กำลังพัฒนามา 30 ปี ให้อะไรบ้างกับประเทศไทย

กำลังพัฒนามา 30 ปี ให้อะไรบ้างกับประเทศไทย

30 ปีที่ผ่านมา บทเรียนสำคัญของประเทศไทย ทำไมยังคงสถานภาพเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง และไปไม่ถึงความคาดหวังที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียต่อจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและสิงคโปร์

ธนาคารโลกจัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา รายได้ปานกลางระดับต่ำ (รายได้ต่อหัวเกิน 1,036 ดอลลาร์) เมื่อปี 2531 พร้อมกับความคาดหวังของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียต่อจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและสิงคโปร์ เพื่อเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่ประเทศไทยยังไม่ไปถึงจุดนั้น และยังเจอวิกฤติอย่างน้อย 3 ครั้งนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 รวมถึงการได้รับผลกระทบจากวิกฤติซับไพร์ม และผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ในปัจจุบัน

การเจอวิกฤติถือเป็นการวัดประสิทธิภาพของรัฐบาลแต่ละประเทศ ซึ่งในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐบาลบริหารประเทศ 18 คณะ มีนายกรัฐมนตรีกุมทิศทางประเทศไทย 14 คน มีทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งแบบรัฐบาลผสม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบรัฐบาลพรรคเดียว รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่รัฐบาลส่วนใหญ่ที่บริหารประเทศในช่วง 30 ปี มาจากรัฐบาลผสม แต่ไม่อาจสรุปได้ว่าการมีรัฐบาลผสมทำให้ประเทศยกระดับการพัฒนาไม่ได้

ประเทศไทยผ่านช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดมานานแล้วและช่วงที่เศรษฐกิจพุ่งสูงมากไม่สามารถยกระดับประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ ซึ่งการจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางนี้ดูเหมือนอาจจะแก้ปัญหาหรือวางแนวทางการพัฒนาประเทศในแบบเดิมไม่ได้ เพราะถ้ายังมีวิธีการคิดและวิธีการทำงานในรูปแบบเดิม แน่นอนว่าผลลัพธ์ก็จะได้แบบเดิม และทำอย่างไรจึงจะมีแนวทางที่นำไปสู่การพ้นกับดักนี้คงไม่ใช่ปัญหาของแค่รัฐบาลแต่เป็นปัญหาของประเทศ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง ยกระดับขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 12,235 ดอลลาร์ ซึ่งในปัจจุบันมีใครรับทราบบ้างว่าประเทศไทยมีเป้าหมายเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580 รวมทั้งทุกกระทรวงให้ความสำคัญกับการนำยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นแนวคิดในการจัดทำงบประมาณมากน้อยแค่ไหน และแม้แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันจำเป้าหมายนี้ได้ทุกคนหรือไม่

การจะเปลี่ยนแปลงประเทศจึงต้องสร้างพลังที่มาจากทุกส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชนและภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีใครเป็นแกนนำในการจัดตั้ง ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะยกระดับประเทศไทย โดยไม่ตั้งข้อรังเกียจว่าสิ่งเหล่านี้เคยเป็นนโยบายของใคร เพราะเมื่อประสบความสำเร็จแล้วคนไทยทุกคนนี่เองที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา ซึ่ง 30 ปีที่ผ่านมา มีบทเรียนที่สำคัญให้กับประเทศแล้วว่าทำไมยังคงสถานภาพเป็นประเทศกำลังพัฒนา