‘38 มาตรา’ ข้ออ้าง 197 ส.ว. ด่านสุดท้าย ตีตก ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’

‘38 มาตรา’ ข้ออ้าง 197 ส.ว.  ด่านสุดท้าย ตีตก ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ถูก "ฝ่ายประชาธิปไตย" มองว่า เป็นมรดกสืบทอดอำนาจ ผลลัพธ์เหมือนมีเพียง "หน้าเดียว" เพราะแนว จาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" หรือ "ส.ว." โน้มไปทาง "ฝันที่ไม่เป็นจริง"

       วันนี้ 4 มีนาคม 2564 ต้องลุ้นกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีแนวพิจารณาใด ต่อคำร้องของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ “สมชาย แสวงการ” ส.ว. ที่ขอให้วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการให้อำนาจ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา

       หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ขอให้ 4 กุนซือทางกฎหมาย “มีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) 2560 "อุดม รัฐอมฤต" อดีตกรธ. "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อดีตที่ปรึกษา กรธ. และ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้ประกอบคำวินิจฉัย

       คาดว่าหนีไม่พ้นประเด็นสำคัญ คือ ต้องการทราบถึงความมุ่งหมายตามเจตนารมณ์ของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ตามหมวด 15 ว่า หมายถึงอะไรกันแน่

161478592487

       เพราะตามสาระในคำร้องมีประเด็นสำคัญคือ ข้องใจต่อการยกอำนาจ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ให้ “องค์กรอื่น” ไปดำเนินการปรับใหม่ทั้งฉบับ ซึ่ง แปลความตามคิดของผู้ร้องว่า "เท่ากับเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทิ้งทั้งฉบับ และขัดต่อความมุ่งหมายที่ว่าแก้ไขเพิ่มเติม คือแก้ได้เป็นรายมาตรา”

       อย่างไรก็ดีในวันที่ 4 มีนาคม ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะนัดพิจารณา “ไพบูลย์ นิติตะวัน” คาดว่า "ยังไม่มีคำวินิจฉัยใดออกมา มีเพียงการแจ้งว่า วันใดที่จะวินิจฉัยชี้ขาด”

       เพราะอย่าลืมว่า นอกจากความเห็นของ 4 กุนซือด้านกฎหมาย และยังมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของ “กลุ่ม ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน” ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบการวินิจฉัย

       สำหรับแนวทางที่คาดว่าน่าจะเป็นต่อคำร้องนี้ ในหลักการต้องมีเพียง 2 แนว คือ ชี้ขาดว่า “ทำไม่ได้” เพราะการโอนอำนาจให้ “ส.ส.ร.” เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั้น ถือเป็นองค์อำนาจที่อยู่นอกเหนือจากบทบัญญัติมาตรา 256 กำหนดไว้ คือ คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นคน

       และแนวที่ว่า “ทำได้”

       แต่ในห้วงที่สถานการณ์การเมืองล่อแหลม และสังคมตั้งคำถาม พร้อมจับตาการทำหน้าที่ของ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ที่จะไขคำตอบเพื่อเป็น "ทางออก” ของวิกฤตรัฐธรรมนูญ หรือ ได้ทางที่ตรงกันข้าม

       ดังนั้นจึงอาจมี “แนวที่ 3” เกิดขึ้น และเป็นคำวินิจฉัย “สายกลาง” ที่ไร้คำตอบชัดเจน

       และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “รัฐสภา” ดำเนินไปตามกระบวนการ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดวิธีตัดสินไว้คือ “การออกเสียงประชามติ”

161478607516

       และไม่ว่าแนวทางใดจะถูกเลือกเป็น “คำตอบ” สิ่งที่ต้องไปต่อคือ ”ลงมติวาระสาม” ช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ เพราะอย่าลืมว่าในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านวาระสองมี 2 ประเด็นคือ

       "แก้ไขมาตรา 256"  ประเด็นการลงมติรับหลักการวาระแรก และมติเห็นชอบในวาระสาม จากเดิมที่กำหนดให้ใช้เสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่วมเป็นคะแนนเห็นชอบในวาระแรก และ วาระสาม รวมถึง ใช้เสียงส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ร่วมเป็นคะแนนเห็นชอบในวาระสาม ได้แก้ไขให้เป็นเกณฑ์เดียว คือใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ หรือ 450 เสียงจากสมาชิกรัฐสภา 750 เสียง

       และ "เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" กำหนดสาระโดยย่อ คือ ให้มี ส.ส.ร.200 คนมาจากการเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 240 วัน

       ต่อเรื่องนี้ “ราเมศ รัตนเชวง" ฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา ที่ดูแลข้อกฎหมายให้ “ชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา บอกว่าต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามี ส.ส.ร.เพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ยังไง รัฐสภาต้องนัดวันเพื่อลงมติวาระสามอยู่ดี โดยตัดประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าทำไม่ได้ออกไป

       โดยการลงมติวาระสาม ตาม มาตรา 256(6) กำหนดว่า ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย สำหรับเสียงที่เป็นเกณฑ์ผ่านความเห็นชอบ ต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา คือ 366 เสียง จากสมาชิกที่มี 732 คน แบ่งเป็น ส.ว. 250 คนและ ส.ส. 482 คน

       ทั้งนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดเงื่อนไข เกณฑ์เห็นชอบ 366 เสียง นั้น ต้องมีเสียง ส.ว.และ ส.ส.จากพรรคที่ไม่มีรัฐมนตรี ประธานสภาฯ หรือรองประธาน เป็นองค์ประกอบด้วย คือ

       ต้องได้เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง และ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 210 เสียง บวกกับพรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และกลุ่ม 10 พรรคเล็ก รวม 10 เสียง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือรวมแล้วคือ 47 เสียงขึ้นไป

       กับประเด็นนี้ มีความเคลื่อนไหวจาก “ส.ว.” ประกาศ “คว่ำรัฐธรรมนูญวาระสาม” เพราะเหตุผลสำคัญ คือ ห่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่บัญญัติไว้นอกเหนือจากหมวด 2 พระมหากษัตริย์ถูกกระทบ

161478651944

       ต้นตอของเรื่องเกิดจากการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสอง ช่วงของมาตรา มาตรา 256/13 ที่ ส.ว.เสนอให้บัญญัติกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ นอกจากห้ามแตะหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์แล้วยังขอให้เพิ่มเรื่อง “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในหมวดอื่นของรัฐธรรมนูญ” จำนวน 38 มาตรา

       คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้ ที่เสนอคำแปรญัตติต่อรัฐสภา คือ 7 ส.ว. ได้แก่ "สมชาย แสวงการ- เฉลิมชัย เฟื่องคอน -ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ -สัญชัย จุลมนต์- วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร - ธานี อ่อนละเอียด - พล.อ.ดนัย มีชูเวท”

       ที่สุดท้ายประเด็นนั้นถูกคว่ำไปด้วยคะแนน 349 : 200 โดยเสียงข้างมากมาจาก “ส.ส.พรรครัฐบาล และ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน” ยกเว้นพรรคก้าวไกล ที่งดออกเสียง

       ส่วน ส.ว.​250 คน พบว่ามีแตกแถวแค่ 3 คน พล.ต.ต.ปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ พิศาล มาณวพัฒน์ และ วันชัย สอนศิริ

       ส่วน 13 คน สงวนท่าที งดออกเสียง และ 37 คนไม่ปรากฎการลงคะแนน

       ที่เหลืออีก 197 คน สนับสนุนให้บัญญัติ “ห้ามแก้ 38 มาตรา ที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ” ซึ่งในจำนวน 197 คน มีบางส่วนที่ประกาศจุดยืนแล้วว่า “โหวตโน”

       หากเป็นไปตามนั้น เกณฑ์ที่ล็อคไว้ ให้มี 84 ส.ว. เห็นชอบร่วมด้วย “มีไม่พอ”

       ผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นคือ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ถูกตีตกโดยขั้นตอนของรัฐสภา ในที่นี้อาจหมายรวมถึงการปลดล็อคเสียงที่เป็นเงื่อนให้คำนึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้เกิดปรากฎการณ์เสียงข้างมากลากไป ที่ไม่คำนึงเสียงข้างน้อยเหมือนที่เคยเกิดแล้วในอดีต

       ดังนั้น หากจะพูดว่ากระบวนการแก้กติกาที่เอื้อเพื่อคนบางพวก หากไม่ถูกบีบคอถึงขีดสุด คงไม่มีวันเป็นจริง.