ก.ล.ต. เตรียมเฮียริ่งก.พ.นี้ คุมสเปค“นักลงทุน”คริปโต

ก.ล.ต. เตรียมเฮียริ่งก.พ.นี้ คุมสเปค“นักลงทุน”คริปโต

ก.ล.ต.รับลูก “อาคม” รุกคุมความเสี่ยง“คริปโตเคอรเรนซี่”เตรียมทำประชาพิจารณ์กำหนดคุณสมบัตินักลงทุนทั้งอายุ รายได้ และ วงเงินลงทุน “รื่นวดี”ชี้ไม่ได้จำกัดการลงทุน ประเมินแนวโน้มมูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิ ทัลโตแรงหลังสถาบันเข้ามาลงทุนมากขึ้น

จากสถานการณ์ “สินทรัพย์ดิจิทัล”ในช่วงนี้มีความผันผวนสูงโดยเฉพาะเหรียญ“บิทคอยน์” ที่ตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค. 2563 ถึงต้นปี 2564 ราคาพุ่งทะลุ 1 ล้านบาทต่อ1 บิทคอยน์ เป็นแรงกระตุ้นชั้นดีที่ให้นักลงทุนหน้าใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวนมากเข้ามาลงทุนแสวงหาผลตอบแทนมากขึ้นสถิติการเปิดบัญชีเพื่อซื้อขาย คริปโตเคอเรนซี่ของคนไทยในช่วงต้นปี 2564 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว หรือเพิ่มจาก 1.5 แสนบัญชีเมื่อปลายปีก่อนเป็นมากกว่า 4.69 แสนบัญชีในเดือนม.ค.2564

กระแสความร้อนแรงของราคาและจำนวนผู้เล่นในไทยที่มากขึ้นนั้น ทำให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเป็นห่วง และสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรพัย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เข้ามาดูแลและให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักลงทุน

ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.เตรียมพิจารณาถึงแนวทางกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเท่าทันต่อพัฒนาการของธุรกิจและสภาพการณ์ปัจจุบันให้เทียบเคียงมาตรฐานสากล พร้อมยกระดับการกำกับดูแลในเรื่องสำคัญให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ก.ล.ต. พบพฤติกรรมใหม่ของผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ในช่วงเวลานี้ มีกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 20 ปีและคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี เข้ามาลงทุนบิทคอยน์หรือเหรียญอื่นๆจำนวนมาก

ดังนั้นก.ล.ต.กำลังมีแนวคิดว่า ควรมีการกำหนดคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นการคุ้มครองดูแลผู้ลงทุน และช่วยจำกัดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน คาดว่าจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการได้ภายในเดือน ก.พ.นี้

สำหรับเกณฑ์ที่ใช้กำหนดว่าคนกลุ่มไหนเข้ามาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้หรือไม่ได้ อาทิเช่น อายุ รายได้ขั้นต่ำ มูลค่าเงินลงทุน หรือจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมาก่อน และมีฐานะการเงินที่มีความสามารถในการลงทุนอยูาแล้วเช่น มีรายได้และมีเวลธ์อยู่จำนวนหนึ่งอยู่แล้ว

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเป็นห่วงในประเด็นนี้ ซึ่งก.ล.ต. มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลความเสี่ยงของผู้ลงทุน เราก็มีความห่วงใยกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีความรู้ความเข้าใจจริงๆหรือไม่ รู้ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เพราะการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอาจไม่ได้สวยงามตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อสินทรัพย์ดิจิทัล มีความเสี่ยงเกิดขึ้น เราก็ควรจะรู้หน้าตาผู้ลงทุนแต่ไม่ได้จำกัดการลงทุน”

ระยะสั้นปรับเกณฑ์ไอซีโอ

นอกจากนี้ เมื่อมีพัฒนาการทางเทคโนโลยี หลักทรัพย์ก็สามารถออกเป็นอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัลได้ เช่น การออกหลักทรัพย์เป็นโทเคนที่อยู่บนบล็อกเชน ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแล พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จึงกำหนดว่า เมื่อเป็นหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ แล้ว จะไม่ถือเป็นโทเคนดิจิทัลตามพ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯอีก

หาก investment token ที่เสนอขายเข้าลักษณะของหลักทรัพย์ เช่น หุ้นกู้ หรือ REITs แม้จะออกเป็นโทเคนที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะถือเป็นหลักทรัพย์ประเภทนั้น ๆ และถูกกำกับดูแลภายใต้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ดี หากลักษณะของโทเคนที่เสนอขายไม่เข้าหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง ก็จะเป็นโทเคนดิจิทัลภายใต้พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ดังนั้น ก.ล.ต.มีแผนที่จะปรับเกณฑ์การกำกับดูแลในประเด็นดังกล่าว

นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า สำหรับแผนงานระยะสั้น ก.ล.ต.จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ICO ให้เทียบเคียงได้กับหลักทรัพย์ คาดว่าจะมีผลใช้บังคับภายในไตรมาส 1 นี้ เนื่องจากการออก ICO ที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจตอนนี้ จะเป็น asset-backed ICO ซึ่งหลายๆกรณีมีความคล้ายกับหลักทรัพย์ เช่น real estate-backed ICO กับทรัสต์เพื่อการลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์ (REITs)หรือ loan-backed ICO (การนำบัญชีลูกหนี้มาเป็นสินทรัพย์อ้างอิงในการออก ICO) และหุ้นกู้ securitization เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดความเลื่อมล้ำในการกำกับดูแล และเพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสมกับลักษณะและความเสี่ยงของ asset-backed ICO แต่ละลักษณะ

ระยะกลางรื้อพ.ร.บ.หลักทรัพย์

ขณะที่แผนงานระยะปานกลาง คือ การปรับปรุง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ทั้งหมด 11 เรื่อง ได้แก่ 1. การปรับปรุงการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ให้มีความชัดเจน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปตามแนวทางสากลและสอดคล้องกับต่างประเทศ 2.การกำกับดูแลผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีให้มีประสิทธิภาพ โดยให้ความเห็นชอบของสำนักงานสอบบัญชีและปรับปรุงลักษณะความผิดและบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสม

3.การตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีโบรกเกอร์ 15 รายที่สามารถจัดตั้งได้ และในอนาคตเปิดกว้างขึ้น 4.การเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนโดยสะท้อนถึงผู้มีอำนาจควบคุมที่แท้จริงโดยพิจารณาถึงจำนวนสิทธิ์ออกเสียงและปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น 5.การจัดตั้งสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางองค์กรข้างตลาดทุนในการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนและปฎิบัติการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุนโดยการยกระดับสถานะของสภาธุรกิจตลาดทุนเป็นนิติบุคคลตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

6. ตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์จะปรับปรุงโครงสร้างศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปการกำกับดูแลกรรมการผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่องรวมทั้งยกระดับการกำกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

7. เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายด้วยการพิจารณามาตรการลงโทษที่เหมาะสมกับลักษณะและความร้ายแรงของการกระทำผิดเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดได้ 8.การคุ้มครองพยานจะเพิ่มกลไกการให้ความคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบการกระทำผิดทำให้สำนักงานมีช่องทางได้รับข้อมูลและพยานหลักฐานสำคัญและการกำหนดให้พนักงาน ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีตลาดทุนที่กระทบวงกว้าง

9.กองทุนเยียวยาผู้ลงทุนอยู่ในระหว่างศึกษาแนวทางการปรับปรุงกฎหมายรองรับการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมในตลาดทุน 10.โครงสร้างองค์กรกำกับดูแลตลาดทุนเพื่อให้สามารถรองรับพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงในตลาดทุนและมีความเป็นกลางตลอดจนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 11. เปิดการข้อมูลในรูปแบบออนไลน์

4-5รายจ่อขายไตรมาส 2

ทางด้านแนวโน้มและสภาพตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า การออก ICO ในตลาดแรกจะต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการ ICO ที่จะระดมทุนและเสนอขายต่อผู้ลงทุน ในปัจจุบันมี ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. จำนวน 4 ราย ได้แก่ Longroot, T-Box, SE Digital และ BiTherb ซึ่งทั้ง 4 รายได้มาหารือกับ ก.ล.ต. ถึงแผนการที่จะออก ICO โดยมีจำนวนประมาณ 10 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีที่ผู้สนใจจะประกอบธุรกิจเป็น ICO portal โดยอยู่ระหว่างหารืออีกประมาณ 6 ราย

โดยช่วงเริ่มแรกผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจเป็น ICO Portal และระดมทุนโดยการออก ICO จะมีลักษณะเป็น Fintech/Tech Companies หรือ Startups อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2562 เมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในตลาดทุนมากขึ้น ผู้เล่นเดิมฝั่งหลักทรัพย์ก็ต้องปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ และให้ความสนใจจะประกอบธุรกิจเป็น ICO Portal และ/หรือระดมทุนโดยการออก ICO มากขึ้น

แนวโน้มในปี 2564 ก.ล.ต. คาดว่าจะเห็นผู้เล่นเดิมฝั่งหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทจดทะเบียน เข้ามาเล่นในฝั่งสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น และคาดว่าจะมีจำนวน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งน่าจะได้เห็นการออก ICO เกิดขึ้นในประเทศไทย

ขณะที่ รูปแบบของ ICO ที่จะออกเสนอขาย ก็จะมีแนวโน้มเช่นเดียวกับต่างประเทศจากเดิมที่มีลักษณะเป็นการระดมทุนไปพัฒนาโครงการ (project-based ICO) มาเป็นการนำสินทรัพย์มาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัล (tokenization) หรือการออกโทเคนดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อ้างอิง (asset-backed ICO) ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ที่มาหารือกับ ก.ล.ต. จะเป็นการออกเสนอขาย ICO ที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed ICO)

ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 ภาคเอกชนมีความสนใจจะระดมทุนโดยการออกเสนอขาย ICO มากขึ้น โดยเฉพาะ real estate-backed ICO เนื่องจากต้องการสภาพคล่อง และ ICO ก็เป็นเครื่องมือการระดมทุนที่มีความยืดหยุ่น โดยนอกจากจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนเป็นตัวเงินแล้ว ยังสามารถให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนในการเข้าใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอ้างอิงได้ด้วย เช่น การเข้าพักหรือใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ปีนี้เอกชน 4-5 รายสนใจจะออกแบบ real estate-backed ICO เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างสภาพคล่อง รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 คาดว่าไตรมาส 2 น่าจะเห็นหลักทรัพย์ดิจิทัลชุดแรก ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคาร สำนักงาน คอนโด ที่ต้องการสภาพคล่อง ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท"

มูลค่าตลาดคริปโตฯขยับแรง

นางสาวรื่นวดี กล่าวอีกว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่า มูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีโอกาสเติบโตเทียบเท่ากับมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ด้วยระยะเวลาที่สั้นกว่า จากปัจจัยราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีการปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากการที่มีนักลงทุนหน้าใหม่เริ่มให้ความสนใจเข้ามาลงทุน รวมถึงมีนักลงทุนสถาบันที่กระจายความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง นำเงินไปลงทุนใน บิทคอยน์ ซึ่งให้ผลตอบแทน มากกว่าสินทรัพย์อื่นๆ จำนวนบัญชีที่เปิดกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลก็เพิ่มมากขึ้น

ในฝั่งการเติบโตของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2564 คาดว่า จะมีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ แนวโน้มของผู้ประกอบธุรกิจอาจเปลี่ยนจาก Fintech / Tech Companies หรือ startups มาเป็นผู้เล่นรายใหญ่มากขึ้น อันเนื่องมาจากพัฒนาการของการใช้เทคโนโลยีในตลาดทุน การแข่งขัน และการปรับตัวของผู้เล่นดั้งเดิม รวมทั้งจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปลดล็อคให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันวินาศภัย หรือบริษัทประกันชีวิต สามารถออกลงทุน หรือประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้