำสั่งรัฐ สามารถทำได้ เพราะกระทรวงเกษตร มีกองทุนกองทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน ที่ได้จากการเก็บค่าน้ำของภาคอุตสาหกรรม และการประปาในอัตรา ลูกบาศก์เมตรละ 0.50 บาท ซึ่งเก็บได้ปีละประมาณ 700-800 ล้านบาท และ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลก็มีรายได้จำนวนไม่น้อย รายได้ดังกล่าวเดิมส่งคืนคลัง แต่หลังจากนี้ควรนำมาช่วยเหลือเกษตรกร

กองทุนดังกล่าวรัฐบาลอาจต้องมีทุนประเดิมให้ประมาณ 1-2 พันล้านบาท เพราะ น้ำท่วม น้ำแล้งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กระทรวงเกษตรฯ ส่งสัญญาณให้เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาต้องงดปลูกข้าว แต่ไม่มีเมนูอาชีพให้ชาวนาเลือกที่หลากหลาย ควรมีทางเลือกกรณีที่หากประกาศให้ชาวนาหยุดทำนา โดยชาวนาไม่มีอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเอง ควรควรมีทางเลือกให้ได้รับเงินชดเชย ซึ่งอัตราค่าชดเชยกรณีเกิดภัยพิบัติที่ 1,113 บาท/ไร่ นั้นถือว่าเป็นขั้นต่ำ หากรัฐบาลพิจารณาตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ต้นทุน ราคาข้าว ชาวนาควรได้รับชดเชยที่สูงกว่าอัตราชดเชยภัยพิบัติในปัจจุบัน”

โดย ภายใน มี.ค. นี้จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้น้ำเพื่อภาคการเกษตร ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัจจุบันที่เกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น หน่วยงานภาครัฐจะใช้วิธีขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดทำนาปรัง  โดยอ้างว่าเป็นกลุ่มที่ใช้น้ำมาก และต้องกันน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ซึ่งในจำนวนน้ำที่กันไว้ใช้นี้ส่วนหนึ่งมีภาคอุตสาหกรรมรวมอยู่ด้วย

                แต่ภายหลังจากที่งดทำนาปรังแล้ว สทนช.เห็นว่าชาวนาเหล่าควรได้รับการชดเชย ปัจจุบันตามกฎหมายของทั้ง กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรได้ แต่ ที่ผ่านมาไม่นำมาปฏิบัติ ส่งผลให้การขอความร่วมมือให้งดทำนา ไม่ได้ผล ดังนั้นเมื่อตั้งกำเกณฑ์การแก้ไขปัญหาการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรได้ ก็สามารถกำหนดบทลงโทษได้เช่นกัน ในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืน ซึ่งมีอยู่แล้วตามพรบ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

เมื่อมีการชดเชยรายได้จากการประกอบอาชีพไม่ได้ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ.2561 จึงกำหนดบทลงโทษไว้ด้วยหากเกษตรกรไม่ปฏิบัติตาม หรือมีการฝ่าฝืน แล้งลักลอบสูบน้ำซึ่งทางการกันไว้เพื่อใช้ในกิจกรรมอื่น ผู้ที่กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 85  กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตร 6 วรรค 3  ซึ่งตามพรบ.ฉบับนี้จะออกกฎหมายลำดับรอง หรือกฎกระทรวงมารองรับอีกครั้งหนึ่ง

                สำหรับการประกาศการให้ใช้น้ำในแต่ละปี จะเป็นหน้าที่ของกรมชลประทาน ซึ่งจะวิเคราะห์ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บได้ในแต่ละปี ปรับแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมกับทุกฝ่าย  และต้องประกาศให้ชัดเจนถึงแผนบริหารจัดการน้ำจากปัจจุบันแม้จะประกาศไปแล้วแต่ ยังลอยๆ ไม่สามารถระบุให้ลงลึกว่าควรจะงดทำนาในบริเวณใดบ้าง  ส่งผลให้ยังเห็นการทำนาปรังเกินแผนอยู่ทุกปี

รายงานจากกรมชลประทาน พบว่าการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2563/64 ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 1.90 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 5.225 ล้านไร่ แยกเป็น เพาะปลูกในแผน 1.424 ล้านไร่ เพาะปลูกเกินแผน 0.437 ล้านไร่และเพาะปลูกนอกแผน 3.364 ล้านไร่