'หยวนดิจิทัล'หนุนเอเชียใช้'อี-เคอร์เรนซี'

'หยวนดิจิทัล'หนุนเอเชียใช้'อี-เคอร์เรนซี'

'หยวนดิจิทัล'หนุนเอเชียใช้'อี-เคอร์เรนซี' ขณะผลสำรวจบีไอเอสบ่งชี้ 86% ของธนาคารกลาง 65 แห่งในเอเชียยืนยันอยากมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมของซีบีดีซี

การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงตามหลอกหลอนตลอดช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลตรุษจีน โดยรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อรวมญาติในเทศกาลนี้

ขณะที่ภาคธุรกิจก็เกิดความกลัวว่าการไม่เห็นด้วยของรัฐบาลปักกิ่งจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงเวลาสำคัญของปีลดน้อยถอยลง แม้ว่าชาวปักกิ่งประมาณ 5 หมื่นคนจะได้รับอั่งเปาในรูบแบบเงินดิจิทัลจำนวน 200 หยวน (31 ดอลลาร์)บรรจุมาในซองสีแดงที่สามารถนำไปซื้อของทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ได้ โดยรัฐบาลมองว่าการแจกอั่งเปาในรูปแบบเงินดิจิทัลนี้จะปูทางไปสู่บางอย่างที่ใหญ่กว่านี้มาก

ท่ามกลางภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้รูปแบบดิจิทัลได้รับความนิยมมากขึ้น รวมทั้งการที่บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มหาทางเปิดตัวสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว ที่กัมพูชา กลายเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียชาติแรกที่เปิดตัวระบบดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ส่วนประเทศอื่นๆอย่างเช่นไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างก็ทำการวิจัยและทดสอบระบบเงินดิจิทัล

กัมพูชาเปิดตัวโครงการสกุลเงินดิจิทัลที่สนับสนุนโดยธนาคารกลางที่ใช้บล็อคเชนที่ศึกษามานานชื่อว่า “Bakong” แม้ว่า “Bakong” จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (เอ็นบีซี) แต่ก็ต่างจากสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางทั่วไป (ซีบีดีซี) ตรงที่ไม่ได้ออกโดยเอ็นบีซี

Bakong ออกโดยสถาบันการเงินพันธมิตรหลายแห่งในกัมพูชา ภายใต้การกำกับดูแลของเอ็นบีซี โครงการนี้จะอนุญาตให้ชาวกัมพูชาที่มีสมาร์ทโฟนสามารถทำธุรกรรมโดยใช้สกุลเงินเรียลกัมพูชา (เคเอชอาร์) หรือดอลลาร์สหรัฐได้

Bakong ทำงานโดยใช้แอพพลิเคชันสมาร์ทโฟน ที่จะทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลช่วยให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินและชำระเงินโดยใช้รหัส QR ของหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งจะช่วยเพิ่มการร่วมมือทางการเงินในประเทศ

161352541863

ในปี 2559 อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของกัมพูชาอยู่ที่ 93.7% ในขณะที่อัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนในปี 2563 อยู่ที่ 58% เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเพียง 20% ในปี 25556 ซึ่งตัวเลขที่น่าอัศจรรย์เหล่านี้เป็นผลมาจากการหลั่งไหลเข้าของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ราคาถูก จากแบรนด์จีนอย่างหัวเว่ย

“ชี เซเรย์” ผู้อำนวยการธนาคารกลางเอ็นบีซี กล่าวในงานเปิดตัว Bakong ในกรุงพนมเปญว่า ซีบีดีซีไม่ได้แค่ช่วยเพิ่มการรวมทางการเงินและการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยบรรเทาการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 อีกด้วย

ในส่วนของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศโครงการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยซีบีดีซี ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอินทนนท์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการเชื่อมต่อซีบีดีซีกับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยภาคเอกชน

ธปท. เห็นความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและความพร้อมของภาคธุรกิจที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งโครงการนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำซีบีดีซีไปเชื่อมสู่ภาคธุรกิจที่มีขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่กว้างขึ้น ในการทดสอบซีบีดีซีจะถูกเชื่อมต่อกับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม การที่จีนพยายามผลักดัน“หยวนดิจิทัล”อาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกเมื่อพิจารณาจากความทะเยอทะยานของรัฐบาลปักกิ่งที่จะนำสกุลเงินของประเทศเป็นสกุลเงินระดับโลก

161352545055

การทดลองที่กินเวลานานเป็นสัปดาห์ของทางการปักกิ่ง สิ้นสุดลงในวันพุธ(17ก.พ.) เป็นการทดลองที่จัดขึ้นในเมืองซูโจวและรวมถึงการทดลองก่อนหน้านี้ ถึงตอนนี้ธนาคารกลางจีนได้ออกเงินหยวนดิจิทัลไปแล้วจำนวนกว่า 100 ล้านหยวน และทางการจีนมีแผนที่จะจัดทำโครงการเงินหยวนดิจิทัลมากกว่านี้ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพในปี 2022

เงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับจีน ผู้บริโภคในจีนหลายร้อยล้านคนในจีนใช้บริการอาลีเพย์และวีแชท เพย์และคุ้นเคยกับการสแกนคิวอาร์โค้ดในหน้าจอสมาร์ทโฟนของตัวเองแทนที่จะใช้เงินธนบัตรหรือเหรียญ

ซีบีดีซีถือเป็น “สกุลเงิน” ในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ซึ่งต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอย่างบิทคอยน์ อีเธอร์ หรือริปเปิ้ลที่ออกโดยภาคเอกชน และมีมูลค่าผันผวนจากการใช้เพื่อเก็งกำไร จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ

ซีบีดีซี แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ซีบีดีซีสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (retail CBDC)

ขณะที่ผลสำรวจของบีไอเอส ที่เผยแพร่ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า 86% ของธนาคารกลาง 65 แห่งที่ตอบผลสำรวจมีความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะมีส่วนร่วมกับงานซีบีดีซีในบางรูปแบบ และเกือบ 60% ระบุว่า "มีแนวโน้ม"หรือ"มีความเป็นไปได้ที่จะออกซีบีดีซีสำหรับการทำธุรกรรมรายย่อยในอีก6ปีข้างหน้า