'หนี้เสียพุ่ง'วิกฤตแบงก์ฟิลิปปินส์

'หนี้เสียพุ่ง'วิกฤตแบงก์ฟิลิปปินส์

'หนี้เสียพุ่ง'วิกฤตแบงก์ฟิลิปปินส์ ขณะที่อุตสาหกรรมธนาคารในอาเซียนเจอปัญหาคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรแย่ลงจากการระบาดของโรคโควิด-19

เว็บไซต์นิกเคอิ นำเสนอรายงานประเด็นปัญหาหนี้เสียของอุตสาหกรรมธนาคารฟิลิปปินส์ที่รุนแรงระดับวิกฤต โดยระบุว่า ขณะนี้ภาคธนาคารแดนตากาล็อกแบกรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)สูงกว่าธนาคารในประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ด้วยกัน ในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้บรรดาธนาคารต้องเผชิญหน้ากับคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรย่ำแย่ลง

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า เอ็นพีแอลที่เกิดจากการปล่อยกู้ในอาเซียนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19ในภูมิภาคส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี)รวมทั้งบุคคลทั่วไป

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียได้รวบรวมผลกำไรในปี2563ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียน 16 แห่งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย โดยกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ 19,400ล้านดอลลาร์ ลดลง 34% จากปี 2562 และเป็นการทำกำไรได้ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 โดยเอ็นพีแอลโดยรวมของ16แบงก์เพิ่มขึ้น 17% เป็น 39,600 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบทศวรรษ

บรรดานักวิเคราะห์เตือนว่า ขณะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนเริ่มฟื้นตัว ปัญหาหนี้เสียในภูมิภาคจะรุนแรงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลประเทศต่างๆเริ่มยุติให้การสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงแก่อุตสาหกรรมธนาคาร ประกอบกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำระยะยาวและปัญหาความท้าทายจากอุตสาหกรรมฟินเทคที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนแก่อุตสาหกรรมการเงิน ทำให้อุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารต้องเร่งปรับตัว

ในบรรดา 16 แบงก์ แบงก์ที่มีปัญหาหนี้เสียมากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรมธนาคารของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะสองแบงก์อย่าง บีดีโอ ยูนิแบงก์ และโมโทรโพลิแทน แบงก์ แอนด์ ทรัสต์ โค ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้น 120% ในปี2563 ขณะที่การขยายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์หดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 9.5% เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าหดตัวรุนแรงที่สุดในกลุ่ม5ประเทศอาเซียน และทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีหลายพันแห่งต้องปิดกิจการ

บีดีโอ ยูนิแบงก์ ธนาคารใหญ่สุดของฟิลิปปินส์ในแง่ของมูลค่สินทรัพย์ ระบุว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลจะยานขึ้นเป็น 2.65% เมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าของสัดส่วน 1.20%เมื่อปี 2562 ซึ่งการที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการปล่อยกู้ให้ผู้บริโภค ทั้งในรูปแบบการปล่อยกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและการปล่อยกู้เพื่อซื้อรถยนต์

ขณะที่บรรดาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19พากันผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจการบริการ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องและธุรกิจเอสเอ็มอี

บรรดาธนาคารรายใหญ่ของไทย ยอมรับว่าบรรยากาศทางธุรกิจย่ำแย่ลงเพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19และเมื่อปีที่แล้ว ธนาคารชั้นนำสามในสี่แห่งมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น สัดส่วนเอ็นพีแอลของธนาคารนับจนถึงเดือนธ.ค.ก็เพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับตั้งแต่ 3.68% -3.93%

ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของไทยลดลง 6.1% ในปี2563 ธุรกิจมากมาย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและส่งออกบอบช้ำมากที่สุด บั่นทอนความสามารถในการทำกำไรของธนาคารและหนุนให้หนี้เสียจากธุรกิจเหล่านี้เพิ่มขึ้น

ในอินโดนีเซีย ซึ่งเศรษฐกิจหดตัว 2.07% ในปีที่แล้ว เอ็นพีแอลของธนาคารชั้นนำ 4 แห่งเพิ่มขึ้น 33% จากปีก่อนหน้า ส่วนธนาคารเนการา ซึ่งเป็นธนาคารรัฐบาลและใหญ่สุดอันดับ4ในแง่ของมูลค่าสินทรัพย์มีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4.2% เมื่อปีที่แล้วจาก 2.33% ในปี 2562

นอกจากนี้ หนี้เสียของทุกภาคอุตสาหกรรมในอินโดนีเซียปรับตัวเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีสัดส่วน 33% เพิ่มขึ้น 132% ส่วนเทรดเดอร์ ร้านอาหารและโรงแรมที่มีสัดส่วน 28% มีหนี้เสียเพิ่ม 151%

ขณะที่ธนาคารดีบีเอส โฮลดิงส์ โอเวอร์ซี ไชนีส แบงก์กิง คอร์ป และยูไนเต็ด โอเวอร์ซี แบงก์ แบกรับหนี้เสียในสัดส่วน1.5% -1.6% นับจนถึงปลายปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2562

ส่วนมาเลเซีย มีการบริหารจัดการหนี้เสียได้ดีกว่าชาติอื่นๆ โดยปริมาณหนี้เสียโดยรวมของธนาคารชั้นนำสามแห่งร่วงลง 1.5% จากปีก่อนหน้านี้ มาลายัน แบงก์กิงหรือ เมย์แบงก์รายงานสัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.23% นับจนถึงเดือนธ.ค.เทียบกับ 2.65% ในปีก่อนหน้า

"สัดส่วนเอ็นพีแอลสำหรับธนาคารต่างๆใน5ประเทศอาเซียนอยู่ระหว่าง 0.36% และ 4.2% แต่ภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่สำคัญนั่นคือคุณภาพสินทรัพย์จะลดลงในปีนี้ หากว่ารัฐบาลแต่ละประเทศไม่เร่งเปิดเศรษฐกิจ ทั้งยังมีความเสี่ยงว่าจะมีการล็อกดาวน์ยาวนานกว่าที่คิดในหลายประเทศของภูมิภาค มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายพันธุ์มากขึ้นและการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนที่ล่าช้าออกไปในบางประเทศ

นอกจากความเสี่ยงด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19แล้ว อุตสาหกรรมธนาคารของอาเซียนยังเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านต่างๆ รวมทั้ง คู่แข่งหน้าใหม่ อย่างเช่นบรรดาผู้เล่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีรายใหญ่สุดของอาเซียนอย่าง ซี และ แกร๊บ ที่คาดว่าจะเปิดตัวการบริการธนาคารดิจิทัลในต้นปีหน้าและเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมธนาคารของภูมิภาค