กนช. ไฟเขียว 5 โครงการ วงเงิน 7.5 พันล้านบาทเพิ่มเติมงบปี 65

กนช.  ไฟเขียว 5 โครงการ วงเงิน 7.5 พันล้านบาทเพิ่มเติมงบปี 65

กนช. นัดพิเศษ เห็นชอบก่อสร้าง 5 โครงการ วงเงิน 7.5 พันล้านบาท เพิ่มเติมงบปี 65 เร่งแก้น้ำท่วม กทม. – รองรับเมืองต้นแบบปัตตานี พร้อมตั้งคณะอนุกรรมอนุรักษ์คลองแสนแสบเดินหน้าแก้ปัญหาระบบนิเวศน้ำในกทม.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) (นัดพิเศษ) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีว่าการประชุม กนช.  ได้เห็นชอบ 5 โครงการสำคัญที่หน่วยงานมีความพร้อมในการขอตั้งงบประมาณประจำปี 2565 วงเงินรวม  กว่า 7,530 ล้านบาท

                แบ่งเป็นโครงการในพื้นที่ กทม.4 โครงการวงเงินงบประมาณรวม 6500 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 1.โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองบางไผ่ จากบริเวณคลองพระยาราชมนตรีถึงบริเวณสุดเขต กทม. เป็นการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 20,700 เมตร ประตูระบายน้ำ จำนวน 1 แห่ง ดาดท้องคลองใต้สะพาน สะพานคนเดินข้าม พร้อมติดตั้งราวเหล็กกันตก บันไดเหล็กหน้าเขื่อน และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ จำนวน 1 แห่ง ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (ปี65-68) เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำฝน ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ บางแค หนองแขม และทวีวัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 14 ตร.กม.

161122364920

 สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของ กทม. ให้ระบายผ่านคลองบางไผ่ไปยังคลองทวีวัฒนาหรือไปทางคลองพระยาราชมนตรี เพิ่มปริมาตรเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำได้ 186,300 ลบ.ม. แล้วระบายลงสู่โครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย-คลองสนามชัย” ได้สองทาง อัตราการไหลสอดคล้องกับอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาและอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี

                 2.โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ จากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก เป็นการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 27,400 เมตร พร้อมติดตั้งสะพานเหล็กทางเดิน บันไดขึ้น-ลง และก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสีย ความยาว 27,400 เมตร มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (ปี65-69) เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยเร่งระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำฝนในพื้นที่เขตคลองสามวา มีนบุรี และหนองจอก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 90 ตร.กม. สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. โดยให้คลองแสนแสบเป็นเสมือนแก้มลิงและทำหน้าที่ระบายน้ำไปยังแม่น้ำบางประกง โดยสามารถรองรับปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 479,500 ลบ.ม. อัตราการไหล 60 ลบ.ม.ต่อวินาที (ปตร.หนองจอก)

3.โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองบางนาจากคลองเคล็ดถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 14,500 เมตร ระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย ความยาว 14,500 เมตร พร้อมติดตั้งราวเหล็กกันตก บันไดเหล็กหน้าเขื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (ปี65-68) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เขตบางนาและเขตประเวศ ครอบคลุมพื้นที่ 25 ตร.กม. ลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งประชาชนสามารถใช้เป็นทางเดินสัญจรและทางจักรยานออกกำลังกาย นอกจากนี้จะมีการพัฒนาภูมิทัศน์ริมฝั่งคลองด้วย

 

               

และ 4.โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร ยาว 1,700 เมตร อาคารรับน้ำคลองลาดพร้าว จำนวน 1 แห่ง งานเชื่อมต่ออุโมงค์กับอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จำนวน 1 แห่ง และระบบระบายน้ำคลองด่วนลงสู่คลองบางซื่อ จำนวน 1 แห่ง ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ปี65–67) จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตห้วยขวาง ลาดพร้าว และจตุจักร โดยเพิ่มพื้นที่ในการระบายน้ำลงสู่อุโมงค์อีก 36.60 ตร.กม. สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมขังและลดปัญหาการจราจรติดขัดจากน้ำท่วมผิวจราจรได้อีกด้วย

  161122371179

นอกจากนี้ยังเห็นชอบโครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ดำเนินการโครงการสถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จ.ปัตตานี วงเงิน 1030 ล้านบาท ซึ่งได้ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดปัตตานีและคณะกรรมการลุ่มน้ำปัตตานี มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำดิบ ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา อาคารโรงประปา มีกำลังการผลิต 1,200 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 28,800 ลบ.ม.ต่อวัน สามารถผลิตประปาได้ปริมาณ 10.52 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และระบบระบบท่อหลัก ออกแบบด้วยหลักการ “ระบบโครงข่ายท่อ” (Pipe Network)

 เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่ต้องกระจายน้ำไปทุกทิศทางและป้องกันความเสียหายของการส่งน้ำอันเนื่องจากการก่อวินาศกรรม มีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี (ปี65–66) สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดปัตตานี ได้แก่ หนองจิก แม่ลาน โคกโพธิ์ และเมืองปัตตานี ช่วยเพิ่มศักยภาพการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบ เขตอุตสาหกรรมหนองจิก และโครงการท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางการทหารและแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ และที่สำคัญจะทำให้มีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคอย่างพอเพียง เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

รวมทั้งเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สทนช. กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาคเอกชน ได้บูรณาการขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำ เสริมสร้างความปลอดภัยการสัญจรทางน้ำของประชาชน ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ แก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำ รวมทั้งบูรณาการบริหารจัดการน้ำ ให้ครอบคลุมและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาคลองแสนแสบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ระบบนิเวศมีความสมบูรณ์ได้อีกครั้ง