รู้จัก 6 ผู้หญิงแห่งโลก

รู้จัก 6 ผู้หญิงแห่งโลก

ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นปีที่ความเป็นไปในโลกถูกกำหนดโดยโควิด-19 การเมืองดำเนินไปเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาด แต่ในเวลาเดียวกันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่น่าเกิดขึ้น กรุงเทพธุรกิจเลือกผู้หญิงแห่งโลก 6 คนที่ผงาดขึ้นมาในปีแห่งความทรงจำนี้

1. ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินแห่งไต้หวัน

แม้มีชายแดนติดกับจีน แต่ไต้หวันรับมือโควิด-19 ตั้งแต่เนิ่นๆจึงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2563 ของไต้หวันโตแซงหน้าจีนในรอบ 30 ปี ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ไต้หวันขยายตัว 2.98% มากกว่าจีดีพีจีนที่ขยายตัว 2.3% โดยเฉพาะไตรมาส 4 ของปี 63 ที่จีดีพีขยายตัว 4.94% เป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจเติบโตดีที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ม.ค. สาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พ.ค. โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประธานาธิบดีไช่ เผยแพร่บทความที่เธอเขียนเองว่า ไต้หวันไม่ได้ประสบความสำเร็จจากการรับมือโควิด-19 ด้วยความบังเอิญ หรือโชคช่วย แต่เกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งด้านการแพทย์ ทั้งรัฐบาล ทั้งภาคเอกชน และภาคสังคม ต่างร่วมมือร่วมใจในการสู้กับโรคระบาดครั้งนี้ บทเรียนจากความเจ็บปวดที่ได้รับเมื่อครั้งเกิดโรคซาร์สระบาดในปี 2546 ทำให้ไต้หวันหวาดกลัว และพยายามตื่นตัวจากภัยคุกคามเหล่านี้ตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาดในช่วงระยะแรก ๆ

อย่างไรก็ตาม ไต้หวันภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีไช่ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ต้องเผชิญหน้ากับจีนที่มุ่งจะบั่นทอนความพยายามของไต้หวันในการเรียกร้องการยอมรับจากนานาชาติ

2. นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์นแห่งนิวซีแลนด์

เป็นผู้นำหญิงอีกคนหนึ่งที่ชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในปีที่โควิดระบาด ตลอดเวลาในตำแหน่งผู้นำ หัวหน้าพรรคแรงงานรายนี้ได้รับเสียงชื่นชมมาตลอดเรื่องความสามารถในการจัดการวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นเหตุกราดยิงในมัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ชมีผู้เสียชีวิต 51 คน วิกฤตภูเขาไฟระเบิดในเกาะไวท์ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงวิกฤติโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ อาร์เดิร์นสั่งล็อกดาวน์ประเทศอย่างเข้มงวดรวดเร็ว ลดเงินเดือนตัวเองและคณะรัฐมนตรี 20% เป็นเวลา 6 เดือน เลื่อนการเลือกตั้งไป1 เดือนด้วยหวังให้โรคระบาดเบาบางลง ประชาชนเกิดความมั่นใจออกมาใช้สิทธิกันมากขึ้น

ความสำเร็จเห็นชัดในวันที่ 6 ก.พ. นายกฯ อาร์เดิร์น ไลฟ์เฟซบุ๊คบรรยากาศการฉลองวันชาติที่ใครๆ พากันอิจฉา เมื่อนายกฯ คณะรัฐมนตรี และ ส.ส.ร่วมปาร์ตี้บาร์บีคิว ทุกคนพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง จากนั้นนิวซีแลนด์ฉีดวัคซีนชุดแรกเมื่อวันที่ 20 ก.พ. เริ่มจากเจ้าหน้าที่ศูนย์กักกันโรค และหน่วยตรวจคนเข้าเมือง

3. รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ของสหรัฐ

แฮร์ริส ลูกครึ่งอินเดีย-จาเมกา สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองสหรัฐ ด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกและคนผิวสีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรก ที่ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ

ในช่วงที่โควิดระบาดและสหรัฐเป็นประเทศที่เสียหายหนักที่สุดในโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต และอาจเป็นเพราะโควิดพบครั้งแรกในจีนกระแสความเกลียดชังชาวเอชียจึงเกิดขึ้นในสหรัฐ อย่างกรณีนายวิชา รัตนภักดี ชายไทยวัย 84 ปี ที่มาเยี่ยมลูกและหลานที่อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโกถูกวัยรุ่นอายุ 19 ปีผลักอย่างแรงจนล้มลงและเสียชีวิต

รองประธานาธิบดีแฮร์ริสประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ซึ่งเป็นวันตรุษจีน

เดินหน้าต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติในสังคมอเมริกัน หลังเกิดเหตุโจมตีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียบ่อยครั้งบนแผ่นดินสหรัฐ

“เราต้องเดินหน้าต่อสู้กับลัทธิเหยียดเชื้อชาติและเลือกปฏิบัติในสังคมอเมริกัน”รองประธานาธิบดีสหรัฐกล่าว

4. จง ฮุ่ยเจวียน เศรษฐีนีจีนอันดับ 1

จง ฮุ่ยเจวียน ผู้ก่อตั้งบริษัทยาฮันโซห์ ฟาร์มาซูติคอลกรุ๊ป เป็นผู้หญิงที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเองจนมั่งคั่งติดอันดับ 1 ของจีนในรายงานความมั่งคั่งโลกของฮูรุนรีพอร์ทที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อน สินทรัพย์สุทธิ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์

จง เกิดเมื่อปี 2504 จบการศึกษาด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยเจียงซูนอร์มอล และเป็นครูสอนเคมีในโรงเรียนมัธยมในเมืองเหลียนหยุนกัง มณฑลเจียงซู

ปี 2538 จงลาออกจากอาชีพครูแล้วมาตั้งบริษัทเจียงซูฮันโซห์ ฟาร์มาซูคอลมีพนักงานแค่ 10 คน บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วสองปีถัดมาทำรายได้ถึง 4.5 ล้านดอลลาร์

ฮันโซห์ระดมทุน 1 พันล้านดอลลาร์ จากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อปี 2562 ส่งผลมูลค่าตลาดสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์

หลังหุ้นฮันโซห์ซื้อขายในตลาดวันแรก จงกลายเป็นผู้หญิงสร้างเนื้อสร้างตัวเองที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียทันทีด้วยสินทรัพย์ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ แซงหน้าสามี “ซุน เปียวหยาง” ที่ทำธุรกิจยาเช่นเดียวกัน บริษัทเจียงซูเฮิ่งหรุย เมดิซีนของซุนจดทะเบียนในตลาดเซี่ยงไฮ้ ตัวเขาเองมั่งคั่งสุทธิ 9.4 พันล้านดอลลาร์

ปัจจุบันจงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นประธานฮันโซห์ที่วิจัยและพัฒนายารักษาโรคระบบประสาทส่วนกลาง มะเร็ง โรคติดเชื้อ เบาหวาน โรคระบบทางเดินอาหาร และหลอดเลือดหัวใจ

5. อลิซ วอลตัน ผู้หญิงรวยที่สุดในโลก

อลิซ วอลตัน เป็นลูกสาวของแซม วอลตัน ผู้ก่อตั้งวอลมาร์ท เครือธุรกิจค้าปลีกใหญ่สุดของโลก หลังจบการศึกษาจากทรินิตีคอลเลจในปี 2514 อลิซ วอลตันเข้าทำงานที่วอลมาร์ทในตำแหน่งพนักงานขายเสื้อผ้าเด็ก แต่ทำได้ไม่นานเธอก็เปลี่ยนไปทำงานสายการเงินเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์และผู้จัดการการเงิน แล้วอยู่ในสายการเงินมาตลอด

วอลตันยังเป็นนักสะสมงานศิลปะมาตั้งแต่เยาว์วัย แต่มาสะสมจริงจังในทศวรรษ 70 ส่วนใหญ่เป็นงานภาพวาดสีน้ำของศิลปินอเมริกัน

ภายในทศวรรษ 90 เธอสะสมจริงจังมากขึ้น 10 ปีต่อมาเธอทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์เก็บงานมาสเตอร์พีซอันทรงคุณค่า ความหลงใหลนี้กลายมาเป็นอาชีพหลักของวอลตัน เธอใช้เวลา 4 ปี ตั้งบริษัทใหม่ชื่อ “คริสตัลบริดจ์ส มิวเซียมออฟอเมริกันอาร์ต” เปิดตัวเมื่อปี 2554 ที่บ้านเกิดของเธอในเมืองเบนตันวิลล์ รัฐอาร์คันซอ โดยวอลตันนั่งเป็นประธานคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ ทั้งยังตั้ง “อาร์ตบริดจ์ส” องค์กรไม่หวังผลกำไรขึ้นในปี 2560 เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงงานศิลปะอเมริกันง่ายขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นวอลตันยังร่วมบริหารวอลตันเอนเตอร์ไพรซ์ธุรกิจครอบครัวที่ดูแลหุ้นครอบครัววอลตันในวอลมาร์ทด้วย

6. อองซาน ซูจี ผู้นำหญิงที่ถูกรัฐประหาร

อองซาน ซูจี วัย 75 ปีลูกสาววีรบุรุษกู้ชาติ “อองซาน” ที่ถูกลอบสังหารตั้งแต่ซูจีอายุได้เพียง 2 ขวบ

ชีวิตช่วงต้นของซูจียังไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เธอเติบโตมากับแม่ผู้เป็นนักการทูต จากนั้นก็แต่งงานกับชาวอังกฤษ แต่ชะตาชีวิตของเธอพลิกผันไปพร้อมๆ กับชะตากรรมของเมียนมา

ปี 2531 ซูจีในวัย 43 ปีกลับเมียนมาเพื่อมาเยี่ยมแม่ ในช่วงที่นักศึกษาและประชาชนเมียนมาลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย ซูจีปราศรัยกับสาธารณชนครั้งแรกในวันที่ 15 ส.ค. หนึ่งสัปดาห์หลังรัฐบาลเมียนมาใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงใน “เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 (ค.ศ. 1988)”

ซูจีก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ในวันที่ 24 ก.ย. แล้วชีวิตของเธอก็หนีไม่พ้นการเมืองมาตั้งแต่นั้น ถูกกักบริเวณแล้วปล่อยตัวเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยมา

ปี 2534 ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่เธอไม่อาจเดินทางไปรับรางวัลด้วยตนเองได้ ต้องให้ลูกชาย 2 คนไปรับแทน

ปี 2554 เมียนมาเริ่มปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเสรีในปี 2558 ที่พรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่ทหารร่างซ่อนกลกีดกันไม่ให้ซูจีได้เป็นประธานาธิบดี เธอก็แก้เกมด้วยการดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ”ในฐานะผู้นำตัวจริงของเมียนมา

ระหว่างที่เป็นรัฐบาลวิกฤติชาวโรฮิงญาและการจัดการของรัฐบาลเมียนมา ส่งผลให้ซูจีถูกตั้งคำถามและถูกประฌามถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนทำให้เธอถูกยึดรางวัลด้านเสรีภาพที่เคยได้รับจากองค์กรต่าง ๆ ถึง 7 รางวัล

กระนั้น การเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2563 พรรคเอ็นแอลดียังชนะด้วยคะแนนท่วมท้นเสียยิ่งกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน เบียดพรรคยูเอสดีพีของทหารจนแทบไม่มีที่ยืนตอกย้ำว่า แม้ประชาคมโลกประณามแต่คนเมียนมายังต้อนรับเธอ

และแล้วคำครหาจากประชาคมโลกต่อซูจีก็เงียบหายไปเปลี่ยนเป็นเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอและพวกแทน เมื่อทหารเมียนมารัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.โดยอ้างว่าพรรคเอ็นแอลดีโกงเลือกตั้ง ทหารจับกุมตัวซูจี สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี และประชาชนหลากหลายสาขารวมแล้วหลายร้อยคน ซูจีผู้ด่างพร้อยด้วยวิกฤติโรฮิงญากลับมาเป็นวีรสตรีประชาธิปไตยอีกครั้งเพราะการรัฐประหารของนายพลมิน อ่องหล่าย