ทำไมคนไทยมีลูกน้อยลง? ชวนคุยเศรษฐศาสตร์ของการ 'ไม่มีลูก' ในมุม 'รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ'

ทำไมคนไทยมีลูกน้อยลง? ชวนคุยเศรษฐศาสตร์ของการ 'ไม่มีลูก' ในมุม 'รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ'

ในวันที่คนไทยเกิดน้อยจนรัฐต้องรณรงค์ปั๊มลูก ชวนคุยมุม "เศรษฐศาสตร์" กับ "รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ" พร้อมหาคำตอบที่ว่าทำไมคนไทยยุคนี้ถึง "ไม่อยากมีลูก"

นโยบาย "นัดเดต" จากภาครัฐ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหวังกระตุ้นคนไทยให้มีลูกเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณที่กำลังบอกว่าอัตราการเกิดของไทย ต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น

สถานการณ์เด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยขณะนี้ต่ำกว่า 600,000 รายต่อปี ขณะที่สถิติองค์การอนามัยโลก (WHO) และธนาคารโลก ระบุว่า อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates-TFR) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ควรอยู่ที่ 2.1 คน

แต่อัตราการเจริญพันธุ์รวมของไทย อยู่ที่ 1.51 คน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา 2 เรื่องคือ

1) เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว
2) ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่ปัญหาแล้ว

  

  • แล้วทำไมคนไทยเกิดน้อยลง?

สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย รายงานสถานการณ์การเกิดของประชากรไทย ที่อัตราการเกิดน้อยลงสะท้อนจากสถิติต่างๆ พบว่า คนไทยอยากเป็นโสดมากขึ้น ไม่ต้องการมีลูกหรืออยากมีน้อยลง กังวลกับภาระค่าใช้จ่าย ห่วงเรื่องสมดุลระหว่างการงานและครอบครัว ต้องดูแลคนในครอบครัว รวมถึงภาวะมีบุตรยาก 

161414916587

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนมองลึกเข้าไปในมิติทาง "เศรษฐศาสตร์" ชวนคุย "รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ" อาจารย์ภาควิชาการธนาคาร และการเงินคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ 4 ข้อแตกต่างหลักๆ ที่ "เศรษฐศาสตร์" อธิบายได้ว่าสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูกเยอะๆ เหมือนคนรุ่นก่อน แบ่งเป็น 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้

1. ลักษณะเศรษฐกิจ 'เกษตร' vs 'อุตสาหกรรม'  

รศ.คณิสร์ อธิบายว่าในอดีตประเทศไทยขับเคลื่อนด้วย "เศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม" ดังนั้น คนที่มีแรงงานในมือมากยิ่งมีโอกาสในการสร้างผลิตผลได้มากขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น การมีลูกหลายคน จึงดีต่อการสร้างรายได้ในครอบครัว เหมือนประโยคที่ติดหูกันว่า "รีบมีลูกจะได้ทันใช้" การลูกหลายคนของคนรุ่นก่อนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และเปรียบเสมือนการลงทุนระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อทั้งในแง่ของความมั่งคั่ง และความสุขด้วย

ตัดภาพมาที่เศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วย "เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม" แรงงานคนเริ่มถูกลดความสำคัญในการสร้างผลิตผลต่างๆ ลง และหันมาใช้เครื่องจักร ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

หมายความว่า การมีแรงงานคน อย่างลูกหลานเยอะๆ จึงไม่ทำให้ได้เปรียบในการสร้างรายได้เหมือนที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้จากด้วยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานคน 

2. ค่านิยม 'ชายเป็นใหญ่' VS 'สิทธิสตรี' 

เมื่อพูดถึง "ผู้หญิง" สถานภาพ ของผู้หญิงที่มีต่อครอบครัวในอดีตคือ ผู้ที่ดูแลบ้าน ดูแลสามี ลูกๆ หรือสำหรับบางครอบครัวอาจหมายความรวมถึงครอบครัวของตัวเองและสามี ภาพจำเหล่านี้เคยเป็นบรรทัดฐานบทบาทของผู้หญิงรุ่นก่อนๆ ที่ส่วนใหญ่มีโอกาสในการศึกษาน้อยกว่าผู้ชายทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้าน หารายได้ด้วยตัวเอง

จนกระทั่งบริบทต่างๆ ของสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแทบจะในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อการศึกษาเข้าถึงทุกคน หลาย 10 ปีที่ผ่านมาการเรียกร้อง "สิทธิสตรี" จนสังคมหันมาให้ความสำคัญ และผลักดันให้สตรีมีบทบาทอื่นในสังคม และมีส่วนร่วมในกลุ่มแรงงานมากขึ้น เมื่อผู้หญิงถูกมองในรูปแบบใหม่

ไม่ว่าจะเป็นเวิร์กกิ้งวูแมน ผู้นำองค์กร หรือแม้แต่บทบาทผู้บริหารหญิงแกร่ง ทำให้ภาพผู้หญิงที่อยู่บ้านเลี้ยงดูลูกและบ้านค่อยๆ จางลงไป หรือจำเป็นต้องทำทั้ง 2 หน้าที่ควบคู่กันซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อผู้หญิงมีความสามารถในการทำงาน มีสิทธิในการตัดสินใจเลือกชีวิตของตัวเอง จึงเลือกชีวิตอิสระของตัวเองมากขึ้น ภาพหญิงสมัยใหม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก ดูแลบ้านอย่างเดียวจึงน้อยลง หรือวางแผนที่จะไม่มีลูกตั้งแต่แรก

3. สภาพเศรษฐกิจ 'ค่าครองชีพต่ำ' vs 'ค่าครองชีพสูง' 

บทความของ เจษฎา สุขทิศ CEO ของ FINNOMENA เคยเขียนไว้ในปี 2559 เผยถึงข้อมูลจากการคำนวณ ค่าใช้จ่ายการเลี้ยงลูก 1 คน ตั้งแต่เกิดจนเรียนจบต้องใช้เงินเป็นตัวเลขกลมๆ (ปรับตามเงินเฟ้อปีละ 3%) ปรากฏว่า หากส่งลูกเรียนสูงสุดในระดับปริญญาโท แบบประหยัดใช้เงินทั้งหมดราว 1.3 ล้านบาท แบบปานกลาง 6.5 ล้านบาท ส่วนแบบสูงสุดจัดเต็มทุกมิติอยู่ที่ 51 ล้านบาทเลยทีเดียว 

สภาพเศรษฐกิจในอดีต "ค่าจ้างแรงงาน" ต่ำกว่าปัจจุบัน และส่วนใหญ่เป็นสังคมแบบเกษตรกรรม ซึ่งทำให้สามารถหาอาหารเลี้ยงปากท้องได้โดยแทบไม่จำเป็นต้องหาเงินเพื่อไปซื้ออาหารอีกทอดหนึ่ง การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งจึงมีสิ่งที่ต้องจ่ายน้อยกว่าในปัจจุบัน

ขณะที่ค่าครองชีพปัจจุบันสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ทำให้ค่าครองชีพ ค่าอาหาร และกิจกรรมต่างๆ มีค่าใช้จ่ายที่ต้องขยับขึ้น 

คนกลุ่ม "มิลเลนเนียลส์" (Millennials) หลายคนมองว่า "เลี้ยงตัวเองให้รอดยังยาก!" โดยเฉพาะหากอยากให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยิ่งต้องทวีคูณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดที่ทำให้หลายคนตัดสินใจไม่มีลูก หรือมีแนวคิดในการดูแลลูกที่เปลี่ยนไปจากที่เคยคาดหวังให้ลูกเติบโตมาเลี้ยงดูตนตอนแก่ ลดลงเหลือแค่ลูกเติบโตมาเลี้ยงดูตัวเองได้ โดยไม่ต้องมารบกวนตนตอนแก่ก็พอ

4. สังคม 'พบหน้า' vs 'โซเชียลมีเดีย' 

การเข้ามาของ "โซเชียลมีเดีย" มีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่ๆ "ไม่อยากมีลูก" อย่างไม่น่าเชื่อ ข้อดีโซเชียลมีเดียในมิติของการดูแลลูก คือการสร้างคอมมิวนิตี้ของพ่อบ้านแม่บ้านให้มาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน แต่ข้อเสียที่ตามมาคือมีคนทั้งโลกช่วยเลี้ยงลูกเต็มไปหมด ซึ่งบางครั้งนำไปสู่ความเครียด โรคซึมเศร้า ได้เลยทีเดียว

ในอีกทางหนึ่ง เทคโนโลยี และโซเชียลมีเดียยังเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของเด็กยุคใหม่แบบพรากกันไม่ได้ เด็กๆ ยุคนี้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องการเข้าถึงนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว เด็กทุกคนสามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการในแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

ซึ่งข้อเสียคือบางข้อมูลไม่ผ่านการคัดกรอง ไม่สร้างสรรค์ หรือไม่เหมาะกับเด็กที่อาจขาดวิจารณญาณในการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้โซเชียลมีเดียจึงยากที่จะดูแลภายในขอบเขตเหมือนในอดีตได้ 

ประกอบกับสภาพสังคมที่มีภัยลักษณะใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่คนกลุ่มมิลเลนเนียลส์รู้สึกกังวลเมื่อนึกถึงความเป็นอยู่ของลูกหลานในอนาคตที่อาจตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย ยากจะควบคุมดูแลมากกว่าในอดีต