ผ่าแผนปฏิรูปกองทัพ 'บิ๊กบี้' ปูทางเลิก 'เกณฑ์ทหาร'

ผ่าแผนปฏิรูปกองทัพ 'บิ๊กบี้' ปูทางเลิก 'เกณฑ์ทหาร'

การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ เม.ย. 2564 นี้จะเป็นตัวชี้วัดว่า การเพิ่มโควต้านักเรียนโรงเรียนนายสิบ โดย 80% ต้องมาจาก 'ทหารเกณฑ์' จะเป็นแรงจูงใจให้ชายไทยสมัครใจเป็นทหารยอดพุ่งสูงเป็นประวัติศาสตร์หรือไม่

เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกโจมตีอย่างหนักจาก 'คณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกล' หลังไม่เซ็นต์รับรอง'ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร' ฉบับของ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จึงส่งผลให้กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่เข้าสู่การพิจารณาของ 'รัฐสภา' ว่าเป็นการปิดประตู 'ปฏิรูปกองทัพ' โดยสิ้นเชิง

การรณรงค์ 'เลิกเกณฑ์ทหาร' เปลี่ยนมาเป็นสมัครใจ ถูกจุดประกายโดย นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังครบอายุต้องเกณฑ์ทหารครั้งแรกในปี 2560 เนื่องจากมองว่าไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามและเป็นสิ่งล้าสมัย ที่สำคัญยังเป็นปัจจัยค้ำจุนระบอบเผด็จการจนทำให้เกิดรัฐประหาร

แต่ที่น่าสนใจในระหว่างยื่นเอกสารขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร ครั้งที่สอง เมื่อเมษายน 2561 กลุ่มเพื่อนเนติวิทย์ ได้แจกแบบสอบถามแก่ผู้มารอเกณฑ์ทหารและผู้สังเกตการณ์ โดยมีข้อความว่า “เราควรเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารจาก ระบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ” และ “กองทัพควรรับรองว่า พลทหารจะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างเกณฑ์ทหาร 100%” จำนวน 169 ใบ พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับข้อความแรก 144 คน และเห็นด้วยกับข้อความที่สอง 25 คน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา แนวคิดดังกล่าวกลายประเด็นถูกพูดถึงอย่างกว้างขว้าง โดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า 'คนรุ่นใหม่' และยังถูกใช้เป็นนโยบายหาเสียงของ 'พรรคอนาคตใหม่' ( คณะก้าวหน้า และ พรรคก้าวไกล)ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จนสามารถกอบโกยคะแนนเสียงจาก 'คนรุ่นใหม่'ได้เป็นกอบเป็นกำ

การรณรงค์ 'เลิกเกณฑ์ทหาร' กลายเป็น 'ไฟลามทุ่ง' สร้างแรงกดดันให้คนในกองทัพ เพราะหากพิจารณาสภาพความเป็นจริงพบว่า ในแต่ละปีกองทัพต้องการทหารกองประจำการ ปีละ 90,000-100,000 คน (ขึ้นอยู่อัตราการเกิด) จัดสรรให้กองบัญชาการกองทัพไทย 1,900 นาย กองทัพบก 70,000 นาย กองทัพอากาศ 13,000 นาย กองทัพเรือ 6,000 นาย ส่วนที่เหลือให้แก่ กระทรวงกลาโหม เพื่อใช้ปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง และรักษาอธิปไตยรอบประเทศ รวมถึงช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย

จากข้อมูลย้อนหลัง พบชายไทยสมัครใจเข้ารับใช้ชาติมีระดับตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ ปี 2557 จำนวน 35% ปี 2558 จำนวน 44% ปี 2559 จำนวน 47% และสูงสุดในปี 2560 จำนวน 49% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2561เหลือ 45% คาดว่าน่าจะเกิดจากการกระทำรุนแรงกับพลทหาร รวมถึงการเผยแพร่คลิปเก่าที่เป็นการกระทำเกินเหตุในค่ายทหารซ้ำไปซ้ำมา ส่วนปี 2562 และ 2563 ตัวเลขอยู่ที่ 47%

โดยที่ผ่านมา 'กองทัพ' ไม่ได้ต่อต้านแนวคิดดังกล่าว แต่พยายามหาวิธีทำให้คนมาสมัครใจเป็นทหารครบ 100% โดยไม่ต้องเกณฑ์ และไม่ต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐมาสร้างแรงจูงใจ เช่น เพิ่มเงินเดือน สวัสดิการ ค่าครองชีพ ให้กลายเป็นภาระของประเทศ

ล่าสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีแนวคิดสร้างแรงจูงใจให้คนมาสมัครใจเป็นทหาร โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม ด้วยการปรับ 'โควต้า' รับสมัครนักเรียนโรงเรียนนายสิบ โดย  80% รับจากคนที่เป็นทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์)และอีก  20% จากพลเรือน

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า  กองทัพบก ต้องการทำให้คนอยากเป็นทหาร โดยกระบวนการพัฒนา ทหารกองประจำการอย่างเป็นระบบ และต้องการให้เขาสมัครใจมาเป็นทหาร และให้เห็นอนาคตว่าเมื่อมาอยู่แล้ว จากนั้นจะเป็นอะไรต่อไป จึงทำให้มีโครงการปรับโควต้าการรับสมัครนักเรียนโรงเรียนนายสิบเป็น 80%  และ 20%

จากนี้ไป คนที่เข้ามาเกณฑ์ทหาร จะมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความจริงใจในการที่จะเข้ามาเป็นทหารมากขึ้น เมื่อเป็นแล้วตอบโจทย์ จริงจับต้องได้ ในอนาคตต่อไป กองทัพบก จะรับนักเรียนโรงเรียนนายสิบ ที่มาจากทหารเกณฑ์ทั้งหมด

ทั้งนี้ กองทัพบก มองว่าคนที่เข้ามาเป็นทหารเกณฑ์ เมื่อปลดประจำการแล้ว จะมีบางส่วนที่อยากจะอยู่กับกองทัพต่อ ผบ.ทบ.จึงปรับโควต้าตรงนี้ ซึ่งมองว่า วินวินทั้งคู่ กองทัพ ได้บุคลากรที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง ในขณะตัวเขาเองก็ได้มีการต่อยอดอาชีพ ซึ่งน่าจะเป็นแรงจูงใจให้คนเข้ามาสมัครเป็นทหารเกณฑ์มากขึ้น และจะทำให้พัฒนาระบบการคัดเลือกทหารไปสู่ระบบทหารอาสา ที่เป็นรูปประธรรม 

" การยกเลิกเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนมาสมัครใจ กองทัพบก ใช้นโยบาย ค่อยๆเป็นค่อยๆทำเราไม่สามารถที่จะไปปรับอะไรรวดเร็วได้ เช่น ปรับเปลี่ยน พรบ.เกณฑ์ทหาร เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิมากมายหลายอย่าง รวมถึงงบประมาณของประเทศ แต่ในส่วนนี้ กองทัพบก จะพยายามปฏิรูปในส่วนที่กองทัพบกทำได้เองก่อน ใช้แนวทางนี้ก็เป็นการนับหนึ่งเลิกเกณฑ์หาร ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติมากกว่าที่จะพลิกระบบไปเลย"

พ.อ.หญิงศิริจันทร์  ย้ำว่า การรับทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ปัจจุบัน กองทัพบก ใช้ระบบผสมผสาน คือสมัครใจ และ เกณฑ์ทหารเข้ามา แต่ในอนาคต เมื่อทุกคนอยากให้เป็นระบบสมัครใจทั้งหมด ต้องมีแรงจูงใจมากพอ นั้นหมายถึง ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ก็ต้องขึ้นอยู่กับระบบงบประมาณด้วย

สิ่งที่ กองทัพบก ทำอยู่เราพยายามทำในสิ่งที่ทำได้ก่อน และเชื่อว่าประชาชนน่าจะเห็นถึงความตั้งใจ และ จริงใจ เดินหน้าไปสู่เลิกเกณฑ์ทหารเป็นรูปธรรม เพียงแต่ต้องใช้เวลา ขณะนี้ กองทัพบก ค่อยๆทำ ค่อยๆปรับ จากการเพิ่มโควต้าให้ทหารกองประจำการ ไปเรียนหลักสูตรสงครามทางอากาศ และส่งไปเป็นนักเรียนนายสิบ 

ต่อไปจะเพิ่มโควต้า นักเรียนโรงเรียนนายสิบให้มาจากน้องทหารจากกองประจำการ จนไปถึงในที่สุดแล้วนักเรียนนายสิบต้องมาจากทหารกองประจำการ และจะออกเป็นกฎระเบียบในอนาคตว่าคนที่จะเป็นนักเรียนนายสิบจะต้องผ่านการเป็นทหารเกณฑ์มาก่อน เส้นทางชัดมากขึ้น เรื่องที่ผู้บังคับบัญชาดำเนินการมาตลอดแล้วค่อยปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆและมีพัฒนาการขึ้น

การตรวจเลือก ทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ จะมีขึ้นเดือน เม.ย. 2564 จะเป็นตัวชี้วัดว่า การเพิ่มโควต้านักเรียนโรงเรียนนายสิบ โดย 80% ต้องมาจากทหารเกณฑ์ ของ 'พล.อ.ณรงค์พันธ์' จะเป็นแรงจูงใจให้มีชายไทยสมัครใจเป็นทหารมากขึ้น รวมถึงการลดแรงเสียดทานจากฝ่ายเมืองหรือไม่