‘Omega Speedmaster’ กว่าจะเป็นนาฬิกาของนักบินอวกาศ

แม้ว่านาฬิกาที่ ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใส่ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง จะไม่ใช่นาฬิกา Made in USA อย่างที่มักใส่กัน แต่นาฬิกาค่ายยุโรปอย่าง Omega รุ่น Speedmaster ที่ ‘โจ ไบเดน’ ใส่ติดข้อมือ ก็ผูกพันกับประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของอเมริกา

ถ้าใครติดตามเรื่องราวของ นาย ‘โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คงจะพอทราบเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้นกับนาฬิกาข้อมือที่ท่านประธานาธิบดีใส่ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ที่เป็นนาฬิกาหรูยี่ห้อดังของค่ายยุโรป ซึ่งโดยปกตินาฬิกาที่ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใส่ในพิธีสาบานตนหรือใส่ติดข้อมือ โดยเฉพาะยุคหลังๆ จะต้องเป็นนาฬิกา Made in USA เช่น Timex หรือ Jorg Gray ของอดีตประธานาธิบดีโอบามา เป็นต้น พอมีประเด็นเรื่องนี้ขึ้น สื่อต่างๆ ในสหรัฐฯ ก็เริ่มหาข้อมูลเรื่องนาฬิกาของท่านประธานาธิบดี จนผู้คนได้รับรู้ว่าจริงๆ ท่านประธานาธิบดีไบเดน เป็นคนชอบนาฬิกา และมีนาฬิกาที่ใส่ติดข้อมือเป็นประจำซึ่งอยู่เรือนหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ใช่ Made in USA แต่ก็ถือว่าเป็นยี่ห้อที่คนอเมริกันรับได้และผูกพัน นั่นก็คือ Omega รุ่น Speedmaster

  • Omega กับ สหรัฐอเมริกา

สาเหตุที่คนอเมริกันรู้จัก Omega อย่างเป็นทางการน่าจะเพราะว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 60 เป็นต้นมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ได้คัดเลือกนาฬิกายี่ห้อนี้เป็นนาฬิกาประจำตัวของนักบินในโครงการสำรวจอวกาศทั้งหมดของ NASA และต่อมาในปี 1969 นาฬิกา Omega ก็ดังระเบิดพร้อมๆ กันกับความสำเร็จของ NASA ในภารกิจ Apollo 11 ที่สามารถนำนักบินอวกาศลงไปเหยียบพื้นผิวของดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกและ Omega ก็เป็นนาฬิกาข้อมือที่นักบินอวกาศใส่ลงไปสร้างประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ชาติครั้งนั้น

และ Omega รุ่นที่นักบินอวกาศใช้ก็คือรุ่น Speedmaster รุ่นเดียวกับที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ใส่ติดข้อมือนั่นเอง  จากความสำเร็จดังกล่าว Omega ก็เพิ่มสโลแกนประจำยี่ห้อและเพิ่มคำสลักลงบนนาฬิการุ่น Speedmaster ว่า “The first watch worn on the Moon” เป็นจุดขายจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเราจะเห็นว่าในโฆษณาของนาฬิกายี่ห้อนี้มักจะมีภาพนักบินอวกาศ หรือยานอวกาศของสหรัฐปรากฎอยู่ด้วยกันจนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของความภูมิใจคู่กับชาวอเมริกันไปแล้ว

  • บททดสอบสุดโหดก่อนท่องอวกาศ

การสรรหานาฬิกาสำหรับนักบินอวกาศนั้น NASA มีมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างดุดันเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะต้องเผชิญในระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์ ทั้งหมดมีด้วยกัน 11 ข้อ แบบดุดัน ซึ่งจะขออนุญาตสรุปพอให้ได้อรรถรสนะครับ ท่านใดที่สนใจแบบละเอียดรบกวนต้องไปอ่านในคู่มือของ NASA อีกทีนะ จริงๆ น่าสนใจแต่ต้องมีความรู้เรื่องมาตรฐานแรงกดอากาศและสูตรคำนวณต่างๆ แบบลึกจริงๆ เอาเป็นว่าผมขอสรุปพอสังเขปตามนี้ครับ

  1. ทดสอบในอุณหภูมิสูง :นาฬิกาจะต้องผ่านอุณหภูมิที่สูงระดับ 70 °C ติดต่อกันเป็นเวลา 48 ชั่วโมงจากนั้นจะเพิ่มอุณหภูมิเป็น 93 °C อีก 30 นาที ภายใต้แรงดัน 5.5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และความชื้นไม่เกิน 15% (อุณหภูมิเฉลี่ยบ้านเรานี่ปกติจะประมาณ 18-38 องศา °C และที่สหรัฐฯ จะประมาณ -8 – 34 °C นะครับ)
  2. ทดสอบในอุณหภูมิต่ำ : นาฬิกาจะต้องผ่านอุณหภูมิ -18 °C เป็นเวลา 4 ชั่วโมง
  3. การทดสอบอุณหภูมิร่วมกับความกดและแรงดันอากาศ : นาฬิกาจะถูกพาไปในหอควบคุมความกดอากาศ คงสภาพในความกดอากาศสูงสุดที่ใกล้เคียงสภาพนอกชั้นบรรยากาศของโลก เพิ่มอุณหภูมิไปที่ 71 °C เป็นเวลา 45 นาทีก่อนที่จะกระชากอุณหภูมิลงมาที่ -18 °C เป็นเวลาอีก 45 นาที ทำกลับไปกลับมาแบบนี้ 15 รอบ
  4. ทดสอบในสภาพอุณหภูมิที่ปรวนแปร : นำนาฬิกาไปอยู่ในหออุณหภูมิที่ปรับให้สวิงไปมาระหว่าง 20 °C กับ 70 °C ในความชื้นและแรงดันอากาศตามมาตรฐาน NASA เป็นเวลา 240 ชั่วโมง
  5. ทดสอบบรรยากาศออกซิเจน : นาฬิกาต้องอยู่ในระดับออกซิเจน 100 % ที่แรงกด 5.5 ปอนด์ต่อตารางนิ้วเป็นเวลา 48 ชั่วโมง โดยที่ทุกชิ้นส่วนของนาฬิกาจะไม่เสื่อมสลาย ไม่ไหม้ไฟ ไม่เป็นสารพิษ ส่งกลิ่นเหม็น
  6. ทดสอบความทนแรงกระชาก : NASA จะจับนาฬิกาใส่ลงในเครื่องทดสอบแรง Shock ในระดับ 40 Gs และพาเคลื่อนไปทุกทิศทุกทางในทุกๆ 11 มิลลิวินาที
  1. ทดสอบความทนทานต่ออัตราเร่ง : อันนี้นาฬิกาจะถูกกระชากขึ้นตามแนวดิ่งจากอัตราเร่ง 1 G ถึง 7.25 G ภายในเวลา 333 วินาที
  2. ทดสอบการบีบอัดในระบบสูญญากาศ : นาฬิกาจะต้องใช้เวลา 90 นาทีในอุณหภูมิ 71 C และอีก 30 นาทีในอุณหภูมิ 93 C พร้อมกำลังอัดเสมือนในอวกาศ
  3. การอดทนต่อแรงดัน : นาฬิกาจะต้องเจอแรงอัดที่ 23.5 ปอนด์ต่อหนึ่งตารางนิ้ว เป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง
  4. ทดสอบแรงสั่นสะเทือน : จับนาฬิกาเข้าระบบเขย่าตั้งแต่แรงสั่นสะเทือน 5- 2000 cps สลับไปมาทุกๆ 5 นาที เป็นเวลา 30 นาที และทำต่อเนื่องกัน 3 รอบ ในค่าแรง G ไม่น้อยกว่า 8.8
  5. ทดสอบความคงทนต่อเสียง : ทุกท่านคงทราบกันอยู่แล้วนะครับว่าคลื่นเสียงมีอานุภาพที่ร้ายแรง ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจ NASA จะต้องนำนาฬิกาไปทดสอบกับเสียงในระดับ 130 เดซิเบล ในคลื่นความถี่ระหว่าง 40 – 10,000 Hz เป็นเวลา 30 นาที

ในวันที่ 1 มีนาคม 1965 การทดสอบทั้งหมดก็เสร็จสมบูรณ์ ‘Omega Speedmaster’ ผ่านการทดสอบเพียงเจ้าเดียวแล้วได้เป็นนาฬิกาของนักบินอวกาศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในความเป็นจริงการทดสอบทั้งหมดไม่ได้ตั้งใจจะให้มีนาฬิกาแบบไหนที่จะผ่านออกมาในสภาพสวยหรู แต่เป็นการทดสอบว่าวัสดุและการประกอบของนาฬิกายี่ห้อไหนจะเสียหายน้อยที่สุดและยังคงเหลือสภาพใช้งานได้ในภารกิจท่องอวกาศ ตามรายงานของ NASA ระบุว่า Speedmaster สูญเสียความแม่นยำเล็กน้อยในห้วงสุญญากาศ และพรายน้ำมีรอยไหม้เมื่อเจอความร้อนสูง แต่ยังอยู่ในสภาพที่ไม่เกิดความเสียหาย ที่

เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่จะโฆษณาสินค้าอะไรนะครับ แค่อยากจะแสดงให้เห็นว่าแค่นาฬิกาเรือนเดียวยังต้องทดสอบกันจริงจังขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นตัวจรวด ตัวยานอวกาศเขาจะต้องทดสอบกันจริงจังขนาดไหนครับ

เลยขอชวนทุกท่านคิดเล่นๆ ดูว่าถ้าเราจะส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายใน 7 ปี ตอนนี้เราควรจะเริ่มตรงไหนก่อนดีครับ