เร่งก้าวข้ามความท้าทาย มุ่งสู่เป้าหมายสีเขียว

เร่งก้าวข้ามความท้าทาย มุ่งสู่เป้าหมายสีเขียว

เปิดเหตุผล ทำไมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงช่วงโควิด-19 แต่การเร่งตัวของอุณหภูมิบนโลกแทบไม่ได้ลดลง และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 3°C หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายทั่วโลกจะปรับให้เกิดการฟื้นฟูสีเขียวได้อย่างไร?

สวัสดีปีใหม่ครับ

ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา ทุกท่านคงรู้สึกเช่นเดียวกับผมว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่เงียบเหงากว่าปีก่อนๆ อีกทั้งยังมีความวิตกกังวลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างรวดเร็วเกือบทั่วประเทศ ทำให้พวกเราจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด รวมถึงละเว้นกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นจุดรวมตัวของคนจำนวนมากเพื่อ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

และอย่างที่เราทราบกันว่าการลดกิจกรรมดังกล่าวมีผลพลอยได้ในการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิบนโลกร้อนขึ้น โดยเฉพาะในปี 2563 ที่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาดเกือบตลอดทั้งปี เป็นที่น่าสนใจว่าการลดกิจกรรมต่างๆ ในปีที่ผ่านมา มีส่วนช่วยในการลดโลกร้อนได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ในเดือน ธ.ค.ปี 2563 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้จัดทำรายงานสำคัญที่บอกเล่าความคืบหน้าเกี่ยวกับภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก นั่นคือรายงานประจำปี Emissions Gap Report 2020 ซึ่งมีเนื้อหาตรงตามชื่อของรายงาน โดยเป็นการประเมินว่ายังมีภารกิจที่ท้าทายอยู่มากน้อยเพียงใด ที่เราจะต้องเร่ง “เติมเต็ม” เพื่อบรรลุเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยบนโลกให้ไม่เกิน 2°C (ดีที่สุดคือไม่เกิน 1.5°C) ในศตวรรษนี้

ผมเลือกเนื้อหาบางช่วงบางตอน รวมถึงตัวเลขที่น่าสนใจมาเล่าให้ท่านทราบ ดังนี้

แม้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงบ้างในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่การเร่งตัวของอุณหภูมิบนโลกของเราแทบไม่ได้ลดลงเลย ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 3°C (แทนที่จะเป็นต่ำกว่า 2°C ตามเป้าหมาย) ภายในศตวรรษนี้ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้

จากการพยายามหยุดยั้งโรคระบาด หลายประเทศทั่วโลกจึงลดการเดินทาง ลดกิจกรรมการผลิตทางอุตสาหกรรม และแน่นอนที่สุดลดการผลิตไฟฟ้าลง จึงคาดการณ์ว่าทั้งปี 2563 โลกจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 7% แต่การลดลงนี้กลับช่วยชะลออุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นได้เพียงแค่ 0.01°C ภายในปี 2593 เท่านั้น นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2553 โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นถึง 1.4% ต่อปี และเติบโตสูงเป็นพิเศษถึง 2.6% ในปี 2562 จากไฟไหม้ป่าใหญ่ๆ ทั่วโลก จึงทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกพุ่งสูงถึง 59.1 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2e)

อย่างไรก็ตาม ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

หากเราสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 โดยปรับให้เป็นการฟื้นฟูสีเขียว (Green Pandemic Recovery) อย่างแท้จริง ซึ่งต้องรีบดำเนินการอย่างรวดเร็ว เรายังจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คาดการณ์ไว้ในปี 2573 ได้ถึง 25% จาก 59 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็น 44 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

คำถามคือ จะทำได้อย่างไร

คำตอบนั้นอยู่ที่ การเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเริ่มดำเนินการลงทุนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวโดยเร็ว และสร้าง พันธสัญญาที่ชัดเจนและจริงจังขึ้นในการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP26) ที่จะจัดที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์เดือนพ.ย. 2564 หากทำได้ดังนี้ มีโอกาสมากถึง 66% ที่เราจะสามารถหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ไม่เกิน 2°C ได้

ไม่เพียงเท่านี้ หากรัฐบาลต่างๆ ยังดำเนินการต่อเนื่องอย่างจริงจังเพื่อให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ผ่านข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่าง Nationally Determined Contributions (NDCs) ภายใต้ความตกลงปารีส เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายกว่าในการชะลอไม่ให้อุณหภูมิบนโลกเพิ่มเกิน 1.5°C ได้

ขณะนี้ มีรัฐบาลเพียงหนึ่งในสี่ของกลุ่มประเทศ G20 ได้จัดสรรงบประมาณ 3% ของงบประมาณรวมเพื่อลงทุนกับมาตรการลดปริมาณคาร์บอน ซึ่งยังคงไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูสีเขียวข้างต้น แต่เราได้เห็นสัญญาณบวกจากผู้นำประเทศต่างๆ แล้ว

ในขณะที่รายงานฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ มีรัฐบาลจากประเทศต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 126 ประเทศรวมทั้งจีนและอินเดีย ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 51% ของโลกได้เริ่มดำเนินการ หรือประกาศ หรือพิจารณาที่จะตั้งเป้าหมายสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และหลายประเทศได้ร่วมประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency Declaration) อาทิ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ นับว่าเป็นข้อมูลที่ทำให้มีความหวังขึ้นบ้างว่ามีความพยายามที่จะเร่งก้าวข้ามความท้าทาย เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสีเขียวอย่างยั่งยืนร่วมกันครับ