1 ปีโควิดในไทย ต้องนำมาเป็นบทเรียน

1 ปีโควิดในไทย ต้องนำมาเป็นบทเรียน

ล่วงเลยไปเป็นเวลา 1 ปี สำหรับโควิด-19 ที่อุบัติขึ้นในประเทศไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้นเปลี่ยนโฉมประเทศในหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การระบาดรอบแรกจนมาถึงระลอกใหม่ สะท้อนว่าทุกฝ่ายต้องไม่เห็นแก่ตัว และนำประสบการณ์มาแก้ปัญหา ปรับปรุงให้ตรงจุด

โควิด-19 อุบัติขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2563 วันที่พบผู้ป่วยรายแรกในไทย เป็นรายแรกนอกประเทศจีน วันนี้ (13 ม.ค.64) สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดประจำวันยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอัตราชะลอตัว แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือ 1 ปีที่ผ่านมาและโควิดยังไม่หายไปไหน วันนี้ได้ให้บทเรียนอะไรกับเรา เราจะนำประสบการณ์แต่ละห้วงเวลามาเป็นแนวทางการทำงานเชิงรุก แก้ปัญหาและปรับปรุงจุดบกพร่องอย่างไรบ้าง

ผลกระทบ 3 มิติ สังคม เศรษฐกิจและการเมือง เปลี่ยนโฉมประเทศทั้งๆ ที่ในวิกฤติมีโอกาส การระบาดได้เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ หลายคนมีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วย ส่วนหนึ่งต้องสังเวยด้วยชีวิต ด้านเศรษฐกิจการค้าขายฝืดเคือง มีคนตกงานจำนวนมาก แต่มีนายทุนใหญ่บางรายมั่งคั่ง ด้านการเมืองแม้ยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนขั้วอำนาจแต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์วันนี้ หมิ่นเหม่ท้าทายและสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล หากย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญของโควิดไทยในรอบปี เริ่มจาก 4 ม.ค.2563 ประเทศจีนพบผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเมืองอู่ฮั่น 

ต่อมาวันที่ 13 ม.ค. พบผู้ป่วยโควิด รายแรกในไทยและเป็นรายแรกนอกจีน กระทั่งวันที่ 15 ม.ค.พบผู้ป่วยคนไทยรายแรก ซึ่งมีประวัติเดินทางกลับจากจีน และพบผู้ป่วยในประเทศรายแรกที่ไม่มีประวัติไปพื้นที่ระบาด เป็นคนขับแท็กซี่ มีประวัติรับผู้ป่วยต่างชาติ เมื่อ 30 ม.ค. ต่อมาวันที่ 1 มี.ค.63 พบผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศ 

วันที่ 12 มี.ค.องค์การอนามัยโลกประกาศโควิดระบาดใหญ่ ต่อมาไทยพบผู้ป่วยโควิดกลุ่มก้อนใหญ่จากสนามมวยลุมพินี ก่อนจะมีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ต่อมาวันที่ 24 มี.ค.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ วันที่ 26 มี.ค.เริ่มล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 เดือน วันที่ 2 เม.ย.นายกรัฐมนตรี ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ วันที่ 3 เม.ย. มหาเศรษฐีไทยตอบรับผู้นำที่เชิญชวนมาร่วมกันช่วยสู้โควิด

เดือน ต.ค.วันที่ 7 พบชาวเมียนมา 2 รายติดเชื้อเข้ามาในฝั่งไทย เป็นสัญญาณด้านชายแดนไทยเมียนมาว่าโควิดอาจจะมีการก่อตัว วันที่ 28 พ.ย. ที่จ.ท่าขี้เหล็ก เมียนมา พบผู้ป่วย 9 ราย วันที่ 1-7 ธ.ค. พบผู้ป่วยลักลอบเข้าประเทศและแพร่เชื้อต่อเนื่อง กระทรวงมหาดไทยขยับสั่งทุกจังหวัดสกัดผู้ลักลอบเข้าเมือง ไม่มีการสั่งปิดชายแดน รัฐบาลอ้างควบคุมยากเพราะชายแดนมีความยาวกว่า 2 พันกิโลเมตร และไม่มีการสั่งปิดชายแดน ท่ามกลางข้อกังขาถึงผลประโยชน์ในพื้นที่ จนกระทั่งพบโควิดระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ในวันที่ 17 ธ.ค.ต่อด้วยวันที่ 26 ที่จ.ระยอง

อย่าให้ครบ 1 ปีแล้วผ่านไป ทุกฝ่ายต้องไม่เห็นแก่ตัว อามิสสินจ้างและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ อย่าโยนความผิดกันไปมา ซูเปอร์สเปรดเดอร์ในแรงงานต่างด้าวกับนักเล่นพนัน ปมปัญหาคือความหละหลวมในการกำกับดูแล มีการลักลอบผิดกฎหมายไม่ปราบบ่อนเถื่อน ดันยอดผู้ติดเชื้อและความไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าการทำงานกลุ่มแพทย์จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้เบาบางลงได้ แต่ตราบใดที่รัฐบาลบริหารประเทศโดยยอมจำนนต่อปัญหาการค้ามนุษย์และบ่อนการพนัน ไทยจะถอยหลังไปอีกหลายปี ประเทศไทย จะไม่มีทางล่มจมจากโควิด แต่อาจล่มจมเพราะปัญหาทุจริต