เปิดร่าง “รัฐธรรมนูญ” วาระ 2 “บทสะท้อน” ใบสั่งผู้มีอำนาจ

เปิดร่าง “รัฐธรรมนูญ” วาระ 2  “บทสะท้อน” ใบสั่งผู้มีอำนาจ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม แม้จะผ่านวาระสองไปได้ และรอโหวตวาระสาม หลังจากนี้ไม่เกิน 17มีนาคม แต่เสียงลือหนาหูที่ "คอการเมือง" หวั่นใจ คือ "ทำแท้งรัฐธรรมนูญ" ตามใบสั่ง "ผู้มีอำนาจ"

       หลังจากที่รัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ในวาระสองแล้วเสร็จ โดยใช้เวลาเกือบ 20 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ พบสาระสำคัญของเนื้อหาที่มีการพิจารณา และปรับแก้ไขในชั้นของรัฐสภา โดยมีรายละเอียดดังนี้

       มาตรา 256 ว่าด้วยหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดิมในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ใช้เสียง ส.ว.ร่วมลงมติในวาระแรกและวาระสาม ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ได้แก้ไขโดยตัดส่วนดังกล่าวออก รวมถึงเกณฑ์การเห็นชอบวาระสาม ที่ต้องมีเสียง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านรวมด้วย 20%

       สำหรับเนื้อหาที่ผ่านรัฐสภาวาระสองนั้น ได้แก้ไขให้วาระแรกรับหลักการ และวาระสามให้ความเห็นชอบต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา หรือ 450 เสียงเป็นเกณฑ์ ซึ่งเกณฑ์ใช้คะแนนเสียงดังกล่าวต่างจากเนื้อหาที่กรรมาธิการ(กมธ.)เสียงข้างมากเสนอ ที่ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ หรือ 500 เสียง

       เหตุผลที่รัฐสภาลงมติข้างมากให้แก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเป็นประเด็นเดดล็อค เพราะจำนวน 500 เสียงนั้นต้องรวมเสียงของ ส.ว.ด้วย เนื่องจาก ส.ส.ปัจจุบันมีไม่ถึง 500 คน และยังมีความเห็นที่ไม่เป็นเอกภาพ

       หมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สาระสำคั​ญคือ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยรูปแบบเลือกตั้ง จะใช้ "การแบ่งเขตเลือกตั้ง" ซึ่งมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ปัจจุบัน โดยกรณีดังกล่าว กมธ.ได้แพ้โหวตในรัฐสภาเช่นกัน เพราะตามร่างที่เสนอให้พิจารณาวาระสองนั้นกำหนดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

       ในประเด็นดังกล่าว ถูกส.ส.ฝ่ายค้านทักท้วงว่าระบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นอาจทำให้ ส.ส.ร. เป็นนอมินีของนักการเมือง และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

       สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.นั้นกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ดำเนินจัดการเลือกตั้งภายใน 30 วัน นับจากที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใช้บังคับ และกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วันนับจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใช้บังคับเช่นกัน

       ขณะที่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเนื้อหาที่ผ่านวาระสอง กำหนดให้ ส.ส.ร. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน โดยระยะเวลาดังกล่าวสามารถตั้งกรรมาธิการทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยต้องเลือกมาจาก ส.ส.ร. ขณะที่กรรมาธิการอื่นเปิดโอกาสให้ตั้งบุคคลภายนอกทำหน้าที่ได้

       แต่กำหนดคุณสมบัติคือคำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการทำหน้าที่และกำหนดจำนวนกรรมาธิการเท่าที่จำเป็น

161457887592

       นอกจากนั้น มีหลักการที่เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ​คือ เมื่อ ส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จให้เสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติ พร้อมกำหนดกรอบให้รัฐสภาพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน และเมื่อรัฐสภาพิจารณาเสร็จ ให้ส่งร่างไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ส่วนภายในระยะเวลาเท่าใด ให้ กกต.​กำหนดอีกครั้ง แต่สาระของร่างรัฐธรรมนูญวาระสอง กำหนดไว้ว่าเมื่อออกเสียงประชามติเสร็จต้อง "ประกาศผลภายใน 15 วัน"

       อย่างไรก็ดี ในหลักเกณฑ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ นอกจากต้องได้เสียงเห็นชอบเป็นข้างมากแล้ว ยังต้องมีผู้มาออกเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติอีกด้วย

       สำหรับกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นมีเนื้อหาระบุไว้เพียง ห้ามแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในเนื้อหานั้นกำหนดหน้าที่ให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นมีข้อความใดที่แก้หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์หรือไม่ พร้อมวางอำนาจให้รัฐบาลเป็นผู้ชี้ขาดว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” นั้นต้องตกไปหรือไม่

       กรณีดังกล่าว รวมถึงการใช้เกณฑ์ผู้มาออกเสียงประชามติที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ถูกฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า เป็นกระบวนการสกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนเพราะให้อำนาจกับ “ผู้มีอำนาจ”​ กดปุ่มหยุด ผ่านนอมินี เช่น “ส.ว.” ที่มาจากการเลือกตั้งได้

       และในประเด็นสุดท้ายที่เปิดช่องกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นนั้นตกไป สาระสำคัญระบุให้ใช้เสียงของคณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.​ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ เสียงของ ส.ส.​รวมกับ ส.ว.จำนวน 1 ใน 5 เสนอญัตติให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้เกณฑ์เห็นชอบที่คะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา

       สำหรับมติของรัฐสภาที่เกิดขึ้นกำหนดไว้ด้วยว่า เมื่อรัฐสภามีมติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะเสนอญัตติอีกไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่แล้ว นอกจากนั้น ยังกำหนดหลักการห้ามบุคคลที่เป็น ส.ส.ร.กลับมาเป็น ส.ส.ร.อีก

       การพิจารณาในวาระสอง ถือว่าเสร็จสิ้นลงไปแล้ว และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(5) กำหนดให้พักรอไว้ 15 วันและเมื่อพ้นกำหนดให้นัดลงมติวาระสาม เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในช่วงกลางสัปดาห์ของเดือนมีนาคมนี้ เพราะมีการขอเปิดประชุมสภาฯ​สมัยวิสามัญไว้แล้ว

       อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตาคือการลงมติวาระสามว่า จะเห็นชอบทั้งฉบับหรือไม่ ตามหลักเกณฑ์กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ 367 เสียงจากจำนวนที่มีทั้งหมด 732 คน แต่เกณฑ์เห็นชอบนั้นถูกกำหนดให้ต้องมีเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงของ ส.ว.ที่มี 250 เสียงรวมอยู่ด้วย

       และไม่เท่านั้นต้องมีเสียงเห็นชอบจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภารวมด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งในที่นี้หมายถึงกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน 210 เสียง บวกกับพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และกลุ่ม 10 พรรคเล็กรวม 10 เสียง ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องมีเสียงที่เห็นชอบร่วมด้วย 47 คนขึ้นไป

       ต้องจับตาการออกเสียง ของ ส.ว.ที่พบว่ามีการแฉกันหลังบัลลังก์ประธานรัฐสภาว่า “จะไม่ลงเสียงให้ครบ 84 เสียง ด้วยเหตุที่ กมธ. ยอมตีเช็คเปล่าให้ ส.ส.ร.ก้าวล่วงพระราชอำนาจใน 38 มาตราของรัฐธรรมนูญที่อยู่นอกเหนือหมวดพระมหากษัตริย์”

       หากผ่านขั้นตอนต่อไป คือการออกเสียงประชามติ

       ทั้งนี้ มีขั้นตอนที่ต้องจับตายิ่งกว่าการลงมติวาระสาม คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐสภายื่นให้ตีความอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยกอำนาจให้ ส.ส.ร.ไปยกร่างใหม่ทั้งฉบับว่าทำได้หรือไม่

       ซึ่งคอการเมืองยังมีความเห็นแยกเป็น 2 ทาง คือ ศาลไม่ฟันธงว่าทำได้หรือไม่ เพราะไม่ต้องการก้าวล่วงไปถึงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทางคือยับยั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมดผ่านการโอนอำนาจให้ “ส.ส.ร.”

       เรื่องที่เกิดขึ้น ในชั้นพิจารณาของ “รัฐสภา” วาระสอง รวมไปถึง เรื่อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะออกทำหน้าที่ ต่อเนื่องถึง การออกเสียงวาระสาม ดูแล้ว เหมือนป็นเกมที่ถูก “เซ็ท” ขึ้นมาจากผู้มีอำนาจ ที่สุดท้าย จะหนีไม่พ้นกับคำว่า “ใบสั่งทางการเมือง".