เทรนด์ 'ธุรกิจอาหาร' ปี 2564 ที่ต้องติดตาม

เทรนด์ 'ธุรกิจอาหาร' ปี 2564 ที่ต้องติดตาม

ส่อง 3 เทรนด์ที่สำคัญสำหรับธุรกิจการให้บริการด้านอาหารทั่วโลกที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับเทรนด์ผู้บริโภคแนวใหม่

บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก มินเทล (Mintel) ได้ทำบทสรุปการตลาดผู้บริโภคเผยแพร่ 3 เทรนด์อาหารที่สำคัญสำหรับธุรกิจการให้บริการด้านอาหารทั่วโลก ได้แก่ จิตใจที่เต็มอิ่ม คุณภาพที่ต้องเปลี่ยนโฉม และอาหารสำหรับคนแนวเดียวกัน โดยมีประเด็นหลักดังนี้

1.จิตใจที่เต็มอิ่ม

เริ่มตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป แนวโน้มการตลาดในแบรนด์ธุรกิจการให้บริการด้านอาหารจะเคลื่อนไหวไปตามกระแสชีวจิต ผ่านการนำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์และสูตรอาหารที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด เนื่องจากการคาดการณ์ได้ว่าเมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ลดลง และสถานการณ์สังคมเริ่มฟื้นตัวขึ้น ผู้บริโภคจะปรับลักษณะพฤติกรรมการบริโภค โดยเริ่มหันมาสนใจการรับประทานอาหารอย่างมีสติ และศึกษาหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศในการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงการลดการบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

แบรนด์ธุรกิจการให้บริการด้านอาหาร ที่มีสูตรส่วนผสมที่ตอบสนองต่อประสาทสัมผัสด้านอารมณ์ที่หลากหลาย จะช่วยส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์และธุรกิจการให้บริการด้านอาหารให้เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางจิตวิทยาด้านอาหารแบบใหม่ในการตลาดนี้

2.คุณภาพที่ต้องเปลี่ยนโฉม

ผลวิเคราะห์การประเมินการตลาดยังได้บ่งชี้ไปยังกลุ่มผู้บริโภคแนวใหม่ ที่เสาะหาโอกาสประสบการณ์การบริโภคแบบ Hometainment ที่ออกแนวหรูหรา ดูมีราคา แต่สะดวกสบาย เพราะสามารถรับบริการดังกล่าวนี้ได้ที่บ้านเลย นอกจากนี้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกสนับสนุนและใช้ผลิตภัณฑ์และการบริการจากแบรนด์และร้านค้า ที่มีนโยบายที่เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพ และช่องทางการติดต่อออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็วมากกว่าการติดต่อแบรนด์และร้านค้าโดยตรง

เป็นที่คาดเดาได้ว่าเมื่อตลาดได้กลับมาเปิดขึ้นอีกครั้ง วิถีการใช้ชีวิตของผู้บริโภคจะเดินไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้บริโภคจะมีความคาดหวังในการซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่สะอาด ถูกสุขอนามัย รวดเร็ว และสะดวก ทั้งนี้ การเน้นการซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจแบรนด์ต่างๆ ประกอบการทำงานอย่างโปร่งใสมากขึ้น

3.อาหารสำหรับคนแนวเดียวกัน

ในอีก 12 เดือนถัดไป กลุ่มบริษัทธุรกิจจะสามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาดโน้มน้าวผู้บริโภค ให้เข้ามาสนใจและใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของแบรนด์ โดยโปรโมทภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้นๆ ให้โดดเด่นมีเอกลักษณ์ ปรับมุมมองของผู้บริโภคให้มองแบรนด์เหล่านี้ เป็นอีกวิธีทางในการแสดงออกความเป็นตัวตน และเป็นอีกช่องทางที่สร้างชุมชนที่มีทัศนคติและรสนิยมคล้ายๆ กับที่เคยมีมาก่อนช่วงการระบาดใหญ่ของโรคไวรัสโควิด-19

วิธีปรับตัวเข้ากับเทรนด์ที่กำลังจะมาถึงของแบรนด์ต่างๆ นี้ เริ่มจากการหันมาดำเนินงานผ่านโซเชียลมากขึ้น อีกทั้งสร้างชุมชนโลกออนไลน์ที่ทางแบรนด์สามารถที่จะเข้าถึงและช่วยเหลือผู้บริโภค พร้อมทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการทำงานผ่านโซเชียลมาวิเคราะห์สรุปผล เพื่อปรับปรุงทรัพยากรและชื่อเสียงของแบรนด์ได้ง่ายอีกด้วย

ผู้บริโภคต่างล้วนตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนมากขึ้น นับตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยแต่ละคนต่างมองหาและสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มบุคคลหรือชุมชนที่มีทัศนคติคล้ายกัน แบรนด์ในกลุ่มบริษัทธุรกิจการให้บริการด้านอาหารเหล่านี้ ควรที่จะใช้ข้อได้เปรียบของตนเองในการดึงดูดลูกค้าที่มีรสนิยมและค่านิยมตามลักษณะเอกลักษณ์ของแบรนด์

เมื่อชุมชนเหล่านี้มีกลุ่มบุคคลที่มีทัศนคติค่านิยมร่วมกัน จะสามารถเติบโตไปได้ไกล รวมถึงการกระจายเครือข่ายผู้บริโภคและขยายฐานผู้บริโภคเพื่อสร้างความแตกต่างได้อีกด้วย