‘เจโทร’ หนุนไทยฮับอุตฯ เทคโนโลยีขั้นสูง

‘เจโทร’ หนุนไทยฮับอุตฯ เทคโนโลยีขั้นสูง

‘บริษัทญี่ปุ่น’ หนุนไทยฮับอุตฯเทคโนฯขั้นสูง โดยประธานเจโทรระบุว่า มีความจำเป็นต้องส่งเสริมการค้าระหว่างญี่ปุ่น-ไทยในภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เน้นการผลิตขั้นสูง

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ “อัทสึชิ ทาเคทานิประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ปี2564 ว่า ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจจะอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังเห็นถึงการฟื้นตัวของค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ ( Diffusion Index )หรือดีไอ ในไทยที่กลับมาเป็นบวกในอุตสาหกรรมหลายประเภท และคาดการณ์ว่า ดัชนีดีไอจะปรับตัวดีขึ้นอีก ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564

เจโทร ได้จัดทำรายงานแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย ซึ่งสำรวจสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ประจำปี ปีละสองครั้ง ในครั้งนี้สำรวจบริษัท 607 ราย จาก 1,702 ราย ผลสำรวจในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. 2563 พบว่า ค่าดัชนีดีไอ อยู่ที่ -64 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ปรับตัวมาอยู่ที่ 6 ในช่วงครึ่งปีหลังของปีเดียวกัน และขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ตามตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนีดีไอ โดยจะเห็นว่า การปรับตัวนี้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับค่าดัชนีดีไอในช่วงแรกของปี 63

“ทัศนคติการลงทุนของนักธุรกิจญี่ปุ่น เริ่มเป็นบวกมากขึ้นในปี 2564 ถ้าหากดูจากตัวเลขการลงทุน การส่งออกในตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต และอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจล้วนอยู่ในเกณฑ์ดี” ประธานเจโทร ระบุ

161310037221

ในผลสำรวจชี้ให้เห็นการลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรของอุตสาหกรรมการผลิต พบบริษัทญี่ปุ่นจะลงทุนเพิ่มในปี 2564 คิดเป็น 34% ขณะที่บริษัทที่คาดว่าจะลงทุนคงที่ 28% และบริษัทที่คาดว่าจะลงทุนลดลงมีสัดส่วน25%

ส่วนการส่งออกและตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในอนาคตนั้น การส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (ม.ค. - มิ.ย.)มีบริษัทญี่ปุ่นที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น 41% บริษัทที่คาดว่าการส่งออกคงที่ 43% และบริษัทที่คาดว่าการส่งออกลดลงมีสัดส่วน 16%

ทาเคทานิ มองว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ หากโลกหยุดยั้งไวรัสนี้ได้ ย่อมจะส่งผลดีต่อการลงทุนและการส่งออกของบริษัทญี่ปุ่น โดยเฉพาะแนวโน้มการส่งออกเริ่มกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว และเมื่อดูจากผลสำรวจรายงานนี้ ยิ่งเห็นชัดว่า การส่งออกและการลงทุนยังมีความไม่แน่นอน เพราะพิจารณาตามสถานการณ์ ยังต้องเฝ้าระวัง แต่ส่วนตัวมองว่า ทั้งการส่งออกและการลงทุนจะกลับมาในปีนี้

161310030390

ประธานเจโทรชี้ว่า มีความจำเป็นต้องส่งเสริมการค้าระหว่างญี่ปุ่น-ไทย ในภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เน้นการผลิตขั้นสูง เช่น หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม แมคคาทรอนิกส์ เครื่องจักรผลิตอาหารมากขึ้น

ในช่วงกลางเดือน ก.พ. เจโทรเตรียมจัดงานจับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับภาคอุตสาหกรรมในไทย เป็นเวทีเจรจาธุรกิจออนไลน์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ - ออโตเมชั่น ประจำปี 2564 ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำวงการเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการผลิตระดับโลก กว่า 30 แห่งเข้าร่วมในฐานะผู้จัดแสดง หากรวมมูลค่าทุนจดทะเบียนของบริษัทเหล่านี้ที่ญี่ปุ่นจะมากกว่า 1,500,00 ล้านเยน

นอกจากนี้ เจโทรยังจัดงานจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์ให้กับบริษัทในอุตสหากรรมการผลิตอาหารไทย - ญี่ปุ่น ประจำปี2564 ระหว่างวันที่ 15 - 26 ก.พ.ด้วย

“ญี่ปุ่นเล็งเห็นว่า ภาคการผลิตอาหารมีความสำคัญในไทย ขณะที่ญี่ปุ่นมีเครื่องจักรแปรรูปอาหารที่มีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสริมและสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งได้จึงต้องมีการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิตในไทยให้มากขึ้น” ประธานเจโทรกล่าว

ส่วนภาคบริการในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติ จึงเล็งเห็นลู่ทางธุรกิจการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งญี่ปุ่นหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรคุณภาพสูงของญี่ปุ่นจะมีโอกาสทำตลาดในไทย

ขณะเดียวกัน เจโทรได้ส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของญี่ปุ่นในไทยช่วงโควิด-19 ซึ่งปีนี้เจโทรจะยังคงจัดโครงการแสดงสินค้าตัวอย่างเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของญี่ปุ่น จัดขึ้นตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ไปจนถึงเดือน มี.ค.64 โดยใช้พื้นที่ภายในศูนย์ส่งเสริมธุรกิจของเจโทร จัดแสดงสินค้าตัวอย่างกว่า 50 รายการ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าชม และทดลองสินค้า มีเป้าหมายส่งเสริมการขยายตลาด SMEs ในไทยมากขึ้น นอกจากนี้ เจโทรจะจัดแสดงสินค้าผลไม้ญี่ปุ่นให้ผู้ซื้อชาวไทยในเดือน มี.ค.

161310058474

ปัจจุบันการค้าญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดอาเซียน 15% ขณะที่จีนอยู่ที่ 24% ซึ่งประธานเจโทร มองว่า ไทยเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่สำคัญมากในภูมิภาคอาเซียน นอกจากมีความสัมพันธ์ด้านการค้าที่ยาวนานกับญี่ปุ่นแล้ว ไทยยังเป็นประเทศที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆของอาเซียน

"บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งสนใจที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามายังประเทศไทย เพราะญี่ปุ่นพอใจอย่างยิ่งต่อระบบห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งของไทย ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมจะเป็นผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็งและอยู่ชั้นแนวหน้าของอาเซียน" ทาเคทานิ กล่าว

ประธานเจโทรกล่าวในตอนท้ายว่า เจโทรยังรวบรวมความคิดเห็นและข้อเรียกร้องจากบริษัทญี่ปุ่นในช่วงระบาดของโควิด-19 เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลไทย ส่วนใหญ่ต้องการให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสาธารณูปโภค รองลงมาเป็นการปรับปรุงการบังคับใช้ระบบศุลากรและพิธีการศุลกากร และดำเนินการตามมาตรการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนนี้ นักธุรกิจญี่ปุ่นต้องการให้มีมาตรการผ่อนคลายทางภาษี ลดความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบออนไลน์เพื่อยื่นคำขอต่างๆ รวมทั้งการผ่อนปรนกฎระเบียบใหม่ให้ชาวต่างชาติเข้าออกประเทศ

161310060135