EEC กับการเชื่อมโลก สู่บทบาทศูนย์กลางภูมิภาค

EEC กับการเชื่อมโลก  สู่บทบาทศูนย์กลางภูมิภาค

จุดขายที่ EEC ใช้ในการสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุนทั่วโลกอย่างหนึ่งก็คือ การทำให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน

จุดขายที่ EEC ใช้ในการสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุนทั่วโลกอย่างหนึ่งก็คือ การทำให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งนอกจากทำเลที่ตั้งโดยธรรมชาติแล้วก็ได้สร้างโครงการด้านโลจิสติกส์จำนวนมากในการเชื่อมพื้นที่ของ EEC กับพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จำนวนมาก 

เราเคยมองไกลถึงการเชื่อมทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับพื้นที่ Greater bay area ที่มีฮ่องกง มณฑลกวางตุ้ง และมาเก๊าของจีนที่มีประชากรกว่า 70 ล้านคน GDP มากกว่าไทยกว่า 3 เท่า

แต่วันนี้ต้องชื่นใจขึ้นมานิดนึงเมื่อ ภาพของวิสัยทัศน์ของการเชื่อมพื้นที่นี้กับภูมิภาคอินโดจีนได้เริ่มสานต่อให้ชัดขึ้นอีกระดับหนึ่งเมื่อคณะกรรมการนโยบาย EEC ดำริขึ้นมาสองโครงการ คือ โครงการ Land bridge ที่จะเชื่อมภาคตะวันตกของไทยหรือฝั่งอันดามันเข้ากับอ่าวไทย ทำให้ EEC มีประตูสู่ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย และอีกโครงการหนึ่งคือ Dry Port เพื่อเชื่อมกับเศรษฐกิจอินโดจีนทาง สปป. ไปถึงภาคใต้ของจีนเข้ากับ EEC ที่มีปลายทางสำคัญในไทยคือที่แหลมฉบัง

เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะโครงการนี้ก็มีการผลักดันและอนุมัติตั้งแต่การประชุม ครม. สัญจรเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2561 ซึ่งเป็นข้อเสนอจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)และหอการค้าจังหวัดทั้ง 10 จังหวัดภาคใต้ แม้ว่าจะใช้เวลาตั้งหลักช้าไปนิด แต่ก็ดีครับที่ไม่ลืมไปเลย และตอนนี้กำลังว่าจ้างการศึกษาและออกแบบคาดว่าจะเสร็จในปี 2565 ส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านระบบโลจิสติกส์กับนานาชาติ         

โครงการ Dry Port นี้ ดู ๆ แล้วอาจเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนที่ลงทุนในประเทศลาวเท่านั้น โดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะในนาเตย สปป. ลาว และเราก็ทราบดีว่าประเทศลาวเป็นดินแดนที่ไม่มีทางออกทะเล แต่เพื่อโครงการนี้ผมว่าถ้าจะให้ดีและมี impact มาก ๆ กับประเทศไทยและ EEC ผมอยากให้มองการพัฒนา dry port ที่เราเคยมีแนวคิดไว้เดิมในหลายแห่งตามเส้นทางนี้ตามชายแดน อาทิเช่น มุกดาหารหรือหนองคาย เข้ากับโครงการใหม่นี้ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟที่ตอนนี้ขนาดรางของเรากับเพื่อนบ้านก็ไม่เท่ากัน การทำคลังสินค้าปลอดภาษีหรือทัณฑ์บน หรืออื่น ๆ ที่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่เคยคิดจะทำไว้ในหลายแห่ง ซึ่งการรถไฟก็ดูคึกคักในตอนแรก ๆ แต่ตอนนี้เงียบกริบเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน ผมยังอยากเห็นโครงการนี้จุดประกายการสนับสนุการเชื่อมโยงของไทยกับภาคใต้ของจีนได้สมบรูณ์กว่านี้ เพราะสินค้าจากจีนมาไทยและจากไทยไปจีนผ่านด่านในภาคอีสานมีจำนวนมหาศาลและอาจเป็นตัวจุดประกายของการพัฒนาภูมิภาคนี้ในบริบทอื่น ๆ ตามมา

โครงการนี้ แม้ว่าจะเป็นจะเป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ แต่เป็นโครงการที่ EEC ใช้ขยายความมีเสน่ห์และความน่าสนใจให้กับนักลงทุนที่จะมาลง EEC มากขึ้น เพราะทำให้การลงทุนในพื้นที่นี้เชื่อมกับภูมิภาคต่าง ๆ ได้กว้างกว่าเดิม และที่สำคัญประเทศไทยสามารถใช้โครงการนี้เป็นตัวเชื่อมการพัฒนาภูมิภาคทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ซึ่งภาคเอกชนทั้งสองภูมิภาคอยากให้พื้นที่ของตนเองเป็นระเบียงเศรษฐกิจเช่นเดียวกับ EEC  แต่ผู้บริหารก็เอาหูทวนลม ไม่ใช่ไม่อยากได้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่อยากจะแบ่งพลัง ทรัพยากร และความสนใจของนักลงทุนไปภาคอื่น ๆ อยากทุ่มกำลังและโฟกัสทุกอย่างไปที่ EEC อย่างเดียวก่อน เพื่อให้มีพลังมากที่สุดในการชักจูงการลงทุนและการพัฒนา แต่ก็พยายามมีโครงการต่าง ๆ เพื่อที่จะเชื่อมโยง SEC และภาคอีสานให้เป็นพลังเสริมผ่านโครงการต่าง ๆ ไปยัง EEC ก่อน ซึ่งผมก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดี เด๋ยวไม่งั้นไม่เป็นโล้เป็นพายไปหมด

อย่าให้นักการเมืองหรือใครก็ตามมายกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นประโยชน์ของพรรคพวกในภายหลังนะครับ หวั่น ๆ เหมือนกันครับ เพราะเห็นมาเยอะ