'ศักดิ์สยาม' เร่ง ร.ฟ.ท.ลุยประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ

'ศักดิ์สยาม' เร่ง ร.ฟ.ท.ลุยประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ

“ศักดิ์สยาม” สั่ง ร.ฟ.ท.ปั๊มรายได้ ลุยประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ 5 แปลง รวมกว่า 570 ไร่ ภายในปีนี้ พร้อมเร่งดึงร้านค้า และโอทอปพรีเมี่ยมลงสถานีรองรับเปิดสายสีแดง พ.ย.64 ลั่นต้องมีรายได้มากกว่าปีละ 400 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังติดตามความพร้อมโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ก่อนเปิดให้บริการ พ.ย.2564 โดยระบุว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากพื้นที่โดยรอบดังกล่าวมีพื้นที่ค่อนข้างมาก มีศักยภาพและสามารถสร้างรายได้ให้ ร.ฟ.ท.ได้ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าพื้นที่พร้อมพัฒนาในขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.แปลงที่มีความพร้อมของพื้นที่ ประกอบด้วย แปลง A แปลง B แปลง D แปลง E และแปลง G และ 2.แปลงที่ยังติดปัญหาต้องรื้อย้าย ประกอบด้วย แปลง C แปลง F แปลง H และแปลง I

อย่างไรก็ดี ตนขอให้ ร.ฟ.ท. เร่งนำพื้นที่ที่มีความพร้อมแล้ว จัดเตรียมข้อมูลและเปิดประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) ภายในปีนี้ โดยให้ดำเนินการศึกษาข้อกฎหมาย และรอบคอบ ส่วนพื้นที่อื่นที่ยังติดปัญหา อาทิ ต้องรื้อย้ายโรงซ่อม พวงรางรถไฟ ตลอดจนพื้นที่ที่ยังมีหน่วยงานอื่นใช้อยู่ อย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ขอให้ประสานและหารือการจัดสรรพื้นที่ร่วมกัน ทำแผนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ และเร่งรัดเปิดประมูลเพื่อพัฒนาที่ดินทั้งหมดให้พร้อมเปิดให้บริการในระยะเวลาใกล้กัน เพราะไม่ต้องการให้ ร.ฟ.ท.จัดทำแผนที่ต้องใช้เวลาดำเนินการนานถึง 10 ปีแล้ว เนื่องจากขณะนี้สถานีกลางบางซื่อกำลังจะเปิดให้บริการ และสถานีนี้ยังมีระบบขนส่งทางรางใช้บริการถึง 4 ระบบ

“วันนี้ 5 แปลงที่มีความพร้อมแล้วต้องเร่งนำมาเปิดประมูลให้ได้ภายในปีนี้ จะทำอย่างไรก็ขอให้การรถไฟฯ ไปดำเนินการจัดทำแผน แต่มีโจทย์เพียงว่าต้องสร้างรายได้มากพอกับค่าใช้จ่าย และขอให้ทำแผนแต่ละพื้นที่พัฒนาด้วย จะต้องมีทั้งที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย และการอุปโภคบริโภค ส่วนแปลงที่เหลือให้เร่งแก้ไขและกำหนดเปิดไล่เลี่ยกัน”

161174341282

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวด้วยว่า เนื่องจากรถไฟชานเมืองสายสีแดง กำลังจะเปิดทดสอบระบบ รวมการเดินรถเสมือนจริงในเดือน มี.ค.2564 เปิดให้บริการประชาชนทดลองใช้ในเดือน ก.ค.2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.2564 ดังนั้นพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อต้องเตรียมพร้อมในการรองรับผู้โดยสารใช้บริการ โดยเฉพาะพื้นที่เชิงพาณิชย์ร้านค้าต่างๆ ซึ่งทราบว่าปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีแผนจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวแล้ว และจะสามารถสร้างรายได้ปีละ 267 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ หากเทียบกับค่าใช้จ่ายช่วงการบริหารระยะ 4 ปีที่ประเมินว่า ร.ฟ.ท.ต้องมีต้นทุนของการบริหารจัดการรวม 1.4 พันล้านบาท ดังนั้นตนจึงมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.กลับไปทบทวนแผน เพื่อเสนอกระทรวงฯ ภายใน 7 วันโดยมีโจทย์ต้องหารายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการรับฟังแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อของ ร.ฟ.ท.พบว่าปัญหาของการสร้างรายได้ที่ยังไม่พอต่อค่าใช้จ่าย อาจเป็นเพราะมีการจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์น้อยเกินไป อาทิ มีการสร้างตู้จำหน่ายบัตรโดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งตนมองว่าสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นตู้จำหน่ายบัตรโดยสารแบบอัตโนมัติได้ ดังนั้นจึงมอบให้ ร.ฟ.ท.กลับไปจัดทำแผนจัดสรรพื้นที่อีกครั้ง โดยขอให้เตรียมพื้นที่เพื่อการพาณิชย์มากขึ้น นอกจากนี้ให้หารือร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อนำหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หรือ OTOP ที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่ามาจัดจำหน่าย โดยอาจจะเจรจาให้พื้นที่และแบ่งรายได้ให้ ร.ฟ.ท.ตามตกลง

“ตามแผนเราจะเปิดพีพีพีหาเอกชนเข้ามาบริหารสถานีกลางบางซื่อและรถไฟสายสีแดงอยู่แล้ว แต่ในระหว่างนี้ที่การรถไฟฯ ต้องบริหาร มีค่าใช้จ่ายอยู่รวม 4 ปี กว่า 1.4 พันล้าน ดังนั้นก็ต้องหารายได้ให้เพียงพอ หรือมากกว่า ซึ่งพื้นที่เชิงพาณิชย์จะทำแบบไหนก็ให้ไปศึกษามา รูปแบบจะจ้างเอาท์ซอร์สก็ได้ ขอให้ศึกษาทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย”

161174342627

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. เผยว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีกลางบางซื่อที่มีความพร้อมพัฒนาแล้วทั้ง 5 แปลง รวมพื้นที่กว่า 570 ไร่ ประกอบด้วย แปลง A พื้นที่ 32 ไร่ ที่ ร.ฟ.ท.เคยเปิดประมูลไปแล้ว แต่ไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอ มูลค่าพื้นที่ราว 1.1 หมื่นล้านบาท ตามแผนจะพัฒนาในลักษณะมิกซ์ยูส มีทั้งห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม ขณะที่แปลง B พื้นที่ประมาณ 73 ไร่ อยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ และเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ มีศักยภาพในการพัฒนาผสมผสานหลากหลายรูปแบบ

แปลง D พื้นที่ราว 32 ไร่ อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว ติดบริเวณย่านพาณิชยกรรมริมถนนพหลโยธินและตลาดนัดจตุจักร ปัจจุบันมีสัญญาเช่าอยู่กับโครงการ JJ Mall ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ถือว่ามีศักยภาพสูง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อยอดการพัฒนาแบบมิกซ์ยูสได้อย่างดี ส่วนแปลง E มีพื้นที่ราว 79 ไร่ ร.ฟ.ท.เคยทำการศึกษาจะนำมาเปิดประมูลพร้อมกับแปลง A เพื่อดึงดูดนักลงทุน ประเมินมูลค่าที่ดินไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้าน โดยพื้นที่ส่วนนี้อยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ รองรับการพัฒนามิกซ์ยูส

และแปลง G เป็นแปลงใหญ่ที่มีพื้นที่มากที่สุด เนื่องจากเป็นบ้านพักพนักงานบริเวณย่าน กม.11 ขนาดพื้นที่ 359 ไร่ ศักยภาพในการพัฒนาแตกต่างกันออกไป โดยด้านตะวันตกและตะวันออกของพื้นที่ มีระยะเดินเท้าที่สามารถเดินถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงินและสายสีเขียว ส่วนพื้นที่ตอนกลางสามารถพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสได้ แต่จำเป็นต้องเพิ่มระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง