มาตรการห้ามเดินทางยุคโควิดดันราคาอาหารโลกพุ่งสูงสุด

มาตรการห้ามเดินทางยุคโควิดดันราคาอาหารโลกพุ่งสูงสุด

มาตรการคุมเข้มในรูปแบบต่างๆเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการห้ามเดินทางจุดชนวนให้ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวขึ้น เนื่องจากข้อห้ามด้านการเดินทางทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรส่งผลให้ดัชนีราคาอาหารสำคัญๆพุ่งสูงสุด

ราคาอาหารทั่วโลกกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19ทำให้แรงงานในภาคการเกษตรในฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลจากประเทศหนึ่งเข้าไปค้าแรงงานในอีกประเทศหนึ่งไม่ได้ โดยการจ้างงานในภาคการเกษตรในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.ปี2563 ลดลง 5.4% ถือเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งสองปัจจัยนี้ดันให้ดัชนีราคาอาหารโลกทะยานสูงสุดในรอบ 6 ปี

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ) ระบุว่า ดัชนีราคาอาหารโลกเดือนม.ค.อยู่ที่ 113.3 เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2557 เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยราคาเมล็ดพันธุ์พืชปรับตัวขึ้น 24% ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี 8เดือน ส่วนราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น 8% และราคาผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น 7%

หนึ่งในหลายปัจจัยที่ดันราคาอาหารโลกทะยานคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึง การที่ฝนตกหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งในอเมริกาใต้ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตร ส่วนการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายของแรงงานอพยพที่ต้องการเข้าไปรับจ้างในภาคการเกษตรในต่างประเทศ

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี)ระบุว่า แรงงานต่างชาติในภาคการเกษตรมีประมาณ 17 ล้านคน มากกว่าจำนวนประชากรในภาคการเกษตรภายในประเทศในประเทศก้าวหน้าที่มีอยู่ 13ล้านคน

แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทำให้การจ้างงานในภาคการเกษตรลดลง 490,000 ตำแหน่งในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้วในญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป ซึ่งตัวเลขนี้มากกว่าตัวเลขที่ลดลงในอุตสาหกรรมการผลิตที่ 3.4% และอุตสาหกรรมภาคบริการซึ่งลดลง 4%

มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า ในฝรั่่งเศส ประมาณ 80% ของแรงงานในภาคการเกษตรเป็นแรงงานอพยพ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง และนับจนถึงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา มี 101ประเทศที่ยังคงห้ามต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ทำให้บรรดาเกษตรกรไม่สามารถว่าจ้างแรงงานต่างชาติให้เข้าไปทำงานที่ฟาร์มของตัวเองได้

ขณะที่รายงานว่าด้วยอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรสหรัฐคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวโพดในตลาดโลกสำหรับปีการตลาด 2563/2564 อยู่ที่ 1,134.05 ล้านตัน ปรับลดลงประมาณ 4.4% จากการคาดการณ์ล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ราคาอาหารโลกอยู่ในช่วงขาขึ้่น โดยสถิติจากศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ(ไอทีซี)ระบุว่า การค้าในผลิตภัณฑ์อาหารมีมูลค่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562เพิ่มขึ้น 50% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การเติบโตของประชากรในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น และหนึ่งในนั้นคือจีนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าเกษตรรายใหญ่ในตลาดโลก

ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าก็พึ่งพาการนำเข้าอาหารมากขึ้นเพราะผลพวงของกระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้สถานการณ์ราคาอาหารทะยานมากขึ้น โดยมูลค่านำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารในญี่ปุ่น สหรัฐและยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในปี 2560 เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2544

ส่วนข้อมูลจากไอแอลโอ ระบุว่า ในบรรดา 68 ประเทศราคาอาหารสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมใน 62 ประเทศในเดือนมิ.ย.ปี 2563 ถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 10ปีที่ผ่านมา และขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวเพราะอานิสงส์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่การที่ราคาอาหารทะยานขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคและทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่เป็นผล