‘เอ็นไอเอ’ เปิดกลยุทธ์ ปั๊มชีพจร ‘เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ’

‘เอ็นไอเอ’ เปิดกลยุทธ์ ปั๊มชีพจร ‘เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ’

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งฟื้นวิกฤติสู่โอกาสทองของประเทศ เปิดเกมรุกขยายสู่การส่งเสริมนวัตกรรมระดับท้องถิ่น หวังกรุยเส้นทางให้เกิดการกระจายโอกาสสู่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพในการเข้าถึงนวัตกรรม แหล่งเงินทุน

“ในปีที่ผ่านมาสังคมไทยถูกดึงเข้าสู่สังคมในยุคนิวนอร์มอล อย่างกะทันหัน ซึ่งคาดว่าปัญหาเหล่านี้จะยังคงอยู่ไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ส่งผลให้ภาคธุรกิจ และซัพพลายเชนค่อนข้างปรับตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เนื่องจากปัญหาที่เกิดกระทบต่อโครงการสร้างพื้นฐานทางกายภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ สำหรับปี 2564 การสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ ไม่สามารถมองเฉพาะเรื่องของการรับมือกับปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่านั้น แต่จะสะท้อนไปถึงการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 และลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศด้วยเช่นกัน”  พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าว

161165867850

เพราะฉะนั้นการดำเนินการของเอ็นไอเอจะอยู่ที่การทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการและบริษัท สามารถที่จะปรับตัวและทำนวัตกรรมได้ ขณะเดียวกันการรับมือกับวิกฤติขนาดใหญ่ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลกคือโควิด-19 และ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่จะสนับสนุนผ่านมิติของเมืองและชนบท และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มด้านสังคมที่เข้าไปมีส่วนช่วยของการทำนวัตกรรม สุดท้ายความเหลื่อมล้ำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยตรง ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่น อย่างเช่น อบต. ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านแพลตฟอร์ม 

เป้าหมายเดินเกม ใต้ระยะเวลา 64-66

ขณะเดียวกันมองว่า 3 ปีนับจากนี้ คีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ “นวัตกรรมที่มาจากประเทศไทย หรือนวัตกรรมเพื่อประเทศไทย (Innovation Thailand)” ให้ชัดขึ้น เพราะเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญประการแรกอีกต่อไป แต่เป็นโอกาสทางนวัตกรรม เพราะหากไม่มีการหยิบยื่นโอกาสทางนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาคก็จะไม่ได้แก้ปัญหาและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงต้องมีการเสริมพลังให้กับภูมิภาคที่พยายามจะทำให้เป็นฮับของนวัตกรรม พร้อมกับทำงานร่วมกับท้องถิ่นเพื่อทำให้การขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ลดการกระจุกตัวในเมือง หรือที่เรียกว่า Regionalization ขยายสู่นวัตกรรมระดับภูมิภาค แต่มีจุดเน้นที่สำคัญคือ “ดีพเทค”

ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้ง 7 กลุ่มคือ เอกชน สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี กิจการเพื่อสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เยาวชน และล่าสุดคือสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อสร้างให้จังหวัดหัวเมืองกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพในพื้นที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการส่งเสริมให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยหรือองค์ความรู้ที่มีอยู่ในห้องถิ่น ให้เกิดการจ้างงานภายในภูมิภาค สร้างความเท่าเทียม สร้างโอกาสทางนวัตกรรมในพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในภาคธุรกิจให้มากขึ้น 

โดยวางเป้าหมายในปี 3 ปีข้างหน้าจะสามารถสร้างดีพเทคสตาร์ทอัพ 100 ราย และสร้างบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ 3,000 ราย อีกทั้งเขตพื้นที่ทางนวัตกรรมครบทุกภาค 

161165869337

7 นวัตกรรมกับโอกาสเปลี่ยนแปลง

เอ็นไอเอเล็งเห็นถึง 7 นวัตกรรมที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศได้ในช่วงที่ระบบนวัตกรรมกำลังเปลี่ยนแปลง  ประกอบด้วย 

1.นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation) ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนหันมา สร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ด้วยนวัตกรรม รวมถึงการหาเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เพราะโครงสร้างพื้นฐานเดิมไม่มีอีกต่อไป  

2.นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-Based Innovation) สร้างให้เกิดหน่วยนวัตกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค ให้เกิดการจ้างงาน 

3.นวัตกรรมสังคม (Social Innovation) เน้นลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ชุมชนเมือง และพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผู้คนให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น อาทิ นวัตกรรมเกี่ยวกับโควิด-19 

4.นวัตกรรมภาครัฐและสาธารณะ (Public-Sector Innovation) การสร้างนวัตกรรมในภาคการบริการประชาชน และเปิดโอกาสให้หน่วยงานระดับกรมทำงานใกล้ชิดกับสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอีมากขึ้น 

161165871773

5.นวัตกรรมข้อมูล (Data-Driven Innovation) ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญสำหรับใช้วิเคราะห์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการวิเคราะห์ว่าพื้นที่ใดมีโอกาสในการเข้าถึงระบบนวัตกรรม โดยผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพสามารถหยิบข้อมูลนำไปประกอบการทำธุรกิจ ที่จะไปเสริมให้คนอยู่ในพื้นที่และทำธุรกิจ เพราะซัพพลายเชนระดับภูมิภาคมีความสำคัญอย่างมาก คาดว่าจะสามารถเปิดให้เข้าถึงข้อมูลได้ประมาณกลางปี 2564

6.นวัตกรรมกระบวนทัศน์ (Paradigm Innovation) เน้นเรื่องการมองอนาคตนวัตกรรม คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น ทำให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที  และสุดท้าย 

7.นวัตกรรมเชิงศิลป์ (Aesthetic Innovation) ดนตรี ศิลปะ และสันทนาการ เป็นนวัตกรรมที่จะส่งเสริมเพื่อเกาะกระแสความต้องการของคนในสังคมที่เสพคอนเทนต์บันเทิง อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมความบันเทิงอย่าง ซีรีย์ที่โด่งดังไปทั่วโลก จนประสบความสำเร็จและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล

เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากพร้อมสร้างความยั่งยืน ยกระดับชุมชน-สังคม ให้มีความน่าอยู่มากกว่าเดิม