'www.ม33เรารักกัน.com' ลงทะเบียน ต้องรู้จัก 'OTP' รหัสสำคัญก่อนรับ 4,000 บาท

'www.ม33เรารักกัน.com' ลงทะเบียน ต้องรู้จัก 'OTP' รหัสสำคัญก่อนรับ 4,000 บาท

"www.ม33เรารักกัน.com" ลงทะเบียน ทำความรู้จัก "OTP" รหัสลับที่ต้องลุ้นหนักว่าจะได้หรือไม่ได้ ก่อนสมัคร "ม.33 เรารักกัน" วันที่ 21 ก.พ. เพื่อรับเงินเยียวยา 4,000 บาท สำหรับกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33

ในยุคปัจจุบัน การยืนยันตัวตนเมื่อลงทะเบียนหรือทำธุรกรรมออนไลน์ใด ๆ ก็ตาม ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการยืนยันตัวตนด้วย "รหัสลับ" ที่ผู้ใช้รู้เพียงคนเดียวที่เรียกว่า "OTP" ซึ่งจะปรากฏบนหน้าจอมือถือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ขอให้กรอกรหัสนี้เพื่อยืนยันตัวตน

ที่สำคัญที่สุด ตัวเลขหรือตัวอักษรชุดนี้ถือเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใช้ไม่ควรบอกคนอื่นและควรลบทิ้งทันทีเมื่อใช้งานเสร็จ

ประเด็นรหัส OTP ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอีกครั้งในการลงทะเบียน "www.ม33เรารักกัน.com" ในวันที่ 21 ก.พ. เคยถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ผลจากการลงทะเบียน "คนละครึ่งเฟส 2" และ "คนละครึ่งเฟส 2 รอบเก็บตก" ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และ ม.ค. 2564 ตามลำดับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

ในการลงทะเบียนแต่ละครั้งที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวกับ OTP ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการลงทะเบียน พร้อมระบุปัญหาต่าง ๆ เช่น ได้รับ OTP ล่าช้าเป็นชั่วโมง บางคนกรอกข้อมูลลงทะเบียนตั้งแต่ช่วง 6 โมงเช้า แต่ได้รับ OTP ตอน 8 โมง ทำให้ยืนยันตัวตนคนละครึ่งเฟส 2 ไม่สำเร็จ เป็นต้น

161384034774

สำหรับผู้ใช้งานครั้งแรกอาจสงสัยว่า OTP คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง และทำไมถึงต้องปกปิดเป็นความลับขนาดนั้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนไปทำความรู้จักรหัสนี้ให้มากขึ้น

 

  • OTP คืออะไร

OTP ย่อมาจาก One Time Password มีความหมายตรงตามชื่อภาษาอังกฤษคือ รหัสผ่านที่ใช้เพียงครั้งเดียว ไม่ว่าจะเพื่อลงทะเบียนหรือทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต

เมื่อผู้ใช้ต้องการเข้าระบบอีกครั้งจะต้องใช้รหัสชุดใหม่เพื่อความปลอดภัย ซึ่งระบบจะส่งให้ผ่านทาง SMS ตามเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้กรอกไว้ หรืออีเมล หรือแอพพลิเคชั่น

การใช้ OTP จะช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องจดจำรหัสผ่านในการเข้าใช้งานและช่วยรักษาความปลอดภัย ในแง่ป้องกันผู้อื่นนำรหัสผู้ใช้ไปใช้

 

  • วิธีใช้งาน

วิธีการทำงานของ OTP เหตุผลที่ธนาคารหรือผู้ให้บริการรายอื่น ๆ เลือกใช้ OTP เพราะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าจะไม่ดีที่สุดก็ตาม

หลักการคือ รหัสที่ส่งไปยังมือถือหรืออีเมลของผู้ใช้ เป็นการตรวจสอบว่าผู้ขอรหัสเป็นเจ้าของเบอร์มือถือหรืออีเมลนั้นจริงหรือไม่ หากไม่ใช่เจ้าของเบอร์มือถือหรืออีเมลนั้น ก็จะไม่ได้รับรหัส OTP และทำรายการต่อไปไม่ได้

ข้อดีของ OTP คือเป็นระบบที่ช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น รหัสนี้ยังมีประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์, เพิ่มความสะดวกสบาย เพราะไม่ต้องจำรหัสผ่าน, ไม่ต้องกังวลว่าผู้อื่นจะทราบรหัสผ่าน และเป็นการใช้แบบครั้งเดียวแล้วจบ

ปกติแล้ว OTP ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งาน 3 นาที หรือ 180 วินาทีต่อ 1 รหัสเท่านั้น และหากครบกำหนดระยะเวลาแล้วหรือมีการขอรหัส OTP อีกครั้ง รหัส OTP เดิมจะหมดอายุลง

161384028168

ตัวอย่าง OTP ที่ส่งมาทางมือถือจะแจ้งเป็นตัวเลข เช่น "รหัสยืนยัน Facebook ของคุณคือ 123456 ห้ามบอกรหัสนี้แก่ผู้อื่น" และ "OTP = 123456 [รหัสอ้างอิง:XXXX] เพื่อลงทะเบียนสิทธิ ชิมช้อปใช้ ภายใน 3 นาที" เป็นต้น

 

  • ทำไมต้องเก็บรหัส OTP เป็นความลับ

รหัส OTP เป็นที่หมายปองของกลุ่มมิจฉาชีพ บางครั้งคนร้ายสามารถเสาะหาข้อมูลส่วนตัวของเรา บัญชีผู้ใช้งาน รหัสผ่าน ได้ทุกอย่างจากช่องโหว่ของระบบ การโพสต์ข้อมูลส่วนตัว การตั้งรหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดา

ผู้ให้บริการระบบต่างๆ จึงหาวิธีทางป้องกันระบบของตนเอง ด้วยการใช้ส่งรหัส OTP ให้เจ้าของบัญชีตัวจริง นำมากรอกยืนยันตัวตน ดังนั้น อย่าส่งรหัส OTP ให้ผู้อื่นเป็นอันขาด เพราะคือสิ่งสุดท้าย ที่คนร้ายต้องการ

"ความปลอดภัยมากขึ้น กับความสะดวกสบายที่น้อยลง" อาจจะทำให้การทำธุรกรรมสะดวกน้อยลง แต่ก็เพิ่มความลำบากให้คนร้ายมากขึ้น ผู้ใช้งานเองก็ปลอดภัยยิ่งขึ้น

---------------------

อ้างอิง: KTCบก.ปอท., Kaidee, Beefast