‘เอนก นาวิกมูล’ ศิลปินแห่งชาติ ปี 63 : นักเขียนเรื่องเก่าที่หายไป

‘เอนก นาวิกมูล’ ศิลปินแห่งชาติ ปี 63 : นักเขียนเรื่องเก่าที่หายไป

เขียนหนังสือไว้แล้ว 201 เล่ม ถ้าไม่รักจริงคงไม่ทำขนาดนี้ เพื่อให้งานเขียนมีแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่ถูกต้อง บางเล่มเขาใช้เวลาค้นและเขียนกว่า 20 ปี และล่าสุดถูกคัดเลือกให้เป็น"ศิลปินแห่งชาติ" สาขาวรรณกรรม ปี 2563

ทั้งชีวิตของ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีที่มีความสนใจประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เดินมาทุกตรอก ซอก ซอย ทุกหัวระแหงในประเทศไทย เพื่อตามหารากความเป็นไทย และเรื่องราวในอดีตบนแผ่นดินไทย

เขาเชื่อว่า ถ้าเขาไม่รวบรวมเก็บเรื่องเหล่านี้ไว้ในหนังสือหรือเก็บสิ่งของเก่าๆ ไว้ในพิพิธภัณฑ์ สิ่งเหล่านี้จะหายไป

-1-

ตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือเล่มแรกจนถึงปีพ.ศ. 2563 เอนกมีผลงาน 201 เล่ม และยังคงค้นคว้า เขียนหนังสือ รวมถึงเก็บสิ่งของเก่าๆ ที่หาดูได้ยากไว้ในบ้านพิพิธภัณฑ์ ถนนศาลาธรรมสพน์ ซอยทวีวัฒนา และกำลังจะเปิดอีกแห่งที่ตลาดงิ้วราย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ เป็นสถานที่จัดแสดงของเก่า

161451359960

เอนกทำงานด้านสารคดีมานานกว่า 45 ปี เขาค้นคว้าตามหาเอกสารและสิ่งของ รวมทั้งพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ครูพื้นบ้านที่มีภูมิปัญญาดั้งเดิม เขาเคยได้รางวัลมากมาย อาทิ รางวัลสารคดีเกียรติยศ จากสำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ. 2553 และรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.2554 ฯลฯ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เอนก นาวิกมูล และอรสม สุทธิสาคร ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ปีพ.ศ. 2563 สาขาวรรณกรรม

“เมื่อก่อนก็กลัวคำว่า นักประพันธ์ไส้แห้ง แต่ก็เขียนไปเรื่อยๆ ผมเคยอ่านเรื่องการผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์ ทำให้อยากเขียน เขียนหนังสือตั้งแต่ประถมปีที่ 7 เรื่อง‘เสื้อตัวนั้น" เรื่องแรกในชีวิตได้ลงนิตยสารชัยพฤกษ์ ตอนเรียนมัธยมปีที่ 1 ผมได้รางวัลจากเรื่อง ปีแห่งกรรม เป็นเรื่องชีวิตชาวนาที่ทำนา แล้วไม่ได้ผล”

ทั้งๆ ที่รู้ว่า การเป็นนักเขียน ไม่ได้ทำให้ร่ำรวย เอนกก็ยังเลือกเดินบนเส้นทางวรรณกรรม เขาเล่าว่า บ้านเป็นร้านหนังสือแบบเรียนเครื่องเขียน มีหนังสือให้อ่านเยอะ ก็เลยชอบที่จะเขียน

“พ่อผมชอบอ่านหนังสือ และชอบเก็บสะสมสิ่งของต่างๆ ผมเองได้เห็นข้าวของเหล่านี้ ชอบจินตนาการเขียนนิทาน เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กที่จะเป็นนักเขียน"

161451362255

-2-

เริ่มจากรักการเขียน จนมาลงตัวกับการเขียนแนวสารคดี และชอบการค้นคว้างานด้านศิลปวัฒนธรรม เอนก บอกว่า ได้อ่านงานเก่าๆ โดยเฉพาะงานของ น. ณ.ปากน้ำ จึงทำให้อยากสำรวจวัดต่างๆ ที่ถูกทำลาย และจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกลบทิ้งฉาบด้วยปูนขาวทับ รู้สึกเป็นห่วง เพราะเราชอบวาดรูป

"ตอนหลังมาทำเรื่องเพลงพื้นบ้านเพิ่มด้วย เพราะพ่อเพลง แม่เพลง กำลังจะหายไป และในที่สุดก็มาชำระเรื่องเก่าสารพัดเรื่อง เกี่ยวพันกันทั้งหมด ผมเองชอบดูรูปถ่ายเก่าๆ และของเก่าๆ ตามพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะ“เรื่องแรกมีในสยาม” อยากรู้ว่าเก่าแค่ไหน เข้ามาสยามเมื่อไหร่ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ข้อมูลแบบนี้ไม่ค่อยมี ตอนหลังมาสนใจเรื่องข้าวของ ก็ทำเรื่องพิพิธภัณฑ์"

161451364967

ก่อนหน้านี้ เอนก เคยทำหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา ในสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังจากมีการปฏิวัติเดือนตุลาคม 2520 จึงหันมาทำงานงานหนังสือกับสุจิตต์ วงษ์เทศ และเคยทำงานกับมกุฏ อรฤดี ในยุคที่ทำนิตยสารบีอาร์ รวมถึงสำนักพิมพ์เมืองโบราณที่มีโอกาสร่วมงานกับนิดดา หงษ์วิวัฒน์ (ปัจจุบันเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์แสงแดด)

“ได้ทำในสิ่งที่อยากทำก็เลยโชคดี แม้การเป็นนักเขียนรายได้ไม่เยอะ แต่ก็สร้างบ้านสร้างห้องหนังสือได้ อาจเป็นเพราะผมสันโดษ แต่มีลูกมีเมียนะ สมัยก่อนไม่มีใครทำเรื่องเพลงพื้นบ้าน ผมก็ทำเป็นหนังสือเพลงยังไม่สิ้นเสียง เล่มแรกปี 2518 ต่อมาเปลี่ยนเป็นหนังสือเพลงนอกศตวรรษ เล่มนี้ผมรักมาก เพราะเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงลำตัด คนเฒ่า คนแก่ จะตายหมดแล้ว ไม่มีคนใส่ใจ ผมก็รีบทำแล้วพิมพ์ออกมา ปี 2521 จนได้รางวัลสารคดีเด่น ปี 2522 หนังสือมีคนเอาไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ เพราะไม่มีคนเขียนหนังสือเพลงพื้นบ้านเป็นเรื่องเป็นราวแบบผม"

ถ้าเป็นหนังสือที่ใช้เวลาค้นคว้านานที่สุด เอนก ยกให้หนังสือประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย ใช้เวลาค้นคว้า 24-25 ปี เขียนตั้งแต่ปี 2524 กว่าจะได้ตีพิมพ์ปี 2540 

"ผมต้องชำระเรื่องเก่าทั้งหมด ไปนั่งดูรูปเก่าๆ ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ไม่รู้กี่ร้อยครั้ง ค้นไป เขียนไป ปี 2530 พี่นิดดา หงษ์วิวัฒน์ เอาไปพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ตอนนั้นใช้ชื่อว่า"ถ่ายรูปเมืองไทยสมัยแรก" ปรับเปลี่ยนมาเรื่อย เพราะต้องค้นคว้าเพิ่ม รวบรวมนักถ่ายรูปรุ่นเก่า 30-40 คน เล่มนี้นักสะสมใช้เป็นคู่มือ ผมทำออกมาด้วยความยาก แก้แล้ว แก้อีก เป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่ใครๆ ก็ใช้อ้างอิง 

ผมทำขึ้นมาเพราะเวลาที่เราค้นและเขียน ก็เพื่อตอบคำถามให้ตัวเอง เราสงสัยว่า เขารู้ได้อย่างไร เพราะสารคดีสมัยก่อนไม่อ้างอิงที่มา เล่าไปเรื่อยๆ ไม่บอกว่ารู้มาได้อย่างไร ทำให้เราต้องเริ่มต้นค้นใหม่หมด หนังสือที่ผมเขียนต้องเน้นที่มาที่ไปชัดเจน ต้องทิ้งร่องรอยให้คนรุ่นหลังค้นคว้าต่อได้ ไม่ต้องมานับหนึ่งให้เสียเวลา การให้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องให้เครดิต หนังสือของผมจึงต้องบอกละเอียด"

เมื่อถามว่า ในปีนี้(2564) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม กำลังจะเขียนเรื่องอะไร

161451368556 เอนก บอกว่า กำลังจะเขียนเรื่อง ผีไทย และชีวิตแม่เพลง ยายทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ ,ยายทองอยู่ เรื่องราวชีวิตประเพณีสมัยก่อน ทั้งเรื่องโจรผู้ร้าย การออกไปเล่นเพลง แล้วโดนโจรฉุด พวกแม่เพลงเหล่านี้มีประสบการณ์เยอะ หรือเรื่องราวยายสำอาง ที่แอ๊ด คาราบาว นำมาทำเพลง

"ถ้าถามผมว่า ชอบงานเขียนเล่มไหนมากที่สุดผมชอบเรื่องแม่นาค ตื่นเต้นดี หรือเรื่องเกี่ยวกับการเที่ยวทุ่งหน้าน้ำ เพราะผมชอบพายเรือเล่น ผมออกไปเที่ยวทุ่งทุกวัน อยู่กลางทุ่งสบายใจ​

-3-

ทั้งๆ ที่เรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมแบบไทยๆ จะไม่มีคนอ่านมากมายนัก แต่เอนก บอกว่า หนังสือแนวนี้เป็นเสมือนรากส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าประเทศไม่มีราก ก็อวดใครไม่ได้

"ผมดีใจมากที่มวยไทย อาหารไทย เผยแพร่ไปทั่วโลก ลองคิดดู ถ้าประเทศเราไม่มีอะไรที่จะอวดใคร เราจะน่าภูมิใจไหม"

หากวันนี้ไม่มีคนเช่น เอนก และนักเขียน นักสะสมที่เก็บของเก่าไว้ให้คนรุ่นหลังดู เรื่องเหล่านี้คงหายไป เอนก จึงยังทำสิ่งที่ตัวเองรักต่อไป เพราะเห็นว่า มีคุณค่าต่อผู้อื่น 

1614513715100

"ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้ มันหายไปแน่ เหมือนปู่ย่าตายายสร้างบ้านสวยๆ ไว้ พอถึงรุ่นลูกรุ่นหลานก็ขายทิ้งหมด ผมทำพิพิธภัณฑ์ ผมก็ไม่มีเงินเดือน และรัฐก็ไม่ได้สนับสนุน น่าจะเอาภาษีมาช่วยกันทำงาน

ผมมีลูกสาวสองคน ก็มาช่วยจัดบ้านพิพิธภัณฑ์ ออกแบบ ทำโปสการ์ดจำหน่าย ภรรยาคู่คิดก็ทำงานมาด้วยกันตลอด ผมต้องขอบคุณเขามาก พิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่ตลาดงิ้วราย ตอนนี้กำลังเจาะตู้คอนเทนเนอร์เป็นห้องๆ เดือนกรกฎาคมจะทำให้เสร็จเป็นโซนๆ

ผมอยากให้ช่วยกันเก็บของเก่าเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลัง เพราะเดี๋ยวนี้คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ไม่ค่อยนึกถึงส่วนรวม เราต้องการคนทำงานเพื่อส่วนรวม"