เปิดเหตุยอด'โควิดสมุทรสาคร'ลดฮวบ

เปิดเหตุยอด'โควิดสมุทรสาคร'ลดฮวบ

ศบค.ชี้ยอดโควิด-19 จากคัดกรองเชิงรุกลดฮวบ เหตุก่อนหน้าตรวจในโรงงานใหญ่อัตราติดเชื้อสูง ปัจจุบันเปลี่ยนเป้ามุ่งตรวจโรงงานเล็ก-ในชุมชน เผยคลัสเตอร์แม่ค้าหมู เจอเชื่อมโยง 87 คน อย่างน้อย 5 จังหวัด กำชับนายแจ้งขึ้นทะเบียนแรงงาน ก่อนหมดเขต 13ก.พ.นี้

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 8 ก.พ.2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 186 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 176 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและการสอบสวนโรค 141 ราย ได้แก่ กทม. 3 ราย นครปฐม 1 ราย ปทุมธานี 4 ราย เพชรบุรี 1 ราย และสมุทรสาคร 132 ราย  คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 35 ราย ได้แก่ สมุทรสงคราม 4 ราย และสมุทรสาคร 31 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่มาจากสมุทรสาคร 163 ราย คิดเป็น 92.61% กทม. 3 ราย คิดเป็น 1.71% และจังหวัดอื่นๆ 10 ราย คิดเป็น 5.68% และมาจากต่างประเทศ 10 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม  ผู้ป่วยสะสมรวม 23,557 ราย เสียชีวิตสะสม 79 ราย เฉพาะระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 19,320 ราย เสียชีวิตสะสม 19 ราย ยังรักษาอยู่ 5,831 ราย

     “สัปดาห์นี้มีผู้ติดเชื้อ 7 จังหวัด โดยวันนี้จังหวัดสมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อ 163 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังถึง 132 ราย คือ มีคนจำนวนมากที่เป็นเสี่ยงสูงสัมผัสผู้ติดเชื้อ เดินเข้าไปรับบริการใน รพ. ส่วนการคัดกรองเชิงรุก 31 คน เริ่มลดน้อยลง ไม่ได้หมายความว่าเราทำงานคัดกรองลดลง เนื่องจากช่วง 10 กว่าวันที่ผ่านมา ตรวจในโรงงานขนาดใหญ่มีอัตราติดเชื้อสูงเกิน 10% โดยตรวจวันละเป็นหมื่นรายทำให้เจอผู้ติดเชื้อสูง ส่วนตอนนี้เราเปลี่ยนเป้าหมายใหม่มาที่ยังคัดกรองเชิงรุกในชุมชนและโรงงานขนาดเล็กอัตราติดเชื้อน้อยกว่า 10 % ซึ่งมีประมาณ 50 โรงงาน โดยตรวจวันละ 100-150 ตัวอย่างต่อวันต่อโรงงาน คูณ 50 โรงงาน อยู่ที่ประมาณ 5 พันตัวอย่างต่อวัน”พญ.อภิสมัยกล่าว

0 เจ้าหน้าที่จุฬาฯติดเชื้อ

 

      พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า การติดเชื้อโควิด 19 ใน กทม. 3 ราย เป็นการติดเชื้อในเจ้าหน้าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการสอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ พบว่า มี 9 รายมีแนวโน้มเป็นผู้ติดเชื้อ ขอให้ติดตามรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตาม จุฬาฯ มีการรายงานสอบสวนวงจรการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด เพื่อกำหนดผู้มีความเสี่ยงภายในระยะ 14 วันก่อนวันที่ 6 ก.พ.ที่มีการพบผู้ติดเชื้อ ส่วนผู้ที่พบว่าติดเชื้อหรือสัมผัสเสี่ยงสูง มีมาตรการให้ลาหยุดดูอาการ 14 วัน มาตรการทำความสะอาดพื้นที่ และมีคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด 19 ของจุฬาฯ ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดเพื่อการดูแลอย่างถูกต้อง

          ส่วนการคัดกรองโรงงานใน กทม.ดำเนินการแล้ว 123 แห่ง ตรวจพนักงาน 13,480 ราย พบติดเชื้อ 54 ราย คิดเป็น 0.4% มีการสอบสวนการใช้ชีวิตในโรงงานเพื่อค้นหาจุดจุดเสี่ยงสัมผัส โดยเก็บตัวอย่างเชื้อในจุดสัมผัสต่างๆ พบว่า เจอในอุปกรณ์การทำงาน เช่น จักรเย็บผ้า แต่จุดสัมผัสอื่นๆ เช่น ลูกบิดประตู สแกนนิ้ว ไม่พบเชื้อมีการทำความสะอาดดี

           "กรณีการติดเชื้อของจุฬาฯ หรือพื้นที่โรงงาน เน้นย้ำเสมอว่ามาตรการเฝ้าระวังส่วนบุคคลสำคัญสูงสุด อย่างคอนโด หอพักหลายพื้นที่ก็ทำได้ดี มีการวัดอุณหภูมิ สแกนคิวอาร์โคดก่อนเข้า องค์กรต่างๆ ก็ต้องออกมาตรการดูแลบุคลากรด้วย แม้จะพบผู้ติดเชื้อในสถานที่เหล่านี้ แต่คนเสี่ยงสูง คือ สมาชิกครอบครัวเดียวกันผู้ป่วย การพูดคุยผู้ป่วยเกิน 5 นาที ถูกผู้ป่วยไอจามรด และอยู่สถานที่อับอากาศพูดคุยเกิน 15 นาที ไม่สวมหน้ากกา แต่คนที่พักอาคารเดียวกัน ใช้พื้นที่สาธารณะเดียวกันกับผู้ป่วยไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงสูง แต่ต้องระมัดระวังรักษาความสะอาด ใส่หน้ากากล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่ไปสนทนาเกิน 5 นาที" พญ.อภิสมัยกล่าว

0 คลัสเตอร์แม่ค้าขายหมู

         พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในนครปฐม 1 ราย สมุทรสงคราม 4 ราย และเพชรบุรี 1 ราย ตรงนี้เป็นคลัสเตอร์มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยรายแรกเป็นแม่ค้าขายหมู มีบ้านพักที่อัมพวา สมุทรสงคราม จากการสอบสวนพบว่า เดินทางไปหลายจังหวัด คือ เดินทางไปรับหมู อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ไปขายของที่ตลาดรถไฟ จ.สมุทรสาคร และกลับบ้านพักอัมพวา โดยวันที่ 28 ม.ค. ตรวจพบว่าติดเชื้อ จึงมีการตรวจคัดกรองคนในครอบครัว จึงพบลูกสะใภ้ติดเชื้อวันที่ 30 ม.ค.

          "พฤติกรรมการค้าขายที่เดินทางไปหลายจังหวัด ทำให้มีความเกี่ยวข้องในจังหวัด ตลาด ครอบครัว และชุมชน โดยตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. - 4 ก.พ. 2564 คลัสเตอร์นี้พบการติดเชื้อที่รายงานแล้ว 87 ราย เช่น สมุทรสาคร 22 ราย เพชรบุรี 5 ราย กทม. ราชบุรี และสุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 ราย ส่วนอีก 3 รายไม่สามารถระบุจังหวัดได้ เพราะพบเห็นการเดินทางไปมาข้ามจังหวัด" พญ.อภิสมัยกล่าว

0 กำชับนายแจ้งขึ้นทะเบียนแรงงาน

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า มีการรายงานจากกระทรวงแรงงาน ว่า วันที่ 13 ก.พ. จะเป็นการหมดเขตขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ดังนั้น วันที่ 14 ก.พ. หากยังไม่รายงานถือว่ามีความผิด โดยตัวเลขล่าสุด รายงานตัวแล้ว 416,769 คน มีนายจ้าง 384,102 คน ไม่มีนายจ้าง 32,667 คน ซึ่งมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าว ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสังคมไทย การอยู่ร่วมกันร่วมมือกัน ขอให้นายจ้างทำให้ถูกต้อง เข้ามาอยู่บ้านเราใช้กฎหมายบ้านเราดูแลความปลอดภัยโควิดมาตรฐานเดียวกัน มาตรการอื่นๆที่ศบค.จะประกาศสำหรับผู้มีแรงงานต่างด้าว สถานประกอบการขนาดใหญ่ ทำงานในบ้าน 1-2 ราย มาตรการจะออกมาเป็นระยะขอให้ติดตาม

/////////////////////////////////////