‘เอไอเอส-ทรู’ เปิดศึกชิงคลื่น 700 - 'เอ็นที' จ่อแถลงความร่วมมือ

‘เอไอเอส-ทรู’ เปิดศึกชิงคลื่น 700 - 'เอ็นที' จ่อแถลงความร่วมมือ

คาดดึงทั้ง 2 ค่ายร่วมพันธมิตร แม้ข้อเสนอ “เอไอเอส” ดีกว่า จับตาคลื่น 700 ปลุกสมรภูมิ 5จี เดือด

เอกชนชิงจ่ายค่าคลื่นแต่งตัวรอ

ขณะที่ รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่า ว่า เอไอเอส และทรู ต่างทยอยเดินทางมาจ่ายค่าคลื่น 700 ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกย่านความถี่ เพื่อขับเคี่ยวในสมรภูมิ 5จี ที่ีคาดว่าจะดุเดือดมากขึ้นในปีนี้

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) บริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งเป็นผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ในมูลค่ารวม 15,584 ล้านบาท ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 ดังกล่าวในงวดที่ 1 เป็นเงินจำนวน 1,881 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้ว

 และตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2564 เอดับบลิวเอ็นได้รับใบอนุญาต และจะมีสถานีฐานในการให้บริการคลื่น 700 ที่ใช้งานได้ทันที 3,000 สถานีฐาน ภายในเดือน ม.ค. 2564  ขณะที่งบประมาณในการลงทุนเครือข่ายปีนี้จะไม่น้อยกว่าปี 2563 ที่วางงบลงทุนไว้ 35,000 ล้านบาท

‘เอไอเอส’พร้อมเป็นพันธมิตรเอ็นที

ซีอีโอ เอไอเอส กล่าวว่า คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จะถูกนำมาเสริมศักยภาพการให้บริการ 5จี ร่วมกับคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่า ภายในปีนี้จะมีลูกค้าคอนซูเมอร์ใช้บริการ 5จี ประมาณ 1 ล้านเลขหมาย 

ขณะที่สิ้นปี 2563 มีผู้ใช้งานประมาณหลักแสนราย ส่วนลูกค้าองค์กรคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี เมื่อมีการใช้งานเทคโนโลยีไอโอที โรโบติกส์ เออาร์ หรือ วีอาร์ มากขึ้น เป็นต้น

“แม้เอไอเอสมีคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์แล้ว ก็ยังมีความสนใจในการเป็นพันธมิตรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ร่วมกับ เอ็นที ซึ่งตามที่นายพุทธิพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ประกาศนโยบายในการเปิดกว้างสำหรับพันธมิตรทุกราย ดังนั้นเชื่อว่า เอ็นทีจะไม่จำกัดการทำงานกับพันธมิตรเพียงรายเดียว” นายสมชัย กล่าว

‘ทรู’ ย้ำประสิทธิภาพคลื่น 700

นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ทรู กล่าวว่า บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ได้รับใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 และใบอนุญาตประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มต้นใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2563 ทำให้บริษัทมีคลื่นสำหรับทำ 5จี เพิ่มเติมจากเดิมที่มีคลื่น 2600

ซึ่งคลื่น 700 มีคุณสมบัติให้บริการครอบคลุม และการทะลุทะลวงเข้าถึงภายในอาคารสูง ส่วนคลื่น 2600 มีจุดเด่นเรื่องความจุ ในการรองรับปริมาณการใช้งานที่หนาแน่น เหมาะกับการให้บริการในพื้นที่ชุมชนหรือเมืองใหญ่

ทั้งนี้ ทรูได้ตั้งงบประมาณปี 2563-2565 จำนวน 40,000-60,000 ล้านบาท ในการพัฒนาเครือข่าย 5จี ดังนั้นแผนในปี 2564 บริษัทจะขยายเน็ตเวิร์คคลื่น 700 ให้ครอบคลุม 80% ของจำนวนประชากร หรือประมาณ 12,000 สถานีฐาน ส่วนคลื่น 2600 เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาต คือ ขยายให้ครอบคลุมพื้นที่อีอีซี 50% ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในครั้งที่ กสทฯ ประมูลคลื่น 700 ไปนั้น ได้มีการเจรจากับ ทรู เพื่อขอให้ความถี่ร่วมกันในฐานะท่ี่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกันมาในอดีตด้วย

ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร ทรู เคยกล่าวว่า ทรู ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองจากผู้ให้บริการโทรคม 2-3 โปรดักส์ เช่น มือถือ บรอดแบนด์ เพย์ทีวี เป็น ดิจิทัล มีเดีย เป็นผู้เล่นที่ช่วยเติมเต็มเรื่อง Fulfillment ด้านอีคอมเมิร์ซ แต่ไม่ได้เป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซ โดยใช้เนเจอร์ที่ทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้มีประสิทธิภาพสู่การเป็น โซลูชั่น แพลตฟอร์ม เป็น โซลูชั่น ฟอร์ ไลฟ์ 

‘เอ็นที’เตรียมเซ็นสัญญาเอกชนเร็วๆนี้

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า เอ็นที โมบาย หน่วยธุรกิจด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอ็นที กำลังอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปถึงแนวทางการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับค่ายมือถือบางราย ด้วยการนำความจุโครงข่าย (คาปาซิตี้) ของคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่เอกชนประมูลไปจาก กสทช. เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 มาแลกกับคลื่น 700 ที่เอ็นทีถือครองอยู่

ซึ่งเดิมให้กสทฯเป็นผู้ประมูลและได้มาจำนวน 20 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาให้ 5จี ที่ให้บริการมีความทันสมัย และทำให้รัฐวิสาหกิจอยู่รอดได้ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเด็นที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ คือ สิ่งที่ดี เร็ว และประหยัดในการขยายโครงข่าย จึงต้องพึ่งพาพันธมิตร และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนม.ค.นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกค้าเดิมของ “ทีโอที โมบาย” มีอยู่ 1.8 แสนราย ส่วน “มาย บาย แคท” อยู่ที่ 2.5 ล้านราย เมื่อนำมาบริหารจัดการร่วมกันรวมเป็น “เอ็นที โมบาย” ก็จะมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 2.68 ล้านราย

ขณะที่ มีความคลื่นความถี่รวมกัน 600 เมกะเฮิรตซ์ จาก 6 ย่านความถี่ทั้งที่มีอยู่เดิม ประกอบด้วย 1.คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 10×2 เมกะเฮิรตซ์ 2. คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 400×1 เมกะเฮิรตซ์ 3. คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 15×2 เมกะเฮิรตซ์ 4.คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 15×2 เมกะเฮิรตซ์ 5.คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60×1 เมกะเฮิรตซ์ และ 6.คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 30×2 เมกะเฮิรตซ์รวม 6 คลื่นจำนวน 600 เมกะเฮิรตซ์

คุยมีพันธมิตรจะแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาว่าจะนำคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่เหลือคาปาซิตี้ 30% และคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ เหลือคาปาซิตี้ 40% จะมาร่วมกับคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ของ แคท ที่มีคาปาซิตี้ เหลืออยู่ 30% รองรับได้ 10 ล้านเลขหมาย ดังนั้นการทำตลาดก็คงเน้นไปที่กลุ่มลูกค้ารัฐ ราชการ หรือขายไปพร้อมกับเน็ตบ้าน

อย่างไรก็ดี ภาพในอนาคตของเอ็นทีหลังจากควบรวมแล้ว จะเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด หลังได้เรียกให้ที่ปรึกษามาดำเนินการควบรวม 2 องค์กร พบว่า หากเป็นเอ็นทีแล้วบริษัทจะมีมูลค่าสินทรัพย์มากถึง 300,000 ล้านบาท

แบ่งเป็น 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ (ซับ มารีน) 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่านมีปริมาณ 600 เมกะเฮิรตซ์ 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก

161156928443

จับตาการขยับตัวของ“ดีแทค”

อย่างไรก็ตาม ในส่วน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค น้องเล็กที่ปัจจุบันมีคลื่นความถี่ในมือเพียง 270 เมกะเฮิรตซ์ น้อยที่สุดในบรรดาผู้ให้บริการทั้งหมด และน้อยกว่าเอ็นที น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า ยุทธศาสตร์จากนี้ของค่ายกังหันสีฟ้าจะมีทิศทางอย่างไร ท่ามกลางข้อจำกัดด้านงบประมาณในการลงทุน และการหาพันธมิตรเพิ่มเติม

เปิดจุดเด่น คลื่น 700

ขณะที่ แผนการนำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้งานของทั้ง 3 ค่ายมือถือ จะมีความคล้ายคลึงกัน คือ นำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเรื่องของความครอบคลุมพื้นที่ สามารถทะลุทะลวงเข้าไปภายในอาคารสูงเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ประโยชน์ในการใช้งาน 5จี บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตช์ นอกเหนือจากความครอบคลุมแล้ว ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของความหน่วงต่ำ หรือ Low Latency ทำให้สามารถสื่อสารระหว่างอุปกรณ์เชื่อมต่อได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไร้คนขับที่จะถูกนำมาใช้งานในอนาคต เพราะเมื่อมีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณกว้าง และความหน่วงต่ำก็สามารถนำมาใช้งานได้

นอกเหนือจาก 5จี แล้ว คลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ยังสามารถนำไปใช้ในการให้บริการ 4จี ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นด้วย และในท้องตลาดปัจจุบันนี้ ก็มีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน 4จี บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตช์ทำให้ประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือโดยรวมทั่วประเทศจะดีขึ้นจากทุกค่ายผู้ให้บริการมือถือ