'มิว สเปซ' ผนึก'แอร์บัส' ลุยอุตสาหกรรมอวกาศ

'มิว สเปซ' ผนึก'แอร์บัส' ลุยอุตสาหกรรมอวกาศ

มิว สเปซเอ็มโอยูแอร์บัสมุ่งสร้างดาวเทียมและชิ้นส่วนอวกาศ เป็นของตนเอง ดันแผนส่งออกและสร้างเสาหลักเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศ สนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคง ดันมูลค่าบริษัท พุ่งทะยานสู่ 1 พันล้านดอลลาร์

นายวรายุทธ เย็นบำรุง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิว สเปซ คอร์ป เปิดเผยว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้ากิจการทาง อวกาศเชิงพาณิชย์จะมีความเติบโตไปทั่วโลก ซึ่ง มิว สเปซ ได้มองเห็นโอกาสในเรื่องนี้ จึงได้ลงนามความร่วมมือกับแอร์บัสโดย มิว สเปซ จะผลิตชิ้นส่วนในการสร้างดาวเทียม พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ และจากความเข้มแข็ง เพื่อส่งเสริมธุรกิจและสามารถเป็นคู่ค้าในอนาคตได้ 

โดยสาระสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ ครอบคลุมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจระยะไกล (Earth-observation) ระบบการเฝ้าระวังทางอวกาศ (Space Situational Awareness: SSA) กลุ่มดาวเทียมในวงโคจรระดับต่ำ (LEO satellite constellations) การสำรวจดาวเคราะห์ในอวกาศ (Planetary mission) และระบบนำทางด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite Systems หรือ GNSS) 

"แอร์บัสมีความเชื่อมั่นในขีดความสามารถของ มิว สเปซ คอร์ป ว่าเป็นบริษัทเอกชนไทยที่มีศักยภาพ และ มีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่ธุรกิจด้านดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและในระดับโลกได้ ทั้งการผลิตและพัฒนาชิ้นส่วนประกอบดาวเทียม รวมถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศ"

เขา กล่าวอีกว่า ในปี 2564 นี้มิว สเปซจะมุ่งเน้นไปที่ การสร้างและพัฒนาระบบพลังงาน (Power Systems) ตลอดจนระบบอิเล็กทรอนิกส์การบินในอวกาศ (Avionics) เนื่องจาก มิว สเปซ คอร์ป เล็งเห็นว่าระบบดังกล่าวจะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และคาดว่าจะสามารถเริ่มนำมา ใช้งานได้ในไตรมาสที่สองของปีถัดไป ต่อยอดให้เกิดการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศและการส่งออกในปี 2566

การเปิดระดมทุนของ มิว สเปซ คอร์ป ในระดับซีรี่ส์ บี ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก นักวิเคราะห์ด้านการเงินและนักลงทุนต่างเล็งเห็นว่ามูลค่าบริษัทของ มิว สเปซ คอร์ป มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 300 ล้านดอลลาร์ เมื่อเสร็จสิ้นการระดมทุนในครั้งนี้ และมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าจะขึ้นไปอยู่ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการระดมทุนในรอบถัดไป

ด้านนายโจฮาน เปอลิสซิเยร์ หัวหน้าประจำฝ่ายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอร์บัส เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาแอร์บัสได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ด้วยการพัฒนาและส่งดาวเทียม THEOS-1 ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2551 และขณะนี้ก็กำลังพัฒนาดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 อยู่ซึ่งในฐานะผู้นำระบบสำรวจโลกแบบครบวงจรที่มีประสบการณ์ในระดับแถวหน้าของวงการด้านอวกาศแอร์บัสจึงมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยมีความเติบโตได้