14 มกราคม กำเนิด ‘ปฏิทิน’ ครั้งแรกของไทย ตั้งแต่สมัย ร.3

14 มกราคม กำเนิด ‘ปฏิทิน’ ครั้งแรกของไทย ตั้งแต่สมัย ร.3

ชวนรู้จัก "ปฏิทิน" ชิ้นแรกของโลกที่มีต้นกำเนิดมาจากชาวบาบิโลเนียน และย้อนรอยดูการตีพิมพ์ "ปฏิทิน" ครั้งแรกของไทย เพื่อใช้งานในสมัยรัชกาลที่ 3 พร้อมเช็คลิสต์ปฏิทินแบบไหน? ครองใจคนไทยตลอดกาล

วันที่ 14 มกราคม ของทุกปีแม้ว่าจะไม่ถูกนับเป็นวันสำคัญทางราชการ แต่วันนี้เป็นวันที่ก่อกำเนิดสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งมนุษย์ขาดไม่ได้ นั่นคือ “ปฏิทิน” โดยในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 ได้มีการตีพิมพ์ปฏิทินขึ้นมาครั้งแรกของประเทศไทย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนรอยทำความรู้จัก “ปฏิทิน” อุปกรณ์เช็ควันเดือนปีที่สำคัญของชาวโลก และดูตำนานปฏิทินไทยว่ามียุคไหนบ้างที่น่าสนใจ

161060921981

  • ต้นกำเนิด “ปฏิทิน” ครั้งแรกในโลก

ปฏิทิน หรือ Calendar ในภาษาอังกฤษ เป็นคำที่มาจากภาษาโรมันที่นำมาจากคำพูดของชาวกรีกโบราณว่า Kalend ในภาษาอังกฤษคือ “I Cry” แปลไทยได้ว่า “การร้องบอก” โดยในสมัยโบราณจะมีคนคอยร้องบอกชาวเมือง เพื่อบอกกล่าวเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า รวมถึงประกาศวันขึ้นเดือนใหม่ เพื่อให้ลูกหนี้จ่ายเงินที่คั่งค้าง

ต่อมาปฏิทินแบบกระดาษจึงได้ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อใช้แทนคนร้องบอกข่าว มีการริเริ่มบันทึก วัน เวลา ขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ปฏิทินจึงนับว่าเป็นสิ่งบอกเวลา และกลายเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตประจำวันไปในที่สุด

161060922948

  • ปฏิทินยุคโบราณ

แม้ปฏิทินในประเทศไทยจะถูกตีพิมพ์มาในปี 2385 แต่ความเก่าแก่ของปฏิทินโลกมีมานานแล้วมากกว่า 1,000 ปี จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในปัจจุบันเชื่อกันว่าชนชาติแรกที่คิดค้น ระบบการนับวันแบบปฏิทินนั้นคือ ชาวบาบิโลเนียน พวกเขากำหนดวัน เดือน ปี โดยสังเกตจากระยะต่างๆ ของดวงจันทร์ ซึ่งก็คือการสังเกตข้างขึ้นข้างแรมนั่นเอง

โดยเมื่อเกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 1 รอบ ก็จะถือเป็น 1 เดือน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่า ปฏิทินจันทรคติ และพวกเขายังกำหนดให้ 1 ปีนั้นมี 12 เดือนอีกด้วย สาเหตุที่ชาวบาบิโลเนียนกำหนดให้ 1 ปี มี 12 เดือน ก็เพราะว่า เมื่อใดที่เกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 12 รอบ ฤดูกาลก็จะเวียนกลับมาอีกครั้ง

ต่อมาอาณาจักรข้างเคียงก็ได้ยอมรับเอาปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาใช้ในอาณาจักรตนเอง เช่น ชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีก และชาวเซเมติก เป็นต้น เมื่อโลกมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีมากขึ้น ชนชาติที่นำเอาปฏิทินแบบบาบิโลเนียนไปใช้ ก็ได้ปรับปรุงและพัฒนาให้มีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ชาวอียิปต์โบราณ" ที่พัฒนาแนวคิดเรื่องปฏิทินได้อย่างรุดหน้ามากที่สุด แต่เดิมชาวโรมันกำหนดให้ 1 ปี มี 355 วัน (ตามระบบจันทรคติ) และทุกๆ 4 ปี (ปีอธิกวาร) ต้องเพิ่มวันเข้าไปอีก 22 วัน เพื่อให้ตรงกับฤดูกาล หรือการคำนวณแบบสุริยคติ)

จนกระทั่ง 46 ปีก่อนคริสต์ศักราช จูเลียส ซีซาร์ แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งได้เข้าครอบครองอียิปต์ ในรัชสมัยของพระนางคลีโอพัตรา ได้นำแนวคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โซซิเจเนส (Sosigenes) มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่าปฏิทินจูเลียน ซึ่งใช้กันมายาวนานจนถึง ค.ศ.1582

161060924269

  • 14 มกราคม กำเนิด ‘ปฏิทิน’ ครั้งแรกในไทย

ในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยนับปีตามปีมหาศักราชและจุลศักราช ตามลำดับ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ ในปีจุลศักราช 1240 ซึ่งตรงกับปี พศ.2431 โดยใช้แบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียน

ต่อมามีการพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสามารถตรวจสอบและค้นคว้าหาหลักฐานได้จาก ไมโครฟิล์ม หนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) หน้า 5 ในหอสมุดแห่งชาติ หรือค้นคว้าได้จากหนังสือต้นฉบับ ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ ซึ่งหมอ บรัดเลย์ ได้เขียนไว้ว่า

“ 14 First Calendar print in B. 1842 ” (ไม่บอกว่าใครเป็นผู้พิมพ์ แต่คาดการณ์กันว่าคือ หมอบรัดเลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ ผู้มีผลงานทางหนังสือมากมาย)

ต่อมา รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย (ภายหลังจากที่ หมอบรัดเลย์ พิมพ์ปฏิทินชิ้นแรกในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2385) เมื่อ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2404 ดังปรากฏหลักฐานใน หนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ฉบับ ปี ค.ศ. 1862 (พ.ศ. 2405) หน้า 108

ในสมัย รัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทย ได้แก่ “ประนินทิน” ซึ่งลงโฆษณาใน หนังสือสยามไสมย ของ หมอสมิท เขียนคำโฆษณาไว้ตอนหนึ่งว่า “ประนินทินนี้ แจ้งให้รู้ถึงการอื่นเป็นอันมากอันควรคนทั้งปวงจะรู้ ถ้าไม่รู้เขาจะนินทาว่าคนโง่” แจ้งราคาขายไว้เล่มละ 4 บาท (ราคาในสมัยนั้น) ปัจจุบันยังหาประนินทินของหมอสมิทไม่พบ

ปฏิทินในสมัย รัชกาลที่ 6 ที่น่าสนใจได้แก่ปฏิทินพกเล่มเล็กๆ ที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้พิมพ์เป็นของชำร่วย สำหรับแจกพระราชทาน แก่ขุนนางที่ลงนามถวายพระพร ในวันขึ้นปีใหม่ ปฏิทินพกแบบนี้ยังมีแจกต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งบุคคลธรรมดาก็สามารถไปลงนามถวายพระพรและรับปฏิทินหลวงได้

การพิมพ์ปฏิทินเล่มยังมีการจัดทำต่อมา จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน ปฏิทินเล่มยังมีรายละเอียดในเรื่องของ สภาพภูมิอากาศ เวลาน้ำขึ้น-น้ำลง การเดินทางของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย

161060925621

ยังมีสมุดบันทึกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบอกรายละเอียดของ วัน เดือน ปี เรียงไปตามลำดับ และมีหน้าสำหรับจดบันทึกหมายเหตุรายวัน รวมถึงวันสำคัญ และวัน เวลา นัดหมาย ฯลฯ ที่เรียกว่า “ไดอารี่” (Diary) หรือ “สมุดบันทึกประจำวัน” ก็สามารถอนุโลมให้เป็นปฏิทินได้

ปฏิทินไดอารี่ เริ่มมีใช้ในเมืองไทยเมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่ไดอารี่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างสูง คือ ไดอารี่ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกว่า “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน”

  • ปฏิทินยอดฮิตของคนไทย

ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์มีอิทธิพลในต่อประชาชนอย่างล้นหลาม ปฏิทินก็คือหนึ่งในสินค้าที่ขายดี และผู้คนให้ความสำคัญ ดังนั้นแล้วการสร้างจุดเด่นให้กับปฏิทิน เพื่อกระตุ้นยอดขายจึงเป้นไปตามกลไตลาด โดยปฏิทินที่คุ้นเคยกับคนไทยที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยผ่านหู ผ่านตา หรือได้ยินกันมาบ้างคือ

1. ปฏิทินสายเซ็กซี่คลาสสิค

การดึงนางแบบมาถ่ายปฏิทินหวาบหวิว มีต้นกำเนิดยาวนานตั้งแต่ปี 2502 ที่ให้มีนางแบบใส่ชุดวาบหวามเพียงแค่ชุดกางเกงขาสั้น เสื้อเชิ้ตแขนสั้นพับแขน ผูกชายที่เอว ก่อนที่จะเริ่มพัฒนามาเป็นชุดว่ายน้ำวันพีซ ปิดส่วนเว้าส่วนโค้งมิดชิด ไม่เหมือนในปัจจุบัน

แต่ความยอดนิยมของปฏิทินสายเซ็กซี่ เริ่มร้อนแรงขึ้นในปี 2514 ที่โขม พัสตร์ อรรถยา ดาราดาวเซ็กซี่ (ดาราดังในปีนั้น) สลัดผ้าใจกล้าถ่ายปฏิทินชุดว่ายน้ำให้กับ สุรากวางทอง จากนั้นในปี 2519 ปฏิทินสายเซ็กซี่จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปฏิทินแม่โขง ปฏิทินลีโอ ฯลฯ จนกระทั่งในปี 2533 กระทรวงมหาดไทยก็ได้ออกกฎเหล็กห้ามตีพิมพ์และเผยแพร่ภาพที่มีลักษณะยั่วยุทางเพศ จนทำให้ปฏิทินเซ็กซี่ถูกกวาดล้างจากทางการ

จนกระทั่งมี พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีการแสดงชื่อ เครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เห็นชัดเจนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ปฏิทินแนวเซ็กซี่เงียบหายไปจากวงการ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังทิ้งความฮือฮาให้กับสังคม และอาจจะเป็นของเก็บสะสมสำหรับใครหลายคน

161060926839

2. ปฏิทินน่ำเอี๊ยง สายโชคลาภและโหราศาสตร์

ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งวัฒนธรรมที่ส่งอิทธิพลต่อคนไทยเป็นอย่างมากก็คือ วัฒนธรรมจีน ดังนั้นแล้ว “ปฏิทินจีน” เล่มหนาๆ จึงเป็นปฏิทินที่คนไทยคุ้นเคย โดยปฏิทินดังกล่าวมักจะใช้โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงในการคำนวณวันเวลา บางแห่งจึงนิยมเรียกปฏิทินประเภทนี้ว่า “ปฏิทินน่ำเอี๊ยง”

ปฏิทินจีนหรือปฏิทินน่ำเอี๊ยงที่นิยมใช้กันในเมืองไทยนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ ได้แก่ ปฏิทินรายเดือน และปฏิทินรายวัน โดยปฏิทินรายเดือนมักออกแบบให้เป็นปฏิทินแขวน ในขณะที่ปฏิทินรายวันนิยมออกแบบให้เป็นเล่มฉีก ซึ่งแต่ละแบบมีความเหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งรายละเอียดในปฏิทินจีนมักจะมีข้อมูลเกี่ยวตัวเลขมงคล วันมงคล สีมงคล เพื่อเสริมดวงและโชคลาภ ระบุไว้ให้ทราบด้วย

161060928773

3. ปฏิทินดารา สายแฟนคลับคนดัง 

และปฏิทินอันดับสุดท้ายที่คนไทยคุ้นเคยกันดีก็คือ ปฏิทินดารา ที่ให้นักแสดงหนุ่มสาวสวยหล่อ ออกมาโปรโมทให้กับช่องทีวีชื่อดังที่พวกเขาสังกัดอยู่ ผ่านการถ่ายแบบลงบน "ปฏิทินดารา" เพื่อแจกและจำหน่ายให้กับแฟนคลับของเหล่าดารานั้นๆ และผู้ที่สนใจทั่วไป ซึ่งปฏิทินประเภทนี้ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

161060860464

-----------------------

อ้างอิง : 

lib.ru.ac.th , akatumnuaysuksa.ac.th,  pim123.com , ch7.com , komchadluek