เปิดวิสามัญ"ซักฟอก”รัฐบาล “บิ๊กตู่” ได้มากกว่าเสีย

เปิดวิสามัญ"ซักฟอก”รัฐบาล “บิ๊กตู่” ได้มากกว่าเสีย

ฝ่ายค้าน หวังใจให้มี "ศึกซักฟอก" รัฐบาล ก่อนปิดสมัยประชุม วันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ แต่เพราะโควิดจนทำให้ สภาฯ​ต้องงดประชุม จึงเป็นข้อถกเถียงว่าจะหาทางออกใด

    เมื่อ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ตั้งเป้าสร้างผลงาน ประจำปี “เปิดศึกซักฟอก” รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ได้ พร้อมกำหนดยื่นญัตติวันที่ 27 มกราคม

    กลับต้องมาเจอปัญหา "งดประชุมสภาฯ” ถึง 2 สัปดาห์ ตามมติร่วมกันของ ฝ่ายต่างๆ ของรัฐสภา เพื่อลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์แพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 และพอใกล้ครบกำหนด ต้องประเมินสถานการณ์ระบาดอีกครั้งว่า จะยืนยันเดินหน้าประชุม หรืองดต่อเนื่อง

160998510016

    กับอุปสรรคของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะ “โควิด-19” และ “ประกาศของ ศบค.” ที่ให้พื้นที่เสี่ยงสีแดง “งดประชุม - รวมตัว - ชุมนุม” ทำให้เกิดปัญหาต้องพิจารณาว่า หากสถานการณ์เกินเลยไปกว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุมสภาฯ ปีที่ 2 สมัยประชุมสามัญ ครั้งที่ 2 จะทำอย่างไร

    ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 กำหนดให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ปีละครั้งนั้น จะทำให้พรรคฝ่ายค้านเสียสิทธิ์การทำหน้าที่หรือไม่

    ตามการตีความของฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นข้อยุติ และได้ทำข้อตกลงไปยังรัฐบาล ตั้งแต่การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรอบแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563

    มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ว่าด้วย “ปีละครั้ง” นั้น หมายถึง ปีสมัยประชุมสภาฯ ไม่ใช่ปีตามปฏิทิน

    โดยปีประชุมสภาฯ จะประชุมสองครั้ง เริ่มต้นครั้งที่หนึ่ง วันที่ 22 พฤษภาคม -18 กันยายน 2563 ส่วนครั้งที่สอง เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2564

    หมายถึงปีประชุมสภาฯ จะคร่อมปีปฏิทิน ดังนั้นสิทธิ์ของฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาล หากดูปีของปฏิทิน สามารถยื่นได้ 2 ครั้ง ตามช่วงเวลาของสมัยประชุมสามัญครั้งที่หนึ่ง หรือครั้งที่สอง

    ส่วนรอบนี้ หากฝ่ายค้านยื่นญัตติ จะตรงกับ ครั้งที่สอง ของปีประชุมปีที่สอง หากฝ่ายค้านถูกปิดโอกาสอภิปราย ไม่ว่าเพราะ “โควิด-19” หรือเพราะรัฐบาล ปี 2564 ยังมีสิทธิ์ยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้อีก 1 ครั้ง

160998515055

    แต่ในแนวทางปฏิบัติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อ สภาฯ จึงเชื่อว่าการปิดโอกาสอภิปราย เพราะหมดสมัยประชุมคงไม่เกิดขึ้น

    หากสมัยประชุมครั้งที่สอง ของปีที่ 2 นี้สิ้นสุด ทางที่ทำได้คือ ขยายสมัยประชุมครั้งนี้ออกไป หรือ เปิดประชุมสมัยวิสามัญ ที่มีห้วงเวลาให้เลือกใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม - 21 พฤษภาคม ซึ่งจะพิจารณาให้เหมาะสมกับการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ย่อมทำได้

    เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่เลือกปิดปากฝ่ายค้าน เพราะข้ออ้าง "สมัยประชุมได้สิ้นสุด หรือ พิษโควิด"

    เพราะ รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในสภาฯ ที่มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถึง 275 เสียง และการลงมติไม่ไว้วางใจนั้น ใช้เกณฑ์นับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ปัจจุบัน คือ 487 เสียง

    ดังนั้นจึงเชื่อว่า ถึงอย่างไรรัฐบาลก็ยังคงได้รับคะแนนไว้วางใจที่เหนือกว่า

    อีกทั้งการได้เวทีสภาฯ เพื่ออธิบายการทำงานของรัฐบาลในห้วงวิกฤติโควิด อาจเป็นจังหวะที่สร้าง “แต้มต่อ” ทางการเมืองให้รัฐบาล และนายกฯประยุทธ์ ย่อม “ได้มากกว่าเสีย”.