กูรูแนะแบรนด์เพิ่ม ‘ยืดหยุ่น’ รับ ‘ตลาดดิจิทัล’ เปลี่ยนเร็ว

กูรูแนะแบรนด์เพิ่ม ‘ยืดหยุ่น’ รับ ‘ตลาดดิจิทัล’ เปลี่ยนเร็ว

ตลาดดิจิทัล 64 ยังไร้กระบวนท่า สูตร ‘ยืดหยุ่น-ลอง’ เป็นคัมภีร์ช่วยแบรนด์-สินค้า ฝ่ากระแสโลกที่ไม่แน่นอนได้ และที่ขาดไม่ได้ การเข้าใจผู้บริโภคให้มากกว่า "คู่แข่ง" จะเป็นแต้มต่อ รบชนะในสมรภูมิการค้าที่เดือดกว่าเดิม

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทยจำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลชั้นนำของไทย เตรียมจัดงาน “THAILAND ZOCIAL AWARDS 2021” เพื่อยกย่องแบรนด์ที่ทำการตลาด เหล่าคนดังบนโลกออนไลน์ที่สร้างผลงานโดดเด่นประจำปีที่ผ่านมา 

ในงานได้จัดเสวนา How to measure success of social media performance การวัดผลงานความสำเร็จของแบรนด์ คนดังในการสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งกูรู การตลาดดิจิทัล ได้ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้แบรนด์ลับอาวุธลุยต่อปีฉลูที่ไม่ฉลุยง่ายๆอย่างแน่นอน

สโรจ เลาหศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า นาทีนี้แบรนด์ต้องเลิกทำตลาดบนโซเชียลมีเดียทั่วไปหรือ Traditional Social Media Marketing เพราะการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นตลอดเวลาทำให้แบรนด์ต้อง "ยืดหยุ่นกว่าเดิม การทำคอนเทนท์อาจสต๊อกไว้บ้าง หากเนื้อหารายการใดเหมาะกับแต่ละเหตุการณ์จะได้หยิบมาลุยทำตลาดได้ทันกระแส

นอกจากนี้ ที่ต้องเกาะติดให้มั่นคือนโยบายความเป็นส่วนตัวต่างๆ ที่ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล แอปเปิล เฟซบุ๊ก ต่างออกฟีเจอร์การใช้งานที่ตั้งการ์ดไม่ให้ดึงข้อมูลของผู้บริโภคตนเอง จึงเป็นตัวแปร กระเทือนการทำตลาดของแบรนด์อย่างแน่นอน

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในการทำตลาดบนโลกออนไลน์คือแบรนด์หันมาชวนผู้บริโภคพูดคุยหรือสร้าง Conversation Commerce หวังโกยยอดขายหรือผลลัพธ์ทางธุรกิจ เช่น การไลฟ์คุยที่ได้โฆษณาฟรีและนำไปสู่การขายสินค้า จากเดิมเน้นทำคอนเทนท์สร้างการมีส่วนร่วม(เอนเกจเมนต์)

161244576721

มัณฑิตา จินดา

มัณฑิตา จินดา กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง ดิจิทัล ทิปส์ อคาเดมี กล่าวว่า ปีก่อนโลกเผชิญโรคโควิด-19 ระบาด กระเทือนธุรกิจอย่างหนักทำให้เห็นการออกอาวุธทางการตลาด ไร้กระบวนท่าคิดหาวิธีการ กลยุทธ์ใหม่ๆเพื่อค้าขายสินค้าและเอาตัวรอดวิกฤติให้ได้

ส่วนแนวโน้มปี 2564 จะเห็นแบรนด์ทำตลาดเชื่อมแพลตฟอร์มออนไลน์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น กล้าเปิดใจทดลองใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ จากที่ผ่านมาอาจลังเล เพราะดูความเหมาะสมกับแบรนด์และผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายหรือไม่

ปีนี้เป็นปีที่ความไม่แน่นอนสูงมาก ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ยึดติดแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แบรนด์จึงต้องลองใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ยุคนี้การเปลี่ยนแปลงเร็ว การทำตลาดแบบเดิมไม่ได้ผลและออนไลน์ไม่มีสูตรสำเร็จต้อง Test and try ตลอด ที่สำคัญต้องเข้าใจลูกค้า เพราะการแข่งงขันในตลาดมีสูงมาก แบรนด์ใดเข้าใจลูกค้ามากกว่า ปรับตัวให้ทันความต้องการโอกาสชนะสูง

161244600632

หลายปีที่ผ่านมาผู้ทรงอิทธิพลหรืออินฟลูเอนเซอร์มีบทบาทต่อการทำตลาดเป็นสื่อเลือกได้จะร่วมงานกับแบรนด์หรือไม่ก็ได้ จนขนานนามว่า อินฟลูเอนเซอร์น่าหมั่นไส้” แม้โรคโควิด-19 ระบาดทำให้ตลาดออฟไลน์สะดุด แบรนด์หันมาใช้คนดังเพิ่ม แต่สมรภูมินี้แข่งขันสูงแมคโครอินฟลูเอนเซอร์หรือตัวท็อปของวงการกำลังถูกท้าชิงจากไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หน้าใหม่ๆมากขึ้น พันธ์ศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนี่มายด์ กรุ๊ป จำกัด จึงแนะนำให้คนดังปรับตัวในการทำงาน เพราะปัจจุบันแบรนด์สินค้าและบริการมีประสบการณ์ทำงานร่วมกันแล้วทำให้มองการวัดผลและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน

อินฟลูเอนเซอร์ต้องเปลี่ยนความคิด ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าวันลูกค้า สปอนเซอร์สนใจ คุณตอบโจทย์แบรนด์ให้ได้ภายใต้ดีเอ็นเอของคุณ เพราะยุคนี้ไม่เชื่อว่าการทำตลาดให้แบรนด์จะแยกส่วน และคอนเทนท์ของอินฟลูเอนเซอร์แยกอีกส่วน เพราะมันคือมีเดีย ดังนั้นการทำคอนเทนท์ต้องตอบโจทย์ฐานแฟนของตนเองและโจทย์ของแบรนด์ไปพร้อมๆกัน

สำหรับปี 2563 ภาพรวมโซเชียลมีเดียยอดฮิตของคนไทย ไวซ์ไซท์พบว่าทวิตเตอร์มีเปอร์เซ็นต์ของจำนวนโพสต์สูงขึ้นมากที่สุดคือ 15.6% รองลงมาคืออินสตาแกรม 15.3% ยูทูป 7.5% และเฟซบุ๊ก0.3%