ไทม์ไลน์ 'แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ' ทางนี้ ยังอีก 'ไกล'

ไทม์ไลน์ 'แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ' ทางนี้ ยังอีก 'ไกล'

หลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเป็นแนวทาง ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องถามประชาชนก่อน เค้าลางของ "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ที่อยากให้ประชาชนเป็นผู้ยกร่างนั้น ส่อแววถูกลากยาว ดีไม่ดี ส่อแววแท้ง

หลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากต่อคำร้องให้วินิจฉัยในอำนาจของรัฐสภา ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ 
ที่สรุปสาระสำคัญได้ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก่อนแก้ ต้องถามความต้องการของประชาชน ผ่านการออกเสียงประชามติ ว่าต้องการให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?"
ทำให้เส้นทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ “ฝ่ายค้าน” เคยกำหนดไว้ว่า ภายใน 2 ปี ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องถูกยืดเวลาออกไปอีก
อย่างน้อย 4 - 5 เดือน เนื่องจากมีกระบวนการตามแนวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพิ่มเข้ามา
เพราะการจัดทำประชามติ ต้องใช้เวลา ตามที่กำหนดไว้ ตามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ที่กรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว และรอการพิจารณาวาระสอง และวาระสาม ในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ 
กำหนดไว้ใน มาตรา 10 ว่า เมื่อมีกรณีต้องทำประชามติ ให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติ ในวันที่ได้หารือกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน จากนั้นให้ครม. ส่งเรื่องให้ กกต. ดำเนินการตามห้วงเวลาที่หารือกัน
และก่อนที่จะทำขั้นตอนนั้นได้ ต้องรอให้ พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เสียก่อน แน่นอนว่า ไม่มีใครที่กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนนั้นได้
ดังนั้นหาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเดินตามแนวที่ศาลรัฐธรรมนูญบอก คือ ต้องทิ้งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่รอการลงมติวาระสาม ไปก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำประชามติเสียก่อน
แต่ระยะเวลาใดที่จะดำเนินการนั้น เป็นขั้นตอนที่รัฐสภาต้องริเริ่ม ส่งไปยัง ครม. ให้มีมติและมอบให้ กกต.​ดำเนินการ ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ดี ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำได้หรือไม่ เป็นไปตามกรอบเวลาที่คาดการณ์ หรือมีกติกาอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับผลประชามติ และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขอีกครั้ง
หากย้อนดูเส้นทางเก่า ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ผ่านวาระสอง ของรัฐสภา แล้วจะพบว่า มีระยะเวลารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1 ปี 7 เดือน 
เริ่มต้นคือ 1. การเลือกตั้ง ส.ส.ร. หลังจากที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้แล้ว  ต้องเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ทั้งนี้มีข้อกำหนดให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ภายใน 30วัน 
กำหนดให้ กกต. ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ร. ภายใน 15 วันนับจากวันเลือกตั้งแล้วเสร็จ จากนั้นภายใน 5 วันให้ส่งรายชื่อถึงประธานรัฐสภา เพื่อประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา และจากนั้นภายใน 30 วันต้องจัดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก
ต่อไปคือ 2. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด ระยะเวลาให้ส.ส.ร. จัดทำให้เสร็จภายใน 240 วัน
จากนั้นให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่งให้ รัฐสภา อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยไม่ลงมติ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และเมื่อเสร็จสิ้นให้ ภายใน 7 วัน ต้องส่งเนื้อหาไปยัง กกต. เพื่อจัดทำประชามติ
ส่วนระยะเวลาทำประชามตินั้น ตามมาตรา 10 ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ที่กำหนดกรอบ ไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน
เมื่อทำประชามติแล้วเสร็จ  ให้กกต.ประกาศผลการออกเสียง ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน 
หากผลประชามติเห็นชอบด้วย ให้ประธานรับสภานำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ถวาย และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ สิ่งที่ไม่แน่นอน มีความแน่นอนที่สุดคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำได้ยากยิ่ง ทั้งต้องใช้เวลา และงบประมาณมหาศาล และอาจถึงขั้น แก้ทั้งฉบับไม่ได้เลย.