ม.หอการค้าไทย แนะ 'เราชนะ' ควรใช้กับร้านค้าเหมือน 'คนละครึ่ง' ต่อลมหายใจเอสเอ็มอี

ม.หอการค้าไทย แนะ 'เราชนะ' ควรใช้กับร้านค้าเหมือน 'คนละครึ่ง' ต่อลมหายใจเอสเอ็มอี

"ธนวรรธน์" แนะโครงการ "เราชนะ" ควรใช้กับร้านค้าเหมือน "คนละครึ่ง" เพื่อก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยต่อลมหายใจให้เอสเอ็มอี

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 64 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทางศูนย์ฯได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2564 ที่มาตรการล็อกดาวน์ไม่เข้มข้น อยู่ที่ 1.5-2 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลก็ได้พยายามใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในจำนวนเท่าที่เท่ากับหรือมากกว่าตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ ก็จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ลง

ทั้งนี้ โครงการคนละครึ่ง มีประสิทธิภาพมากที่ทำให้เงินเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยเหลือธุรกิจขนาดลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และทำให้เกิดการจ้างงาน แต่ด้วยโครงการคนละครึ่งยังไม่ถึงระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ และยังมีสิทธิคงค้างอยู่ ทำให้รัฐบาลเลือกใช้วิธีโอนเงินโดยตรงในโครงการเราชนะ ให้กับผู้ที่เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 และให้ครอบคลุมกับประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยชดเชยกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไปด้วย

สำหรับโครงการเราชนะที่จะแจกเงินให้เปล่า 3,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ว่าให้ไปซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน อย่าง อาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งเห็นว่าควรให้เกณฑ์การใช้เงินกับร้านค้าแบบโครงการคนละครึ่งมากกว่า เพราะไม่แน่ใจว่าเงิน 3,500 บาท จะไปใช้ในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เช่น การซื้อของฟุ่มเฟือย การซื้อของที่ไม่ได้ผลิตภายในประเทศ ทำให้เงินเหล่านี้อาจจะไม่ได้ไปช่วยกับธุรกิจเอสเอ็มอีโดยตรง