เฉลิมชัย เร่งชงครม. แก้ผู้ได้รับผลกระทบโครงการฝายหัวนา

เฉลิมชัย เร่งชงครม.  แก้ผู้ได้รับผลกระทบโครงการฝายหัวนา

"เฉลิมชัย” โชว์ฟอร์มปิดจ๊อบแก้ปัญหาโครงการฝายหัวนา ศรีสะเกษ หลังผู้ได้รับผลกระทบเรียกร้องมานาน 29 ปี โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา มีมติเห็นชอบจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ลั่นจะเร่งนำเข้าขอมติ ครม.โดยเร็ว

นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ครั้งที่ 1/64 พร้อมทั้งมีการประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ไปยังจังหวัดศรีสะเกษ และส่วนราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  ว่า ได้รับมอบหมายจานายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฝายหัวนา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง เห็นชอบรายชื่อราษฎรผู้มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทน 82 แปลง เนื้อที่ 422 ไร่เศษ จำนวนเงิน 52.78 ล้านบาท สอง เห็นชอบรายชื่อผู้ครอบครองที่ดินและมีสิทธิ์ได้รับค่าขนย้าย 22 แปลง เนื้อที่ 206 ไร่เศษ จำนวนเงิน 9.29 ล้านบาท และ สาม เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการจ่ายเงินค่าชดเชยกลุ่มละ 3 คน

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการต่อไปนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้เร่งนำเสนอขอมมติคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทน และค่าขนย้ายดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ซึ่งจากผลที่เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของความสำเร็จในการเร่งให้ช่วยเหลือราษฎรในโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้ต่อสู้เรียกร้องมานาน 29 ปี และได้มาประสบความสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้

“ ในส่วนการแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าชดเชยค่าทดแทนในพื้นที่อื่นๆ อาทิ เขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังดำเนินแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยจะเร่งจัดประชุมคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบการช่วยเหลือตามข้อเรียกร้องโดยเร็วต่อไป”

ทั้งนี้ สำหรับโครงการฝายหัวนา เป็นส่วนหนึ่งของระบบผันน้ำลำน้ำมูลโครงการโขง–ชี–มูล ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 ตั้งอยู่บ้านกอก ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นฝายคอนกรีตพร้อมติดตั้งประตูระบายน้ำ จำนวน 14 บาน เก็บกักน้ำในลำน้ำมูลได้ประมาณ 96.65 ล้านลูกบาศก์เมตรที่ระดับ + 112.00 ม.รทก. มีพื้นที่น้ำท่วม ใน 6 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ อำเภอกันทรารมย์ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอราษีไศล อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีในสองฝั่งของลำน้ำมูล ความยาวประมาณ264 กิโลเมตรโครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้าง พ.ศ.2535 ถึง พ.ศ.2543 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ต่อมา พ.ศ.2546 ได้โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามพระราชกฤษฎีกา โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545