เช็ค! ค่าฝุ่น PM2.5 ก่อนออกจากบ้าน ป้องกันโรค

เช็ค! ค่าฝุ่น PM2.5 ก่อนออกจากบ้าน ป้องกันโรค

สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติแห่งที่ 2 ในจ.นนทบุรี" ภายใต้ความร่วมมือของ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เปิดทำการเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรมควบคุมโรค

โดยเป็นหนึ่งใน 73 สถานีใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับสภาพอากาศและการป้องกันดูแลสุขภาพ โดยจะแสดงผลในแอปพลิเคชัน “Air4Thai” และเว็บไซต์www.air4thai.com

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าที่ผ่านมาแม้สถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะมีสูงบ้างในพื้นที่ หรือสูงเกินค่ามาตรฐาน แต่ด้วยมาตรการโควิด-19  อย่าง Work  from home หรือการปิดโรงเรียนทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เบาบางลง และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนน้อยลง เพราะขณะนี้ยังไม่พบผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นPM2.5 เพิ่มขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ฝุ่น PM2.5 ก็ยังมีอันตรายและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น การจัดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติแห่งใหม่ในจ.นนทบุรี บริเวณ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือน ลด ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพของประชาชนได้อย่างดียิ่งขึ้น

"ค่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 แต่ละพื้นที่ แต่ละเวลามีความแตกต่างกัน การจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจึงเกิดได้หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งที่อยู่อาศัย การทำงานกิจกรรม ช่วงเวลาในการสัมผัส การออกกำลังกายในที่แจ้ง โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อย่าง เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่เป็น 4 โรคดังนี้  โรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ  และกลุ่มโรคตาอักเสบ จะมีโอกาสได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก"นพ.โอภาส กล่าว

อยากให้ประชาชนโหลดแอพพลิเคชั่น “Air4Thai” หรือเข้าเว็บไซต์www.air4thai.com เพื่อรับการแจ้งเตือนว่าในพื้นที่ของตนเองสภาพอากาศเป็นอย่างไร จะได้หาทางป้องกัน ดูแลสุขภาพตนเองจากฝุ่น PM 2.5ด้วย

สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติแห่งใหม่ของจังหวัดนนทบุรี มีเครื่องตรวจวัดที่มีเทคโนโลยี US.EPA ซึ่งเป็นวิธีการตรวจวัดที่ได้รับมาตรฐานสากล เชื่อมั่นได้ว่าการแจ้งเตือนค่าฝุ่นPM2.5 ระดับนาที และชั่วโมง มีความแม่นยำสูง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ  กล่าวว่าสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศฯ แห่งใหม่นี้ เป็นหนึ่งใน 73 สถานีใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ  และเป็นแหล่งที่ 2 ในจังหวัดนนทบุรี โดยแห่งแรกจัดตั้งที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และแห่งที่ 2 นี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุข และเป็นพื้นที่ของกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรของกรมควบคุมมลพิษ ในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ  เป็นการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง และปกป้องทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่

161166947642

"อยากให้ประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ได้ตรวจเช็คค่าฝุ่นPM 2.5  ก่อนจะเดินทางออกจากบ้าน เพราะต้องยอมรับว่าแม้กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น การใช้ยานพาหนะบนท้องถนนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลลดน้อยลง แต่ทุกพื้นที่ยังคงมีฝุ่นละอองอยู่ ฉะนั้น ประชาชนต้องร่วมกันลดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละออง ไม่ว่าจะเป็น งดเผาในที่โล่ง และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นต้น  รวมถึงถ้าไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรมนอกบ้านในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง หากจำเป็นก่อนออกจากบ้านทุกครั้งควรตรวจสอบค่าฝุ่นที่แอพพลิเคชัน Air4Thai    เพื่อประเมินความเสี่ยงและหาวิธีป้องกันการสัมผัสฝุ่นที่เหมาะสม"นายอรรถพล กล่าว

ขณะที่  นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าภาพรวมสุขภาพของผู้ที่มีอาการลดลงจากฝุ่นPM2.5สัปดาห์ที่ผ่านมา พบมากที่สุดยังคงเป็นอาการโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก ร้อยละ 17 แสบจมูก ร้อยละ 13.7 และแสบตาคันตา ร้อยละ 9.8 ซึ่งเป็นอาการเฉียบพลันที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสัมผัสฝุ่นละอองโดยกลุ่มอายุ 45-54 ปี ยังเป็นกลุ่มที่พบอาการมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ออกมาทำงานและมีโอกาสรับสัมผัสฝุ่นมากกว่ากลุ่มอายุอื่น

สำหรับกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูงเกินมาตรฐานเช่นเดียวกัน       โดยจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 พบว่า มีเด็กอายุ   0 - 14 ปี กว่าร้อยละ 44.1 ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวน 618,131 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.7 ของเด็กทั้งหมด โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ แสดงว่าในทุก วันจะมีเด็ก 0 - 14 ปีที่มาเข้ารับการรักษาด้วยการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 1,694 ราย ต่อวัน

"ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ควรป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก โดยควรลดหรืองดการออกนอกอาคารในวันที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และหากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากตลอดเวลา รวมทั้งกินอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ปิดประตูหน้าต่างในช่วงที่มีฝุ่นสูง และหากมีอาการผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์ ทั้งนี้ กรมอนามัยได้จัดทำชุดข้อมูล ความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับเด็กเล็ก โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซด์กรมอนามัยอธิบดีกรมอนามัย กล่าว