ผ้าทอต้าน ‘ซึมเศร้า’ ของชาวปกาเกอะญอ

ผ้าทอต้าน ‘ซึมเศร้า’ ของชาวปกาเกอะญอ

อาจไม่หายไปจากใจ แต่การใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ “ผ้าทอปกาเกอะญอ” ก็บรรเทาภาวะ “ซึมเศร้า” ให้พวกเขากลับมามีรอยยิ้มได้อีกครั้ง

หุบเขาสูงชันที่รายล้อมอำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นดั่งป้อมปราการที่แบ่งแยกพื้นที่แห่งนี้ให้ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึง วิถีชีวิตของสตรีปกาเกอะญอที่นี่ยังโดดเดี่ยวอ้างว้างจากการใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการทำงาน ดูแลบ้าน และเลี้ยงลูก ประกอบกับเพศสภาพของผู้หญิงปกาเกอะญอยังถูกจำกัดทั้งในเรื่องการศึกษาและการพัฒนาอาชีพ ทำให้ผู้หญิงส่วนมากไม่ได้รับการศึกษา บางคนพูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่มีงานทำและไม่กล้าออกจากหมู่บ้านไปทำงานต่างพื้นที่ ความเหงา ความสิ้นหวังและการขาดแคลนรายได้ กลับกลายเป็นความเครียดที่กัดกร่อนให้สตรีปกาเกอะญอจำนวนมากต้องเผชิญกับ โรคซึมเศร้า

“สตรีปกาเกอะญอในพื้นที่ส่วนมากยังเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ใช้ชีวิตทำงานอยู่บ้าน เลี้ยงลูก แทบไม่มีโอกาสออกไปไหนเลย บางคนส่งลูกไปเรียนในเมือง รายได้ไม่พอ ว่างเว้นจากการทำเกษตรจะทอผ้าขาย อยู่กันอย่างเงียบเหงา เมื่อก่อนนี้เป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ ส่วนชาวบ้านในพื้นที่จะทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ถั่วดิน ถั่วลิสง และปลูกผักแทบทุกครัวเรือน ซึ่งข้าวจะปลูกไว้กินเอง ถ้าเหลือก็ขาย ส่วนผักเน้นปลูกไว้ขาย คนที่มีรถยนต์ก็จะนำไปขายในเมือง คนที่ไม่มีรถชาวบ้านก็ช่วยกันรับซื้อไปขายต่ออีกที จะมีรายได้ในช่วงหน้าฝนที่ผักงอกงาม แต่พอหน้าแล้งแทบไม่มีรายได้เลย เพราะว่าไม่มีน้ำ” อานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย จังหวัดเชียงใหม่ เล่า

เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในหน่วยงานพัฒนาอาชีพในชุมชนภาคเหนือ ได้ริเริ่มจัดทำ โครงการพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

อานันต์ศรี เล่าต่อว่า “ผู้หญิงปกาเกอะญอบางคนด้อยโอกาสมาก เสื้อผ้าจะใส่ยังไม่มี จะซื้อฝ้ายมาทอผ้าเองก็ไม่มีเงิน และด้วยเราเองเป็นผู้นำชุมชน อยากหางานอะไรที่ช่วยสร้างรายได้ มีกิจกรรมให้ได้มาทำร่วมกัน เพื่อสร้างรอยยิ้ม สร้างความสุขให้แก่พวกเขาได้บ้าง โชคดีได้มารู้จัก กสศ. จากการแนะนำของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เลยลองยื่นข้อเสนอโครงการฯ เข้าไป หวังไว้ว่าจะช่วยเหลือกลุ่มสตรีปกาเกอะญอให้มีรายได้เสริม มีงานทำ”

161345107278

  • ฝึก ‘กระบวนการทอผ้า พัฒนาอาชีพ

วิถีชีวิตดั้งเดิมของของสตรีปกาเกอะญอส่วนมาก ยามว่างหลังการทำงานจะใช้เวลากับการทอผ้าเพื่อถักทอเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน หากมีผ้าทอเหลือจะขายให้แก่นักท่องเที่ยวบ้างเพื่อเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว แต่ยังเป็นรายได้ที่น้อยนัก เพราะสตรีปกาเกอะญอทอผ้าด้วย “กี่เอว” เป็นเครื่องทอขนาดเล็กที่สืบทอดมาแต่โบราณ ตัวผ้าทอจะมีหน้าแคบ ทำให้ใช้เวลานานกว่าจะถักทอได้สักผืน ขณะเดียวกันการเข้ามาของเสื้อผ้าแฟชั่นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้สตรีปกาเกอะญอรุ่นใหม่เริ่มทอผ้าไม่เป็น ดังนั้นด้วยฐานของชุมชนและต้นทุนภูมิปัญญาที่พอมีอยู่เดิมทำให้ “การทอผ้า” คือเป้าหมายหลักในการส่งเสริมอาชีพของโครงการฯ

“เรามองจากงานถนัดที่สุดของคนในพื้นที่ก่อน นั่นคือการทำเกษตรกับทอผ้า เลยคิดว่าการทอผ้าจะเป็นอาชีพเสริมที่ต่อยอดให้กลับกลุ่มสตรีปกาเกอะญอได้ อย่างเดิมทีเขาทอผ้าถุงขายได้ทีละผืน แต่หากเราสามารถนำกี่ใหญ่มาให้ สอนให้ทอเป็น จะทอผ้าได้ทีละหลายเมตร นำไปตัดเป็นผ้าถุงได้ 10-20 ผืน เวลามีคนมาดูงาน ก็มีจะมีคนซื้อ ซึ่งก็จะมีรายได้มากขึ้น ที่สำคัญทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องทอผ้าใส่เอง เริ่มจะทอผ้าไม่ค่อยเป็นแล้ว”

ในการดำเนินโครงการฯ วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อยได้ตั้งเป้าส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ครอบคลุมทั้ง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่แดด ตำบลบ้านจันทร์ และตำบลแจ่มหลวง จำนวนตำบลละ 50 คน รวมเป็น 150 คน

“ตอนแรกมองว่าจะทำที่ตำบลแม่แดดที่เดียว แต่ก็คิดว่าตำบลอื่นจะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะแต่ละตำบลก็มีผู้ด้อยโอกาสเยอะ เริ่มต้นการทำงานได้ประสานผ่านผู้นำชุมชนในแต่ละตำบล เช่น ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำศาสนาคริสต์ เพื่อไปจัดประชุมแนะนำโครงการฯ และถ้ามีคนสนใจก็ให้กรอกใบสมัครทิ้งไว้ที่ผู้ใหญ่บ้าน ปรากฏว่ามีสตรีปกาเกอะญอให้ความสนใจเยอะ มาสมัครเข้าร่วมครบจำนวนทั้ง 3 ตำบล”

เมื่อรวมกลุ่มเป้าหมายได้ครบ ถึงเวลาเดินหน้าจัดอบรม ‘กระบวนการทอผ้าซึ่ง อานันต์ศรี วางกลยุทธ์การทำงานด้วยการจัดอบรมหมุนเวียนไปทีละหมู่บ้าน เพื่อลดปัญหาการเดินทางของผู้ด้อยโอกาส พร้อมทั้งจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายใน 25 อำเภอ มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ในแต่ละเรื่อง โดยกิจกรรมแรกเริ่มที่ “การย้อมสีธรรมชาติ”

“อันดับแรกสอนเรื่องการย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติก่อน เชิญคุณแก้ว จันทร์แก้ว จากอำเภอสะเมิงมาเป็นวิทยากร” อานันต์ศรีกล่าวและเล่าถึงขั้นตอนการทำว่า วัตถุดิบที่นำมาใช้ย้อมสีจะใช้ของที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้าน เช่น เปลือกมะม่วง ขมิ้น เพกา เปลือกก่อ ดิน ปลีกล้วย เป็นต้น ซึ่งพืชบางชนิดเป็นสมุนไพรที่ไม่เพียงให้สีสวยงามแต่ยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคด้วย

“ผ้าฝ้ายที่ย้อมฮ่อมเมื่อเอามาโพกหัว จะทำให้หัวเย็น ลดอาการปวดหัว แต่ถ้าเป็นผื่นจะใช้รากเคาะเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่ช่วยลดผื่นคันได้” อานันต์ศรี เล่าถึงองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่ได้รับสืบทอดมา

เส้นด้ายย้อมสีธรรมชาติปลอดสารพิษหลากสีสันพร้อมแล้วสำหรับการถักทอ ซึ่งกิจกรรมการอบรมทอผ้าจะแบ่งออกเป็นการทอผ้ากี่เอวแบบดั้งเดิม และการทอผ้ากี่ใหญ่เพื่อต่อยอดศักยภาพในการผลิตของชุมชน

“การทอกี่เอวจะสอนกันเอง และมีคุณแก้ว จันทร์แก้ว ช่วยสอนด้วย แต่ถ้าเป็นกี่ทอใหญ่ เราไม่มีความรู้ ไม่มีพื้นฐานเลย จะเชิญคุณลุงสมบูรณ์มาช่วยเป็นวิทยากร สาเหตุที่อยากส่งเสริมทักษะการทอกี่ใหญ่เพราะว่าการทอกี่เอวใช้เวลานาน 3-4 วันกว่าจะได้ 1 ผืน ถ้าทอกี่ใหญ่ได้จะได้ผ้าทีละหลายเมตร ขายได้มากขึ้น ซึ่งการอบรมทอผ้าจะลงไปจัดอบรมทีละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 5 วัน ในการอบรมจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ สอนตั้งแต่ปั่นด้าย ม้วนด้าย กรอด้าย ขึงด้าย และใส่ตะกรอ ใส่ฝือ และการทอ ซึ่งตอนนี้สตรีปกาเกอะญอที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกคนทอได้หมดแล้ว ไม่มีพื้นฐานเลยก็ทอได้ แถมยังเป็นวิทยากรต่อได้ด้วย”

161345107125

  • ‘สร้างสรรค์ปั้นลาย’ ตัดเย็บเพิ่มมูลค่า

เสน่ห์ของผ้าไทยใช่เพียงการถักทอเส้นฝ้ายหรือไหมย้อมสีธรรมชาติอย่างประณีตละเอียดลออ แต่ลวดลายที่เกิดจากการขัดกันของเส้นด้ายหรือลายปักคือความงดงามอันเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่

อานันต์ศรี เล่าว่า นอกจากสอนทอผ้าสีพื้นแล้ว ยังเชิญวิทยากรจากภายนอกมาสอนเรื่องการออกแบบลายผ้ากะเหรี่ยงโบราณซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วย ทั้งนี้เพราะสตรีปกาเกอะญออายุ 20-30 ปีที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกว่าครึ่งหนึ่งยังทอผ้าและทำลายผ้าไม่เป็น จึงสอนทั้งการทำลายผ้าทอ รวมถึงการปักลายบนผ้าที่ทอเสร็จแล้วด้วย

“ลายผ้าทอจะมีลายกะเหรี่ยงโบราณ ลายก้นหอย ลายดอกบัวตอง บางผืนจะเป็นลายปัก เช่น ลายมะเขือพวง นอกจากนี้ผ้าทอกะเหรี่ยงจะนิยมการปัก มีการนำลูกเดือยมาร้อยประดับ เชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงในชีวิต เพราะลูกเดือยจะคล้ายๆ กับเมล็ดข้าว ตามความเชื่อและวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน”

พร้อมกันนี้เพื่อส่งเสริมต่อยอดผ้าทอกะเหรี่ยงสู่ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อยยังอบรมความรู้เรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า รวมทั้งยังมีเครือข่ายในพื้นที่มาช่วยสนับสนุนความรู้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และช่องทางจำหน่ายสินค้าและการตลาดให้แก่กลุ่มสตรีผู้ด้อยโอกาสด้วย   

“พอได้ผ้าทอเป็นผืนจะสอนให้ตัดเย็บเป็นเสื้อ กระโปรง จากนั้นก็มาดูเรื่องของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำการตลาด ก็เชิญวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (พช. เชียงใหม่) มาช่วยให้คำแนะนำ ทั้งการออกแบบ ดีไซน์แบรนด์ การตลาด สอนตั้งแต่การถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ว่าต้องจัดวางอย่างไรให้สวยงาม นอกจากนี้ยังมี กศน. มาช่วยทำเพจเฟซบุ๊คในชื่อสินค้าชุมชนบ้านแม่แดดน้อย เพื่อเป็นช่องทางการขายด้วย”

สิทธิคุณ สุภาปรีดากุล ผู้รับผิดชอบเพจเฟซบุ๊คสินค้าชุมชนบ้านแม่แดดน้อย เล่าเสริมว่า ตอนนี้พยายามนำสินค้าที่มีมาถ่ายภาพ และอัพโหลดภาพสินค้าขึ้นไว้ที่เพจ ผู้ที่สนใจสินค้าสามารถติดต่อผ่านทางข้อความเพจเฟซบุ๊คได้โดยตรง นอกจากนี้ยังมีไลน์ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ เช่น วางขายที่โฮมสเตย์ชุมชน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเรื่อยๆ หรือเวลามีคนมาดูงานจะซื้อเยอะ แล้วก็มีไปวางขายในบูธงาน OTOP ด้วย สำหรับผ้าทอที่ขายมีหลายแบบ หลายราคา ตั้งแต่ 199-1,500 บาท โดยผ้าทอที่มีราคาแพงจะเป็นเสื้อที่มีการปักลายด้วยมืออย่างละเอียด

นอกจากนี้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อยยังพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยการส่งเสริมกลุ่มสตรีผู้ด้อยโอกาสที่เข้าร่วมโครงการฯ นำต้นทุนความรู้และวัตถุดิบที่มีมาจัดทำ หน้ากากอนามัยแบบผ้า ซึ่งนอกจากจะตัดเย็บไว้ใช้เองแล้วยังผลิตเพื่อจำหน่ายได้อีกด้วย

“ช่วงโควิด-19 ที่หน้ากากอนามัยหายาก ก็ลองนำผ้าและเศษผ้าที่มีมาลองทำกัน ปรากฏว่ามีคนสนใจสั่งเข้ามาเยอะทั้งจากคนในพื้นที่และหน่วยงานเครือข่าย ทั้ง กสศ. และโรงพยาบาล ตอนนั้นก็กระจายไปช่วยกันทำทั้ง 3 ตำบล ใครเย็บจักรไม่เป็นก็สอนเย็บจักรด้วย ทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามา” อานันต์ศรี เล่า

161345107296

  • ‘เดปอถู่’ ผลิตภัณฑ์สัมพันธ์วิถีชีวิต

ไม่เพียงการส่งเสริมการทอผ้าเพื่อสร้างรายได้เสริมแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มรายได้ให้กับสตรีผู้ด้อยโอกาสได้คือ “การลดรายจ่ายในครัวเรือน” ด้วยการทำของใช้เพื่อใช้เอง ซึ่งวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อยเริ่มต้นจากสิ่งของสิ้นเปลืองมากที่สุด นั่นคือการผลิต “น้ำยาล้างจาน” และ “น้ำยาซักผ้า”

อานันต์ศรี เล่าว่า ความตั้งใจคืออยากช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กลุ่มเป้าหมาย และแบ่งให้คนที่ด้อยโอกาสซึ่งมีอีกมากที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ส่วนสาเหตุที่เลือกทำน้ำยาล้างจานและน้ำยาซักผ้า เพราะว่าเป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวันและใช้กันเยอะ น้ำยาล้างจานใช้ทุกวัน ซักผ้าทุกวัน ส่วนสบู่ แป้ง ใช้น้อย แถมที่ผ่านมาซื้อราคาแพงด้วย น้ำยาล้างจานขวดเล็กนิดเดียว 50 บาท แต่ถ้าเป็นผงซักฟอกราคาจะถูกลงมาหน่อย

ในการอบรมได้เชิญ คุณจำเนียร ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านจากดอยสะเก็ดมาเป็นวิทยากร โดยเริ่มจากการสอนทฤษฎีขั้นตอนการทำน้ำยาซักผ้าและน้ำยาล้างจานอย่างละเอียดหมุนเวียนไปแต่ละหมู่บ้าน จากนั้นให้กลุ่มสตรีผู้ด้อยโอกาสลงมือทำด้วยการซื้อหัวเชื้อมาใช้ร่วมกับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น มะนาว มะกรูด ซึ่งปัจจุบันพวกเขาไม่เพียงผลิตไว้ใช้เองในครัวเรือน แต่ยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “เดปอถู่” ชื่อซึ่งแฝงไว้ด้วยคุณค่าและความหมายของการใช้ชีวิตที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติ

“หมู่บ้านเราให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนปกาเกอะญอเมื่อเด็กคลอดออกมาจะนำรกเด็กบรรจุลงกระบอกไผ่ไปผูกกับต้นไม้ ซึ่งภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า เดปอถู่ เป็นเสมือนสายสัมพันธ์ให้เด็กปกาเกอะญอเติบโตพร้อมกับรักษาต้นไม้ไว้ จึงถูกนำมาใช้ในการสร้างชื่อสินค้าทั้งน้ำยาซักผ้าและน้ำยาล้างของทั้ง 3 หมู่บ้าน”

สำหรับการออกแบบรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ อานันต์ศรี บอกว่า ทาง พช.เชียงใหม่ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือเช่นเดิม โดยน้ำยาซักผ้าและน้ำยาล้างจานของทั้ง 3 หมู่บ้าน จะใช้ชื่อ “เดปอถู่” เหมือนกัน เพียงแต่จะแตกต่างกันในส่วนของผู้ผลิตที่จะระบุชื่อวิสาหกิจชุมชนของหมู่บ้านที่เป็นผู้จัดทำ

“น้ำยาล้างจานขายขวดละ 20 บาท น้ำยาซักผ้า 40 บาท ขวดขนาด 360 มิลลิลิตร ซึ่งถูกกว่าการซื้อจากร้านค้าข้างนอกมาก ยิ่งถ้านำขวดมาเติมเองก็จะยิ่งราคาถูกไปอีก ถือเป็นผลิตภัณฑ์จากโครงการฯ ที่ช่วยลดทั้งรายจ่าย ลดการใช้ทรัพยากร และสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน นอกจากนี้ก็พยายามเติมเรื่องบัญชีครัวเรือนเพื่อลดรายจ่าย แต่ด้วยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ด้อยโอกาสที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จึงเป็นเรื่องยากในการจดบันทึก ก็ต้องคิดหาวิธีใหม่”

อย่างไรก็ดี เมื่อมีสินค้าพร้อมจำหน่าย “การวางแผนบริหารจัดการรายได้” เป็นเรื่องสำคัญ อานันต์ศรี เล่าว่า ปัจจุบันการขายสินค้าจะมีทั้งแบบขายด้วยตนเอง หรือเป็นการบริหารโดยแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งในกลุ่ม 50 คนจะมีประธาน รองประธานที่เข้ามาช่วยกันดูแลอีกทีหนึ่ง

“ตอนนี้แต่ละหมู่บ้านจะบริหารจัดการสินค้าในกลุ่มของตนเอง ส่วนเราจะมาต่อยอดดูแลที่บ้านแม่แดดน้อยเป็นหลัก สำหรับเรื่องการจำหน่ายสินค้าตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น ไม่ได้ขายจริงจัง แต่หากมีรายได้เข้าเบื้องต้นวางแผนว่าจะมีการหักเงินส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มส่วนหนึ่งเพื่อออมทรัพย์ ไว้ใช้เป็นทุนการผลิต หรือต่อยอดเป็นสวัสดิการ เป็นเงินไว้ให้สมาชิกใช้เวลาฉุกเฉิน”

161345107185

  • สร้างรอยยิ้ม สร้างสุข เพื่อชุมชนเข้มแข็ง

ความสำเร็จของโครงการพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ทุกวันนี้ ไม่เพียงช่วยให้สตรีปกาเกอะญอผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทอผ้าเพื่อสร้างรายได้เสริมได้เกือบทุกคนแล้ว การได้พบปะทำกิจกรรมร่วมกันยังนำมาซึ่ง “รอยยิ้ม” และ “ความสุข”

“ม่วนอยู่” คำตอบจากใจของ รสสุคนธ์ เมืองใจ สตรีปกาเกอะญอ อายุ 48 ปี เมื่อเอ่ยถามถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เธอบอกว่า จากเดิมที่อยู่บ้าน ไม่เจอใคร ไม่มีรายได้ พอได้มาเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้สนุก ไม่เหงา และแม้เดิมจะพอทอผ้า เย็บผ้าเป็นแต่ก็ไม่ชำนาญ พอได้เรียนทอผ้า ก็รู้ขั้นตอน เทคนิคต่างๆ ที่ช่วยให้ทอผ้าได้ดีขึ้น ที่สำคัญยังได้ฝึกทั้งการตัดเย็บเสื้อผ้า ทำหน้ากากอนามัย ตอนนี้ทอผ้าขายได้แล้ว 4-5 ผืน มีตั้งแต่ราคา 100-600 บาท ถ้าผืนใหญ่จะขายได้ราคาหน่อย ก็ดีใจที่มีรายได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับ สุใจ ไสวชาวดอย สตรีปกาเกอะญอ อายุ 37 ปี เล่าว่า สนุกมากที่ได้มาร่วมโครงการฯ ได้พบเจอพูดคุยกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่แต่บ้าน ตอนเข้าโครงการฯ อยากทำเสื้อสวยๆ ได้เหมือนคนอื่น ตอนนี้พอทำได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำขาย เริ่มจากทำกระเป๋าก่อน ยังขายได้ไม่มาก ประมาณ 5-6 ใบ มีคนสั่งมาแล้วก็ค่อยทำ ตอนที่ขายใบแรกได้ดีใจมาก มีรายได้เพิ่มขึ้นมาจากเมื่อก่อนที่ไม่มีเลย

นอกจากนี้ สตรีปกาเกอะญอหลายคนเปิดใจยอมรับว่า โครงการฯ นี้ทำให้พวกเธอได้องค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างมาก และสิ่งที่มีคุณค่ากว่านั้นคือการได้การได้สืบทอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นตนเอง

161345107289

อรวรรณ สมดุลย์คณาสิน สตรีปกาเกอะญอ อายุ 32 ปี เล่าว่า ชอบที่ได้เรียนเรื่องการย้อมสีธรรมชาติ แต่ก่อนไม่เคยย้อมสี ย้อมไม่เป็น เมื่อก่อนตอนที่ทอผ้าจะไปซื้อด้ายที่ย้อมสีเรียบร้อยแล้ว เป็นสีเคมี แต่สีธรรมชาติจะสวยกว่า นุ่มกว่า และใส่สบายด้วย

“ที่ได้เรียนรู้มากคือลายผ้า ปกติทอผ้า แต่ว่าไม่รู้จักลายโบราณ รู้จักแต่ลายใหม่ๆ ออกแบบใหม่ มาร่วมโครงการฯ ทำให้ได้ฝึกทอลายโบราณที่เป็นภูมิปัญญาของเรา ตอนนี้เริ่มทำเสื้อขาย ปักลายเอง จะใช้เวลานานหน่อยเพราะว่าต้องละเอียด ขายได้ตัวละ 700 บาท ซึ่งขายได้ 2 ตัวแล้ว ดีใจมาก เริ่มมีคนสั่งอยู่แต่ว่ายังไม่มีเวลาทำเพราะว่าช่วงนี้ต้องทำนา”

ด้าน อัมพร อมรนาถวิชิต สตรีปกาเกอะญอ อายุ 32 ปี เล่าว่า นอกจากการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในการทอผ้า ทั้งการออกแบบลายและการตัดเย็บแล้ว ก็ชอบที่ได้ทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า แต่ก่อนได้แต่ซื้อใช้ ราคาแพง แต่พอตอนนี้ทำเองได้ ก็ช่วยลดรายจ่ายไปได้มาก เพราะว่าแต่และวันต้องใช้น้ำยาล้างจานเยอะ ซักผ้าเยอะ

สำหรับ อานันต์ศรี ผู้ริเริ่มบุกเบิกโครงการฯ เธอบอกว่า แม้วันนี้สตรีปกาเกอะญอยังสร้างรายได้เสริมได้ไม่มาก เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่สัมผัสได้ในทุกครั้งที่จัดกิจกรรมหรือพบเจอกัน ทำให้รู้สึกภูมิใจว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายไปกว่านั้นคือ “ความเข้มแข็งในชุมชน”

“ความสุขของคนในชุมชนตอนนี้โอเคเลย แต่ว่ารายได้อาจจะยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ผลักดันกันต่อไป เพราะว่าไม่มีฐานมาเลย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือชุมชนเข้มแข็ง กลุ่มแม่บ้านเข้มแข็งมาก มีความสามัคคี รักกัน เดี๋ยวนี้เวลาเรียกประชุมมาเพียบ เมื่อก่อนมาบ้างไม่มาบ้าง พอได้รับความร่วมมือ การพัฒนาจะคล่องตัวไปได้เร็ว ซึ่งตอนนี้ทุกคนเก่งแล้ว มีวิชาชีพติดตัว ดีใจที่ผลักดันกันมาถึงจุดนี้ได้ แต่ขณะเดียวกันจะเริ่มก้าวไม่ได้เลยถ้าไม่มีการสนับสนุนของ กสศ. อยากจะบอกว่า โครงการนี้ดีมาก เป็นโครงการที่ดีและให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาสให้หลุดพ้นจากปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยุติธรรมให้กับสตรีในสังคม”

แน่นอนว่ากว่าจะดำเนินโครงการฯ มาจนเริ่มเห็นผลความสำเร็จในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งนอกจากความมุ่งมั่น เสียสละ และทุ่มเทในการทำงานของทีมวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อยแล้ว อานันต์ศรี บอกว่า เคล็ดลับสำคัญในการพัฒนาชุมชน คือความเข้มแข็งของผู้นำ การเปิดใจ และการรู้จักวางคนให้ถูกกับงาน

“ในฐานะผู้นำชุมชน เราต้องเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นก่อน ต้องเข้มแข็ง จะอ่อนแอไม่ได้ โดยส่วนตัวไม่อยากให้เขาเห็นความอ่อนแอของเรา เขาเดือดร้อนมา ก็ต้องเป็นหลักที่จะช่วยเขา ส่วนในการทำงานต้องรู้จักเรียนรู้ความรู้สึกคนด้วย เพราะคนในแต่ละหมู่บ้านไม่เหมือนกัน นิสัยไม่เหมือนกัน ต้องปรับตัวตลอดเวลาว่าไปบ้านนี้ควรพูดอย่างไร เล่นแบบไหน นอกจากนี้ต้องรู้จักสังเกตคน ทีมงานคนนี้ถนัดเรื่องอะไรบ้าง เหมาะจะทำงานด้านไหน ต้องวางคนให้เหมาะกับงานเพราะจะทำให้งานลุล่วงได้เร็ว”