ศิริราช ชี้ปัจจัยเลือกวัคซีน “ความปลอดภัย” อันดับหนึ่ง

ศิริราช ชี้ปัจจัยเลือกวัคซีน  “ความปลอดภัย” อันดับหนึ่ง

การศึกษาวิจัยเรื่องวัคซีนโควิด-19 ซึ่งดูจะเป็นเรื่องใหม่ในวงการแพทย์ทั่วโลก ทำให้การนำเข้าวัคซีนจึงไม่ใช่มองที่ประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งคือ “ความปลอดภัย” ไม่ใช่เพื่อปลอดการติดเชื้อ แต่เพื่อลดอัตราการระบาด ความรุนแรงและการเสียชีวิต

หลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างสหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร พบว่ายังคงมีผู้ป่วยเพิ่มสูงในแต่ละวัน ซึ่งยังคงต้องติดตามไปอีกสักระยะหนึ่ง ขณะเดียวกัน ยังมีประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน ได้แก่ ฝรั่งเศส และ ญี่ปุ่น แม้รัฐบาลพยายามจะรณรงค์และสั่งจองวัคซีนไปแล้วก็ตาม

วานนี้ (19 ม.ค.64) “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) “ประเทศไทย” โรคสงบมาหลายเดือนกระทั่งเริ่มเกิดคลัสเตอร์ ท่าขี้เหล็ก สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี กทม. อ่างทอง กระจายออกไป ขณะนี้มีผู้ป่วย 200 – 300 รายต่อวัน

“เวลาดูตัวเลข ขออย่าตระหนก ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. จากการตรวจเชิงรุก แรงงานต่างด้าวในโรงงานต่างๆ ยิ่งเจอเยอะยิ่งดี เพราะจะได้รู้ว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่เท่าไหร่ เพื่อให้มีมาตรการในการควบคุม แต่ที่ต้องระวัง คือ 2. การติดเชื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะไม่รู้แหล่งที่มา 3. เดินทางมาจากต่างประเทศในสถานที่กักกัน ซึ่งมาตรการกักตัวทำได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เวลาดูตัวเลขต้องดู 3 องค์ประกอบเพราะจะได้รู้ว่า น่ากลัวหรือไม่น่ากลัวอย่างไร” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

  • ภูมิคุ้มกัน มีโอกาสลด ติดเชื้อซ้ำได้

ทั้งนี้ ความจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 คือ ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นและอาจสูงพอที่จะยับยั้งเชื้อได้ตั้งแต่ 8 วันหลังการติดเชื้อ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค (รุนแรงน้อย ระดับภูมิคุ้มกันน้อย) ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น จะขึ้นเร็วใน 3 สัปดาห์แรกหลังการติดเชื้อ แล้ว ค่อย ๆ ลดลง

การศึกษาของหน่วยงาน Public Health England (PHE) ระบุว่า ภูมิคุ้มกันจะคงอยู่ไม่น้อยกว่า 5 เดือน แต่ไม่น่าจะคงอยู่นาน จากการที่ภูมิคุ้มกันไม่ได้อยู่นาน การติดเชื้อซ้ำจึงเกิดขึ้นได้ จำนวนสัดส่วนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะก่อให้เกิด Herd (Community) Immunity (ภูมิคุ้มกันหมู่) ในการแพรระบาดของโควิด 19 ยังไม่ทราบซัดเจน (ในโรคหัดคือ 95% ในโปลิโอคือ 80%) 

คณบดี คณะแพทย์ฯ ศิริราช กล่าวต่อไปว่า การติดเชื้อรอบนี้ของไทย มีผู้ป่วยหนักอายุ 40 ปี และมีผู้เสียชีวิตอายุน้อยเช่นกัน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าใครปลอดภัย หรือใครจะเสียชีวิต ไวรัสล่องลอยในอากาศ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในอากาศ ต้องอยู่ในสิ่งมีชีวิต ในกรณีเหล่านี้หากไวรัสไม่สามารถเข้าไปในตัวคนได้จากการที่มีภูมิคุ้มกัน จำนวนไวรัส จะค่อยๆ ลดจำนวนลงไป

“คำว่าภูมิคุ้มกันหมู่ เกิดได้ 2 แบบ จากการติดเชื้อธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันหรือเสียชีวิต และ รูปแปปถัดมา คือ ฉีดวัคซีน จะทำให้คนไม่มีภูมิ มีภูมิและอัตราการตายน้อยลง การฉีดวัคซีนต้องให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย ลดอัตราการตายจากไวรัส และต้องไม่ตายจากวัคซีน"

  • เลือกวัคซีนจากความปลอดภัยอันดับหนึ่ง

ความจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับการผลิตการพัฒนาวัคซีนนั้น พบว่า วัคซีนที่ผ่าน Preclinical phase คือ ศึกษาเฉพาะในสัตว์ทดลอง ประสบความสำเร็จเมื่อใช้ในคน มีเพียงราว 7% ขณะที่ วัคซีนที่ผ่านเข้าสู่การศึกษาในคน ประสบความสำเร็จเพียงประมาณ 20% วัคซีนที่ผ่านการศึกษาในคนระยะที่ 3 อาจประสบความสำเร็จในการใช้จริงเพียง 50% (เหตุผลของการต้องผลิตวัคซีนในหลากหลายรูปแบบ) และ คนจากต่างพื้นที่ ต่างวัย อาจตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่เหมือนกัน

ดังนั้น การเลือกวัคซีนไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงใกล้ 100% แต่อย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่า 50% (วัคชีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำปี ทั่วไปมีประสิทธิภาพประมาณ 50% ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการฉีด ยังอาจเป็นไข้หวัดใหญ่แต่จะไม่รุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต) แต่ปัจจัยสำคัญในการเลือกวัคซีน คือ ความปลอดภัย การบริหารจัดการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่ยังมีคุณภาพ เป็นอีกหนึ่งข้อพิจารณาที่สำคัญในการเลือก เพราะวัคซีนบางชนิดจัดเก็บยาก ต้องคำนึงถึงการขนส่งโดยเฉพาะไปในพื้นที่ห่างไกล การเก็บในอุณหภูมิที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เสื่อมประสิทธิภาพ ดังนั้น การใช้วัคซีนต้องดูองค์ประกอบนี้ด้วย

คณบดี คณะแพทย์ฯ ศิริราช กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 ม.ค.64 ทั่วโลกขณะนี้มีวัคซีนที่อยู่ในระยะที่ 3 จำนวน 20 ตัว มีการใช้ในหลายประเทศกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็น จำนวน 8 ตัว และใช้ทั่วไป 2 ตัว หยุดการผลิต 1 ตัว โดยวัคซีนที่ศึกษาในคนระยะ 1 – 2 เพื่อศึกษาเน้นความปลอดภัยซึ่งสำคัญ ก่อนเข้าสู่ระยะ 3 เป็นการประเมินประสิทธิภาพ ทั้งนี้ แนวทางเกี่ยวกับการบริหารจัดการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ นั้น พบว่า มักใช้วัคซีนมากกว่า 1 ประเภท/แบรนด์ เช่น อังกฤษ ใช้ทั้งของ ไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค โมเดอร์นา และ แอสตร้าเซเนก้า

โดยจุดประสงค์หลักการฉีดวัคซีน ไม่ได้เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ แต่เพื่อลดอัตรา การระบาดของเชื้อ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ สามารถเกิดได้ตามธรรมชาติจากการติดเชื้อ แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าในการติดเชื้อแล้ว ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ มีอาการน้อย มีอาการมาก หรือเสียชีวิต สิ่งที่รู้ คือ ปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต การประเมินผลภายหลังการฉีดวัคซีนว่าจะป้องกันโรคได้หรือไม่ ต้องใช้เวลา (Post marketing Surveillance) ดังนั้น การใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง หมันทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนหน้าแน่นยังจำเป็น

ทั้งนี้ กรณีการฉีดวัคซีนในนอร์เวย์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต เป็นของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค ซึ่งไทยไม่ได้สั่งเข้ามา เป็นเทคโนโลยีใหม่ mRNA ขณะที่ วัคซีนซึ่งไทยได้สั่งจองไว้ไม่ว่าจะเป็นแอสตร้าเซเนก้า หรือ ไซโนแวค สองตัวนี้ใช้เทคโนยีที่ใช้มานาน พอจะรู้เรื่องความปลอดภัยดี

“หากจะบอกวัคซีนทุกตัวปลอดภัย 100% ไม่สามารถพูดได้ แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่เวลานี้ที่ฉีดประจำทุกปี มาจากการนำเอาเชื้อไวรัสมาทำให้อ่อนแรง เช่นเดียวกับ ไซโนแวค ที่ผ่านมา คนที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ดังนั้น ใช้อะไรที่คุ้นเคยน่าจะดีกว่า เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้มานาน และยังไม่มีอันตรายถึงชีวิต เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมา” คณบดีคณะแพทย์ฯ ศิริราชกล่าวทิ้งท้าย