‘เสื่อกกและผือ’ ทอฝันด้วยสองมือ

‘เสื่อกกและผือ’ ทอฝันด้วยสองมือ

จากต้นไม้ใบหญ้า ถูกเพิ่ม “มูลค่า” เป็นผลิตภัณฑ์ แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ “คุณค่า” จากการแปรรูป “เสื่อกกและผือ” ที่ทั้งฟื้นภูมิปัญญาและสร้างรายได้

“ต้นกกและผือ” ใบยาวเรียวสีเขียวที่ตัดจากพื้นที่ชุ่มน้ำถูกมัดเรียงรายผึ่งแดดตามพื้นที่ว่างตามบ้าน ก่อนจะถูกนำมาใช้ถักทอเป็น “เสื่อ” เพื่อใช้ในครัวเรือน หรือเก็บไว้ใช้ในงานบุญประเพณีตามวิถีดั้งเดิมของชุมชนในจังหวัดบึงกาฬ ทว่าในยามที่ยางพารามีราคาตกต่ำ รายได้หลักจากยางพาราเริ่มลดลง การสานต่อภูมิปัญญาและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ “เสื่อกกและผือ” จึงเป็นความหวังและทางออกในการสร้างอาชีพเสริมให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ได้

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองบึงกาฬ (กศน.บึงกาฬ) จังหวัดบึงกาฬ จึงทำ โครงการพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์จาก “กกและผือ” เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“ด้วยทุนทางธรรมชาติ ภูมิปัญญาของชุมชน และศักยภาพของคนในท้องถิ่น คือแรงผลักดันให้เราริเริ่มโครงการฯ” รัศมี อืดผา ครูอาสาสมัคร กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวถึงแรงบันดาลใจสำคัญซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ ก่อนจะขยายความว่า “ต้นกกและผือ” คือพืชที่ขึ้นเองในธรรมชาติ เป็นทุนทางธรรมชาติซึ่งเราเห็นในชุมชนมาตั้งแต่เกิด ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีทักษะในเรื่องการทอเสื่อเบื้องต้น เป็นภูมิปัญญาชุมชนที่มีการนำกกและผือซึ่งเป็นพืชที่มีความเหนียว ทนทานมาทอเป็นเสื่อหรือเบาะรองนั่งในยามว่างจากการทำงาน สำหรับไว้ใช้ในครัวเรือน และชาวบ้านก็มักจะมารวมกลุ่มกันทอเสื่อไว้สำหรับทำกิจกรรมสอยดาวนำเงินเข้าวัด หรือทอเก็บไว้ใช้ในงานบุญต่างๆ อีกทั้งยังมีการทำกิจกรรมเผยแพร่ภูมิปัญญาการทอเสื่อกกและผือสู่สาธารณชนเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ จึงทำให้เริ่มมองเห็นประโยชน์ของกกและผือที่มีในชุมชนในการนำมาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างไร จนเกิดโครงการฯ นี้ขึ้นมา

161241578894

161241578737

  • “สร้างเป้าหมายร่วม” กลยุทธ์การพลิกฟื้นภูมิปัญญาการทอเสื่อกกและผือ

กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ ได้ตั้งเป้าคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยเป็นแรงงานนอกระบบหรือผู้ว่างงานที่สนใจและอยากมีอาชีพเสริม ผู้สูงอายุที่มีพื้นฐานด้านการทอเสื่อ และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีทักษะพื้นฐานการแปรรูปกกและผือ ในพื้นที่บ้านโพธิ์ทอง และบ้านทองสาย ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งกระบวนการคัดเลือกหลักมาจาก ‘การจัดเวทีประชาคม’

รัศมี เล่าว่า ใช้วิธีจัดเวทีประชาคม เพื่อให้ทุกคนในหมู่บ้านรับทราบว่า เราเปิดรับสมัครโครงการฯ ให้ทุกคนรับรู้อย่างเท่าเทียมกัน และเพื่อสร้างความเสมอภาค โดยก่อนหน้าการจัดงานจะมีการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนคนที่มีความสนใจมาร่วมแปรรูปเสื่อกกให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สร้างรายได้เสริม ซึ่งวันจัดงานก็มีผู้ที่สนใจมาร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

“เสียงตอบรับในชุมชนดีมาก ตอนแรกตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 52 คน มาสมัครจริง 61 คน ซึ่งเราก็รับหมดเลย แต่สมาชิกบางส่วนไม่ได้มาร่วมทุกกิจกรรม เพราะมีภารกิจส่วนตัว แต่จะเป็นเครือข่ายการทอเสื่อ คือถ้าจะเอาเสื่อมาขายก็ต้องทอให้ได้ตรงตามมาตรฐานการรับซื้อของโครงการฯ”

หลังจากได้กลุ่มเป้าหมายแล้ว ขั้นตอนต่อมา รัศมี บอกว่า ได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ รวมทั้งยังมีกิจกรรมสำคัญคือ ‘การสร้างเป้าหมายร่วมกันของกลุ่ม’ 

“เป็นกิจกรรมที่บูรณาการมาจากฐานความรู้เดิมและการเข้าร่วมเวิรก์ชอปกับ กสศ. และยังได้ทีมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีที่มีความถนัดเรื่องของการจัดกระบวนการเข้ามาช่วย โดยเราอยากรู้ว่าสิ่งที่ทางโครงการฯ อยากให้เป็น กับสิ่งที่ชาวบ้านต้องการนั้นตรงกันหรือไม่ เพื่อใช้ในการออกแบบกิจกรรม ซึ่งผลจากการทำกิจกรรมพบว่า เป้าหมายแรกที่กลุ่มเป้าหมายอยากได้คือ อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น สองคืออยากสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน และสามอยากมีที่จำหน่ายสินค้า”

161241599533

161241599594

ใช้ข้อมูล “บันไดผลลัพธ์” พัฒนาหลักสูตรการทอเสื่อกกและผือ

เพื่อให้การออกแบบกิจกรรมตอบโจทย์เป้าหมายที่ชัดเจน ทาง กศน.บึงกาฬ ยังได้ประชุมกับคณะทำงานเพื่อวางแผนกำหนดทิศทางในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการทำ “บันไดผลลัพธ์” เพื่อให้เห็นระดับผลลัพธ์ที่ต้องการในแต่ละขั้น ซึ่งจะช่วยให้ออกแบบกิจกรรมและ “พัฒนาหลักสูตร” ได้ตรงเป้า

“เรามีคณะทำงาน 25 คน ซึ่งเป็นภาคีเครือข่าย ประกอบไปด้วยผู้นำท้องถิ่น ทั้งนายก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีที่มาช่วยในด้านวิชาการ คณะคุณครู กศน. จากตำบลอื่นที่มีสภาพพื้นที่ใกล้เคียงกัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ดร.ยุทธนา วงศ์โสภา พี่เลี้ยงภาคอีสาน เข้ามาให้คำแนะนำ”

รัศมี เล่าต่อว่า เมื่อได้บันไดผลลัพธ์แล้ว ทีมได้นำมาออกแบบกิจกรรม และพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นของ กศน.อยู่แล้ว เป็นหลักสูตร 50 ชั่วโมง แต่ก็เปิดกว้างให้ชาวบ้านและสมาชิกมีส่วนร่วมว่าอยากปรับปรุงในส่วนใดเพื่อให้ตรงกับความต้องการ ทำให้มีการปรับกิจกรรมในหลักสูตรบางส่วน โดยหลัก ๆ ในหลักสูตรจะให้ความรู้เรื่องคุณสมบัติของต้นกกและผือที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ทั้งความสำคัญ และวิธีดูแลรักษา จากนั้นจะเป็นเรื่องของการพัฒนาทักษะการแปรรูป โดยในบันไดผลลัพธ์จะกำหนดว่ากลุ่มเป้าหมายจะต้องแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ได้ 15 ชนิด

ทั้งนี้ในการอบรม วิทยากรและคณะทำงานจะคอยสังเกตและประเมินทักษะกลุ่มเป้าหมาย ว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านใดเป็นหลัก ได้แก่ เรื่องการทอ การย้อมสี การตัดแบบ การเย็บประกอบ การสอย เพื่อคัดเลือกเป็นหัวหน้าทีมในแต่ละด้าน และจะเป็นผู้ดูแลเรื่องคุณภาพมาตรฐานการผลิตในทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันยังมีการประเมินคุณภาพของกลุ่มเป้าหมายว่าอยู่ในระดับไหน เช่น ทำได้บางส่วน ทำได้ทั้งหมด หรือทำได้และสามารถสอนผู้อื่นได้ เป็นต้น เพื่อมอบงานให้ตรงกับศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย

ดวงใจ ทุมซ้าย อายุ 39 ปี กลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า เดิมทีเธอประกอบอาชีพกรีดยางและเป็นแม่บ้าน พอดีแม่ชวนให้มาร่วมเรียนรู้เรื่องการแปรรูปเสื่อกกของ กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ เลยสนใจ เพราะปกติจะเห็นแม่ทอเสื่อกกอยู่แล้ว จึงอยากทำเป็นบ้าง เริ่มจากเรียนรู้การทอเสื่อ ลวดลายเสื่อ การออกแบบ และการตัดเย็บ จนทุกวันนี้ทำเป็นทุกขั้นตอน และได้ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นวิทยากรด้วย รวมทั้งได้เป็นหัวหน้าดูแลฝ่ายผลิตในทุกกระบวนการ

“ผลงานชิ้นแรกคือกล่องทิชชู ขายได้ราคา 199 บาท ภูมิใจมาก ไม่คิดว่าจะขายได้แพงขนาดนี้ ส่วนเสื่อจากที่แม่เคยทอขายได้ผืนละ 100 บาท ตอนนี้สามารถทอขายได้ราคาผืนละเกือบ 1,000 บาท ยิ่งพอเอามาแปรรูปเป็นกระเป๋า จากเสื่อผืนละ 100 บาทกลายเป็น 1,000-2,000 บาททันที ตอนนี้มีลองแปรรูปเป็นกล่องทิชชู กระเป๋า และของใช้ในบ้าน ซึ่งกระเป๋าจะขายในราคา 499 บาท ก็ดีใจที่มีรายได้เพิ่ม จากที่ลงบัญชีไว้ก็ได้ประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน ที่สำคัญเป็นงานที่ทำได้เรื่อยๆ เลิกงานมาก็ทำได้เลย ไม่ได้มีผลกระทบต่องานหลักและงานรอง ซึ่งทุกวันนี้จากทำคนเดียว ก็เริ่มขยับขยายสู่พ่อแม่ ญาติๆ ข้างบ้านก็มาร่วมทำด้วย แม่ทอเสื่อ พ่อก็ทำหู ข้างบ้านสอย ส่วนเราเอามาแปรรูป เป็นรายได้เสริมให้ครอบครัว และอยากให้ทุกคนในหมู่บ้านมีรายได้ด้วยกัน”

รัศมี เสริมต่อว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่สร้างอาชีพ สร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย เห็นได้จากพ่อของดวงใจที่เดิมอยู่บ้านเฉยๆ วันๆ ก็ไม่ค่อยพูดจากับใคร พอเห็นเมีย เห็นลูกนั่งทอเสื่อ ทำกระเป๋า พ่อของดวงใจก็เข้ามาดู เห็นหูกระเป๋าที่โครงการซื้อมาใช้ในราคา 90-100 บาท ก็บอกว่าเขาทำได้ กลายเป็นว่าโครงการนี้ทำให้ครอบครัวของดวงใจมีอาชีพ มีรายได้กันทั้งครอบครัว โดยหูกระเป๋าที่พ่อของดวงใจทำขึ้นทางโครงการรับซื้อในราคา 60 บาท ซึ่งช่วยลดต้นทุนการทำกระเป๋าให้ถูกลง

161241599687

161241599537

  • ออกแบบลาย สร้าง “อัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์”

ไม่เพียงการถักทอตัดเย็บที่ประณีตและการเพิ่มพูนทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์จาก “กกและผือ” ให้มีรูปแบบหลากหลาย เพื่อสร้างรายได้แล้ว กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ และชุมชนต่างเห็นพ้องในการสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสะท้อนรากฐานแห่งภูมิปัญญาในการพึ่งพาธรรมชาติด้วยการถักทอ

รัศมี เล่าว่า ชาวบ้านก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์จาก “กกและผือ” เหล่านี้มาจากบึงกาฬ อยากให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เลยมีแนวคิดว่าจะทอลายเสื่อเป็น “ลายขันหมากเบ็ง” ซึ่งเป็นลายทอเอกลักษณ์ประจำจังหวัดบึงกาฬ และเลือกใช้สีขาวและม่วงเพื่อสะท้อนถึงพื้นที่ชุ่มน้ำและจังหวัดบึงกาฬด้วย

“ขันหมากเบ็ง” คือพานพุ่มดอกไม้ที่ชาวพื้นเมืองบึงกาฬ และในแถบลุ่มน้ำโขง ใช้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บูชาพระรัตนตรัยในโอกาสสำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา โดยขันหมากเบ็งทำมาจากใบตองกล้วย ซึ่งการนำขันหมากเบ็งมาทำเป็นลายผ้า เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตชาวพุทธในจังหวัดบึงกาฬและแถบลุ่มน้ำโขง

“กว่าจะถอดแบบลายหมากเบ็งมาได้ใช้เวลานานเป็นเดือน” ดวงมาลา ทุมซ้าย อายุ 58 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวถึงที่มาของการนำลายหมากเบ็งมาทอลายเสื่อกก ก่อนจะเล่าต่อว่า ลายที่ถอดแบบได้มีขนาดกว้าง 1.20 เมตร ยาว 2.10 เมตร พอได้ลายก็นำมาทอ แล้วก็ไปสอนเพื่อนบ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ และพี่สาว ก็ถือว่าเป็นลายที่ยาก เพราะถ้าทำผิดต้องทำใหม่ เราก็พยายามสอนเพราะอยากให้ทำเป็น ซึ่งปัจจุบันก็ทอกันแทบไม่ทันแล้ว ก็พยายามสอนชาวบ้านคนอื่นๆ เพื่อให้มีอาชีพเพิ่ม ถือว่าช่วยกัน 

“การทอเสื่อลายขันหมากเบ็งจะใช้เวลาในการทอประมาณ 5 วัน ในหนึ่งเดือนจะทอได้ประมาณ 10 ผืน  ขายได้ราคาสูงสุดประมาณผืนละ 700–800 บาท รายได้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 5,000-7,000 บาทต่อเดือน ถ้าทำแบบจริงจังนะ ตอนนี้ก็พยายามสอนลูกหลาน เพื่อนบ้าน ก็ทำกันเป็นครอบครัว เริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไปเยอะมาก มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ไม่ต้องไปหยิบยืมคนอื่น ถึงจะได้เงินน้อยแต่ก็มีความภูมิใจและมีความสุขมากที่ได้ทอเสื่อ แม้จะเหนื่อยก็ทน เพราะว่าใจรัก ก็อยากจะคิดลายทออื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อว่าจะได้ให้ลูกหลานสืบทอดกันต่อไปในภายภาคหน้า”

161241599639

161241599686

เพิ่มกลยุทธ์การตลาด สร้าง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน”

แม้กลุ่มเป้าหมายจะพยายามฝึกฝนทักษะจนสร้างผลิตภัณฑ์จาก “กกและผือ” เพื่อจำหน่ายได้แล้ว แต่เพื่อให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ ยังอบรมให้ความรู้ทั้งด้านการตลาด การบริหารจัดการเงิน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

รัศมี เล่าว่า มีการสอนทั้งในเรื่องการตลาด การขายออนไลน์ ตอนนี้ก็เปิดเพจเฟซบุ๊ก จะมีผู้ดูแลอยู่ 3 คน เป็นคณะทำงาน 1 คน แล้วก็มีสมาชิกกลุ่มอีก 2 คน ก็ค่อยๆ ให้เขาเรียนรู้ พร้อมกันนี้ยังสอนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะได้เรียนรู้ในเรื่องของการทำบัญชีครัวเรือน การบริหารรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เขาวิเคราะห์และจัดการรายได้ของตนเองได้ นอกจากนี้ยังได้บูรณาการเรื่องการรักษาสุขภาพอนามัย โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสมบูรณ์ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ยิ่งเฉพาะการป้องกันโรคระบาดไวรัสโควิด-19 จะมี อบต. เข้ามาช่วยสนับสนุนผ้าในการทำหน้ากากอนามัย เพื่อเย็บแจกประชาชนฟรีแล้วส่งไปที่ กสศ. เพื่อใช้ในการทำงานด้วย

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเรียนรู้ กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ ยังได้จัด “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้” เพื่อประเมินผลทักษะของผู้เข้าอบรม และภาพรวมการดำเนินโครงการ

“ในเรื่องของการประเมินทักษะทำให้เราแบ่งจำนวนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของการผลิตได้ เช่น การประกอบตัดแบบทากาว 30 คน การตัดเย็บ 20 คน การสอยมือ 30 คน ส่วนระดับความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ อยู่ที่ 92.53 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการประเมินภาพรวมของโครงการฯ พบว่า ได้เห็นชุมชนแสดงศักยภาพ ชาวบ้านมีทักษะที่จะสามารถสร้างได้เพิ่ม เช่น จากทอเสื่อขายผืนละ 50 บาท ก็ขายได้เพิ่มเป็น 200 บาท ทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น มีการขยายเครือข่ายการเรียนรู้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ และยังทำให้เรื่องราวภูมิปัญญาการทอกกและผือของชุมชนได้รับการถ่ายทอดไปให้คนอื่นได้รู้จัก ที่สำคัญที่สุดคือโอกาสในการสร้างอาชีพจากทุนทรัพยากรที่เขามี”

ไม่เพียงผลประเมินที่สะท้อนถึงความสำเร็จในการเพิ่มทักษะ สร้างอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่กลุ่มเป้าหมายและคนในชุมชนยังรวมกลุ่มจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” ในนาม “กลุ่มผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่โลกชุมน้ำกระทิง” เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ โดยหัวเรือสำคัญในการขับเคลื่อน คือ อุดร คำชาตา ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่โลกชุมน้ำกระทิง และมีรัศมีเป็นที่ปรึกษา

อุดร เล่าว่า เริ่มแรกเมื่อจัดตั้งกลุ่ม เราพยายามรวมคนและกระจายงาน บริหารคนให้ถูกกับลักษณะของงาน โดยเริ่มต้นจะมีการสอบถามเขาก่อนว่า ทำอะไรเป็นบ้าง เช่น สอยเป็น เย็บเป็น หรือไม่คนที่สอยเป็นแต่ยังไม่ประณีต ก็ต้องแนะนำเพิ่มว่าทำอย่างไรถึงจะขายได้ ถ้าทำหยาบก็จะเป็นอีกตลาดหนึ่ง แต่ถ้าทำได้ราคาขายก็จะสูงขึ้นมา จากปกติสอยเส้นใหญ่ขายได้ผืนละ 100 บาท แต่ถ้าทำได้เล็กลงกว่าเดิมจะได้ราคาเพิ่ม จากผืนละ 100 บาท ก็ขายได้ผืนละ 200 บาท หรือทอเสื่อ 1 ผืน 500 บาท แต่ถ้า 2 คนช่วยกันทำได้เร็ว ก็แบ่งกันคนละ 250 บาท ถ้าทำ 10 วัน 10 ผืน ก็ได้แล้วนะ 2,500 บาท ถ้าเทียบกับขายยางพาราตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ยางพาราขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 16 บาท ขาย 1 ตันก็ได้แค่ 1,500-1,600 บาท เราก็พยายามกระตุ้นให้เขาอยากทำ อยากมารวมกลุ่ม

นอกจากเรียนรู้จากครูภูมิปัญญาแล้ว อาจารย์รัศมียังพาไปดูงานกกไทยบ้านแพง จังหวัดมหาสารคาม พอไปดูงานแล้วเราไปเห็นความอลังการของเขา ก็อยากกลับมาพัฒนาของบ้านเรา ซึ่งตอนนี้พอมารวมกลุ่มกันก็ถือว่าสำเร็จเกินที่คาดไว้มาก อย่างกกของเขาเส้นจะไม่เล็กละเอียดเหมือนของเรา แล้วเราก็ยังมีลายขันหมากเบ็งที่เป็นอัตลักษณ์ และที่ภูมิใจมากนอกเหนือจากผลงานเหล่านี้คือ การได้พัฒนาตนเองทั้งทักษะการอยู่ร่วมกัน การบริหารจัดการคน การได้ทำงานร่วมกับชุมชนจนเป็นที่ยอมรับและขยายผลส่งต่อไปยังชุมชนอื่นๆ ที่สำคัญยังได้ความรู้ด้านการตลาด รู้จักวิเคราะห์ตลาด เช่น กลุ่มวัยรุ่นเขาชอบกระเป๋าแบบไหน จากที่ไม่เคยทำมาก่อน มีเพจเฟซบุ๊กที่ช่วยให้คนทั้งประเทศหรือต่างประเทศเห็นสินค้าเรา ซึ่งอาจารย์รัศมีเข้ามาช่วยสอนตั้งแต่แรก เรารู้เลยว่าเราไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยว ทั้งหมดนี้ทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นมาก รายได้ตอนนี้มีเพิ่มขึ้นจากรายได้หลักเดือนละ 4,000-5,000 บาท ก็พอใจมากและมีความสุข

เรื่องการบริหารจัดการรายได้ของกลุ่มผลิตภัณฑ์จาก “กกและผือ” พื้นที่โลกชุมน้ำกระทิง รัศมี บอกว่า มีทั้งรายได้จากการผลิต และเงินปันผลตามหุ้นให้กับสมาชิก

รัศมี เล่าว่า เป็นมติของกลุ่มในการประชุมกัน คือจะมีการรวมหุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท ซึ่งสมาชิกซื้อได้ไม่เกิน 15 หุ้นต่อคน เมื่อมีรายได้เข้ามาจะแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน คือ ค่าบริหารจัดการ และเงินปันผล พอถึงเวลามีรายได้เข้ามา 3 เดือน หรือ 6 เดือน จะมีการปันผลตามจำนวนหุ้นของสมาชิก ซึ่งอันนี้จะถือเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่ง แต่ว่ารายได้หลักที่สมาชิกจะได้จริงๆ คือ ค่าจ้างจากกระบวนการผลิต

อย่างไรก็ดี แม้วันนี้โครงการฯ จะจบลงแล้ว แต่ รัศมี บอกว่า กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ ภาคีเครือข่าย และชุมชน ยังพร้อมใจเดินหน้าสานต่อผลิตภัณฑ์แปรรูปกกและผือให้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้ชุมชน

“ตอนนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬก็เข้ามาช่วยเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ ซึ่งตอนนี้ทางกลุ่มมีการนำผลิตภัณฑ์ไปคัดสรรมาตรฐานแล้ว จะมีการเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ‘กกบึงกาฬ’ ในเรื่องการขายก็จะมีพาณิชย์จังหวัดที่เข้ามาส่งเสริมเรื่องการส่งออก ขณะที่ ธกส. เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร และมีศูนย์จำน่ายสินค้าที่ให้กลุ่มนำผลิตภัณฑ์ไปฝากขายได้ อีกทั้งยังมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่เข้ามาช่วยเรื่องการทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์”

161241599778

161241599633

  • ขยายผลสู่หลักสูตรท้องถิ่นและศูนย์เรียนรู้ชุมชน

นอกจากนี้ กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ ยังเตรียมพัฒนา “หลักสูตรท้องถิ่น” ร่วมกับโรงเรียนโพธิ์ทองวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนโนนคำ ที่อยากพาเด็กมาเรียนรู้การทำกกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยทางโรงเรียนได้เตรียมพื้นที่จะสอนเด็กตั้งแต่การปลูกกก เนื่องจากลำพังเพียงการพึ่งพากกจากธรรมชาติอาจไม่เพียงพอ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เริ่มปลูกกกกันบ้างแล้ว โดยมีทางเกษตรกรจังหวัดเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง พร้อมกันนี้ยังมีแผนการสร้าง “ศูนย์เรียนรู้ชุมชน”

“ตามเป้าเดิมของโครงการฯ จะมีการทำศูนย์ฝึก ศูนย์สาธิต และศูนย์จำหน่ายเท่านั้น แต่ตอนนี้ด้วยมีกลุ่มเป้าหมายและสมาชิกที่เข้ามาขอเรียนรู้ อยากต่อยอดการเรียนรู้ เลยตั้งใจว่าจะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งให้ผู้ที่สนใจ เด็กในโรงเรียนจากชุมชนอื่นๆ มาเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งต้องมีวิทยากรประจำศูนย์เรียนรู้ด้วย ซึ่งก็จะช่วยกันพัฒนาต่อไป”

ทุกวันนี้เหล่าผลิตภัณฑ์แปรรูป ทั้งเสื่อสีธรรมชาติ หมวก กล่องทิชชู แจกัน และกระเป๋าหลากหลายดีไซน์ที่ถูกถักทอขึ้นจาก “กกและผือ” ด้วยฝีมือของผู้ด้อยโอกาส ไม่เพียงเป็นผลความสำเร็จที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่คณะทำงาน แต่องค์ความรู้ที่ถูกส่งต่อไปยังชุมชนจนต่อยอดเป็นอาชีพได้ยังเป็นการ “สานฝัน” ชาวบ้านด้วย 

“เราได้ช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นเหมือนสะพานที่ต่อยอดความคิดและความฝันของชาวบ้านไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยมีเราเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาที่คอยช่วยเหลือดูแล ภูมิใจที่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน และได้เป็นส่วนหนึ่งในฝันของพวกเขา” รัศมี กล่าว