ธุรกิจไทยลุยลงทุน ’เวียดนาม’ SCG มั่นใจศักยภาพเศรษฐกิจ

ธุรกิจไทยลุยลงทุน ’เวียดนาม’  SCG มั่นใจศักยภาพเศรษฐกิจ

“เอสซีจี” เชื่อมั่นศักยภาพเศรษฐกิจเวียดนาม เดินหน้าลงทุนปิโตรคอมเพล็กซ์ คืบหน้า 66% คาดทำสัญญาซื้อหุ้น Duy Tan 70% เสร็จกลางปีนี้ เจ้าสัวเจริญ ดัน‘บีเจซี-ไทยเบฟ’ ปั้นอาณาจักรธุรกิจต้นน้ำ-ปลายน้ำ

ปัจจุบันเวียดนามมีโครงการลงทุนจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) 33,165 โครงการ ทุนจดทะเบียน 386,009 ล้านดอลลาร์ โดยเกาหลีใต้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ 8,976 โครงการ มูลค่าทุนจดทะเบียน 70,489 ล้านดอลลาร์ ส่วนไทยอยู่อันดับ 9 รวม 605 โครงการ ทุนจดทะเบียน 12,602 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าเฉพาะเดือน ม.ค.2564 เวียดนามมีเอฟดีไอ 47 โครงการ ทุนจดทะเบียน 1,323 ล้านดอลลาร์ มีสิงคโปร์ลงทุนเป็นอันดับ 1

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีทำธุรกิจในเวียดนามตั้งแต่ปี 2535 และขยายลงทุนต่อเนื่องด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม

ทั้งนี้ การลงทุนมีกลยุทธ์สำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการกับพันธมิตรทุกรายในเวียดนาม เพื่อการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญระหว่างกัน รวมถึงพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการในประเทศเติบโตด้วยกันยั่งยืน โดยพัฒนาสินค้าและบริการรองรับความต้องการตลาดอุปโภคบริโภค และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม

นอกจากนี้ ปัจจุบันเอสซีจีร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้งธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจซิเมนต์ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีโรงงานกระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โครงการลงทุนสำคัญ 2 กลุ่มธุรกิจ คือ

1.ธุรกิจเคมิคอลส์ โดยลงทุนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) เป็นการลงทุนหลักของเอสซีจี ซึ่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจเคมิคอลส์ในอาเซียนระยะยาว รองรับความต้องการภายในเวียดนามที่สูงปีละ 2.3 ล้านตัน และมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นตามเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นฐานการผลิตสำคัญรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยการนำเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกและเทคโนโลยีดิจิทัลมาคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งมีคืบหน้าตามแผน 66%

2.ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ร่วมมือกับพันธมิตรเวียดนาม ขยายธุรกิจและพัฒนาโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าหลากหลายอุตสาหกรรมในเวียดนามทั้งบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกและบรรจุภัณฑ์กระดาษ รวมถึงการพัฒนาทีมนักออกแบบในประเทศ พร้อมนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละรายให้ดีมากขึ้น 

พร้อมทั้งจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าในอาเซียนที่ต้องการบรรจุภัณฑ์เพิ่มต่อเนื่อง คือ

1.ขยายการลงทุนด้วยการควบรวมกิจการ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ต้นน้ำในเวียดนาม

2.ลงนามสัญญาร่วมทุน Duy Tan Plastics Manufacturing Corporation (Duy Tan) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปมีรายได้ 6,100 ล้านบาท มีฐานลูกค้าเป็นบริษัทข้ามชาติและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ชั้นนำในเวียดนาม และเป็นผู้ผลิตภาชนะเครื่องใช้พลาสติกในครัวเรือนแบรนด์ “DuyTan” กำลังการผลิต 116,000 ตันต่อปี คาดว่าการทำธุรกรรมเข้าซื้อหุ้น 70% เสร็จภายในกลางปี 2564

ส่วนอีก “ทุนไทย” ที่ปักหมุดสร้างอาณาจักธุรกิจใน “เวียดนาม” เป็นฐานทัพที่ 2 รับเศรษฐกิจ อำนาจซื้อ การบริโภคเติบโตเสริมความมั่งคั่งให้กับบิ๊กคอร์ปของไทย คือ “กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ของ “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณาสิริวัฒนภักดี” ที่ลงทุนหลายปีครบวงจรตั้งแต่ “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ”

5 กลุ่มธุรกิจ ทีซีซี กรุ๊ป มี 2 เสาหลักชักธงบุกเวียดนาม ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ลุยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ขยายอุตสาหกรรมและการค้า 

บีเจซีนำร่องด้วยการ“ซื้อและควบรวมกิจการ” หรือ M&A หลายปี มีการ“ร่วมทุน”พันธมิตรเช่น ผนึกโอเว่น อิลลินอยส์หรือ โอ-ไอ สร้างโรงงานผลิตกระป๋องก้าวเป็น “ยักษ์ใหญ่” ของภูมิภาค การซื้อหุ้นไทอัน เวียดนาม จอยท์ สต๊อก คัมปะนี จนเป็น “ผู้นำตลาด” ด้านการขนส่งและกระจายสินค้าครอบคลุมเวียดนามเหนือจรดใต้

นอกจากนี้ บีเจซี ซื้อกิจการภูไท กรุ๊ป เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจร้านสะดวกซื้อปัจจุบันอาณาจักรค้าปลีกโตหลายเท่าตัว เพราะซื้อกิจการ “บิ๊กซี” และ“เมโทร แคช แอนด์ แครี่ เวียดนาม" เปลี่ยนชืิ่อเป็น “เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต” มีการซื้อโรงงานผลิตเต้าหู้เบอร์ 1 และโรงงานผลิตปลากระป๋อง การลงทุนหลายหมื่นล้านบาทต่อจิ๊กซอว์เชื่อมเครือข่ายการค้าให้ทีซีซี กรุ๊ป

ขณะที่ไทยเบฟฯ ลงทุนครั้งใหญ่ซื้อหุ้น 75% ของไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโกด้วยมูลค่า 1.56 แสนล้านบาท ทำให้ได้โรงงานเบียร์ 20 แห่งในเวียดนามพร้อมแบรนด์เบียร์เบอร์ 1 อย่าง 333 และไซ่ง่อนเบียร์

ล่าสุดไทยเบฟฯแยกธุรกิจเบียร์มาเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ได้ให้ข้อมูลถึงความเชื่อมั่นการขยายตลาดเบียร์ในเวียดนามจะสร้างการเติบโตในอนาคตและเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่สุดของอาเซียน อีกทั้งประชากรกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหมที่บริโภคมากขึ้น ทั้งนี้ การขยายธุรกิจเครื่องดื่มในเวียดนามไม่ได้มีแค่เบียร์แต่มีกลุ่ม “สุรา” ทั้งสุราขาว สุราสี