'อัยยวัฒน์" คิงเพาเวอร์ กำไรSTGTกว่า100ล้าน

'อัยยวัฒน์" คิงเพาเวอร์ กำไรSTGTกว่า100ล้าน

เปิดนักลงทุนรายใหญ่ กำไรหุ้นไอพีโอปี 63 มากสุด “เสี่ยยักษ์ ” กำไรที่ราคาปิดเทรดวันแรก รวม 602.99 ล้าน พร้อมแนะซื้อไอพีโอ  ชี้ เป็นทางเลือกลงทุนให้ผลตอบแทนดี แต่เน้นหุ้นเติบโต -ราคาไม่แพง อัยยวัฒน์ “ติดโผอันดับ5 ฟันกำไร ”ศรีตรังโกลฟส์” 106ล้าน

          หุ้นไอพีโอปี2563 กลับมาโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม สร้างผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนที่ได้รับสรรหุ้นไอพีโอได้เป็นกอบเป็นกำ หลังจากในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมาหุ้นไอพีโอทีเข้าจดทะเบียนราคาวันแรกที่เข้าจดทะเบียนปรับตัวขึ้นไม่มาก และยิ่งในปี2562  ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาจองหลายบริษัท ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ รายย่อย เจ็บตัวกันไปตามๆกัน จนมีวลีเด็ด “ให้หุ้นไอพีโอ เท่ากับแช่ง” 

       สำหรับผลตอบแทนเฉลี่ยหุ้นไอพีโอปี 2563 ณ ราคาปิดวันแรกเฉลี่ย อยู่ที่ 48.72% จากมีหุ้น(ไม่รวมกองรีทและกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน)เข้าจดทะเบียนทั้งหมด 26   แบ่งเป็น เข้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 14 บริษัท  ซึ่งมี 4 บริษัทเท่านั้น ที่ราคาปิดวันแรกต่ำกว่าราคาจองไอพีโอ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จำนวน 12 บริษัท มีเพียง 3 บริษัทที่ราคาต่ำกว่าไอพีโอ 

        “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ”ได้มีการรวบรวมนักลงทุนบุคคลที่ได้รับจัดสรรหุ้นไอพีโอมากสุด  ซึ่งปัจจุบันมีหุุ้นไอพีโอที่รายงานข้อมูลการจัดสรรหุ้นแล้วจำนวน  13 บริษัท ประกอบด้วย  บมจ.เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง(WEG),บมจ.ดีเฮ้าส์พัฒนา (DHOUSE),บมจ.สยามราชธานี (SO),บมจ.เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น (KK),บมจ.ศิรกร(SK),บมจ.ไมโครลิสซิ่ง (MICRO),บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC)บมจ.ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป (IIG)บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICI)บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT)บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์(NRF)บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG)

   สำหรับผู้ที่ได้รับจัดสรรหุ้นไอพีโอปีนี้มากที่สุดปีนี้ 10 อันดับ ดังนี้1.นายวิชัย วชิรพงศ์ หรือ เสี่ยยักษ์ ได้รับจัดสรรหุ้นไอพีโอ จำนวน 5 บริษัท รวม 51.67 ล้านหุ้น ประกอบด้วย DHOUSE จำนวน 5 ล้านหุ้น MICRO จำนวน 2.29 ล้านหุ้น ,ETC 18 ล้านหุ้น ,STGT 22.20  ล้านหุ้น ,NRF 4.18 ล้านหุ้น

     2.นายรัชต์ชยุตม์ จีระพรประภา ได้รับจัดสรรหุ้น จำนวน 2 บริษัท รวม 28.15 ล้านหุ้น ประกอบด้วย ETC 25.65 ล้านหุ้น ,DHOUSE 2.5 ล้านหุ้น , 3.นายอรรณพ ลิ้มประเสริฐ ได้รับจัดสรรหุ้น 2 บริษัท รวม 27.06 ล้านหุ้น ประกอบด้วย ETC จำนวน 24 ล้านหุ้น และ MICRO 3.06 ล้านหุ้น

     4.นาย โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับจัดสรร จำนวน 2 บริษัท รวม 26.06 หุ้น ประกอบด้วย ETC จำนวน 25 ล้านหุ้น ,SICT จำนวน 1.06 ล้านหุ้น 5.นาย สิปปกร ขาวสอาด ได้รับจัดสรรหุ้น จำนวน 1 บริษัท คือ ETC จำนวน 23 ล้านหุ้น  6. นางสาวแคทรียา บีเวอร์ ได้รับจัดสรรหุ้น จำนวน 1 บริษัท คือ STGT จำนวน 16.32 ล้านหุ้น ,  7. นางวลัยพร สมภักดี ได้รับจัดสรรหุ้น จำนวน 1 บริษัท  จำนวน 15 ล้านหุ้น 

      8.นาง นลินี แจ่มวุฒิปรีชา ได้รับจัดสรรจำนวน 2 บริษัท รวม 10.70 ล้านหุ้น คือ ETC จำนวน 10.40  ล้านหุ้น และ SO จำนวน 300,000 หุ้น 9. น.ส.เพ็ญพิชญา ฤกษ์ชัยรัศมี ,นายฐิติ กิตติพัฒนานนท์,นายอวิรุทธ์ ดิศกุล และ นายวศิน ดังกิจเจริญ ได้รับจัดสรรหุ้น1 บริษัท คือ ETC ได้รับจัดสรรคนละ 10 ล้านหุ้น และอันดับ10.นาย สุระ คณิตทวีกุล ได้รับจัดสรร 2 บริษัท รวม 9.59   ล้านหุ้น ประกอบด้วย MICRO จำนวน 590,000 หุ้น และ ETC จำนวน 9 ล้านหุ้น

         ทั้งนี้หากพิจารณาจากผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นไอพีโอ ที่ราคาปิดวันแรก พบว่า ผู้ที่มีกำไรมากสุด 10 อันดับแรก คือ1.นายวิชัย วชิรพงศ์ กำไรจากจองซื้อหุ้นไอพีโอ 5 บริษัท รวมจำนวน 602.99 ล้านบาท  อันดับ 2.น.ส.แคทรียา บีเวอร์ มีกำไร 432.53 ล้านบาท 3.นายชวิน ตั้งคารวคุณ มีกำไร 141.51 ล้านบาท 4.นายคเนศ ตั้งคารวคุณ มีกำไร 139.39 ล้านบาท 5.     นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา มีกำไร 106.29 ล้านบาท 

     6.น.ส. กชกร วชิรพงศ์ มีกำไร 79.52 ล้านบาท 7.กนกพร ศีตวรรัตน์ มีกำไร 79.50 ล้านบาท 8.บุญชัย เกษมวิลาศ มีกำไร 79.50 ล้านบาท 9.น.ส.สุนันท์ งามอัครกุลมีกำไร 79.50 ล้านบาท 10.น.ส.พาพิชญ์ วงศ์ไพฑูรย์ปิยะ มีกำไร 79.50 ล้านบาท

        นายวิชัย วชิรพงศ์ หรือ เสี่ยยักษ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มผลตอบแทนการลงทุนหุ้นไอพีโอ ปี 2564 คาดว่าจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี กว่าเงินฝาก จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ ซึ่งหากมีโอกาสได้รับจัดสรรหุ้นไอพีโอ ก็ควรที่จะใช้สิทธิจองซื้อหุ้น  แต่ก็จะต้องเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตดี และราคาไม่แพง เช่น หากตั้งราคาที่  P/E สูงเกิน30 เท่า ไม่ควรลงทุน เพราะ ภาวะการลงทุนปีนี้ถือว่าไม่ง่าย จากที่ภาวะตลาดจะผันผวนสูง 

   สำหรับในปีนี้ มีหุ้นใหญ่ที่จะเข้าจดทะเบียน คือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่เตรียมจะขายไอพีโอเร็วนี้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นหุ้นที่ดี แต่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ขายไอพีโอ ถึง 3,000 ล้านหุ้น ราคาอาจไม่หวือหวา เหมาะลงทุนระยะยาว

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ  บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย  กล่าวว่า มองว่าตลาดหุ้นไทยปีนี้จะมีความผันผวน จากที่นักลงทุนจะลงทุนโดยดูปัจจัยทางเทคนิคมากขึ้นและตามทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ  ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าจดทะเบียนของหุ้นไอพีโอ ที่จะต้องเลือกจังหวะการในขายหุ้นให้ดี และ บริษัทที่เข้าจดทะเบียนต้องเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  หรือได้รับผลกระทบไม่มาก  รวมถึงการกำหนดราคาไอพีโอ ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ

“ส่วนตัวมองว่าตลาดหุ้นไทยปีนี้จะผันผวน ซึ่งจะมีช่วงที่ตลาดดีและไม่ดี จึงตอบยากว่าผลตอบแทนหุ้นไอพีโอปีนี้ จะเป็นอย่างไร แต่การลงทุนหุ้นไอพีโอนั้น นักลงทุนควรเลือกลงทุนในหุ้นที่พื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโต และราคาเสนอขายไอพีโอเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์แต่ละช่วง”

 สำหรับปีนี้ บริษัทมีหุ้นไอพีโอที่เตรียมจะยื่นอีก 2-3 บริษัท  โดยคาดว่าจะยื่นหลังจากปิดงบการเงินงวดปี 2563  ส่วนที่ยื่นไฟลิ่งไปแล้ว คือ  OR ที่เตรียมจะเสนอขายหุ้นไอพีโอในต้นปีนี้ 

      นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า แนวโน้มการออก IPO ในปีนี้ที่จะเริ่มเห็นมากขึ้นใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่บริษัทขนาดใหญ่ มีแนวโน้มนำบริษัทบริษัทย่อย หรือบริษัทในเครือที่แข็งแรง หรือที่มีการเติบโตมากขึ้น เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์  โดยที่ผ่านมา เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มปูนซีเมนต์ไทย และ  กลุ่มปตท.ฯลฯ ส่วนอีกรูปแบบเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็ก รวมถึงธุรกิจครอบครัว ที่ต้องการขยายกิจการ ขยายธุรกิจใหม่ หรือขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

ขณะที่ปัจจัยพิจารณาออก IPO นอกจากธีมการลงทุนตามความต้องการของนักลงทุนแล้ว ยังต้องขึ้นกับความต้องการใช้เงินของผู้ออก และจุดเด่นของธุรกิจด้วย “การฟื้นตัวของธุรกิจ”จะเป็นธีมการลงทุนเด่นในปีหน้าดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับกระทบ แต่กลับมายืนได้เหมือนเดิมก่อนโควิด-19 และยังเติบโตได้ก็ยิ่งน่าสนใจ

แต่ในมุมมองหุ้น IPO ที่นักลงทุนสนใจ ยังคงเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตมากกว่าเงินปันผล เพราะราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นก่อนที่ผลประกอบการจะตามมา เช่นธุรกิจที่เป็นนิวอีโคโนมี  และเทคโนโลยี มีความน่าสนใจ แม้ในช่วงแรกธุรกิจอาจไม่มีกำไรแต่รายได้เติบโตเฉลี่ย 50-60% ต่อปี และในไทยยังไม่มีหุ้นแบบนี้อยู่