2 สัปดาห์คลอดมาตรการเยียวยา “สุพัฒนพงษ์” ชี้ต้องเกาให้ถูกที่คัน

2 สัปดาห์คลอดมาตรการเยียวยา “สุพัฒนพงษ์” ชี้ต้องเกาให้ถูกที่คัน

“สุพัฒนพงษ์” เร่งสรุปมาตรการใน 1 สัปดาห์ สศช.คาดสรุปได้ใน 2 สัปดาห์ “คลัง” เร่งหารือทุกหน่วยงานก่อนคลอดมาตรการ “ทีดีอาร์ไอ” ห่วงผลกระทบเศรษฐกิจรอบนี้รุนแรงขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หามาตรการเยียวยาประชาชนจะต้องประเมินสถานการณ์ก่อนว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อยังกระจุกตัวเป็นคลัสเตอร์

“ตอนนี้ต้องประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนว่าเป็นอย่างไร จะได้ออกมาตรการที่ถูกต้องจะได้เกาให้ถูกที่คัน”

ส่วนมาตรการที่จะดำเนินการยังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอมาให้พิจารณาใน 1 สัปดาห์ แต่ขณะนี้ยังไม่กำหนดวันประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด19 (ศบศ.) และการเยียวยาครั้งนี้จะมีมาตรการแจกเงินอีกหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า “ยังไม่รู้เลย ต้องขอดูสถานการณ์ก่อน”

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานเศรษฐกิจทำงานร่วมกันและจะมีมาตรการออกมาเป็นแพ็คเกจ และนายสุพัฒนพงษ์ จะเป็นผู้ประกาศชุดมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพราะรัฐบาลต้องประเมินและดูผลกระทบจากคำสั่งที่ออกไป โดยเฉพาะคำสั่งวันที่ 4 ม.ค.2564 ประกาศพื้นที่ควบคุม 28 จังหวัด และยกระดับมาตรการเพื่อคุมการระบาดของโควิด-19 

นอกจากนี้ สศช.ได้ติดตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะระดับการบริโภคของประชาชนที่สะท้อนผลที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

ส่วนวงเงินที่จะใช้เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ยืนยันว่ารัฐบาลมีเพียงพอ โดยเงินที่เหลือสำหรับการเยียวยาจากวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจเหลือ 2 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งจะโยกไปใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่ต้องประเมินอีกครั้ง โดยถ้ามีผู้ได้รับผลกระทบมากในวงกว้างก็ค่อยโยกไปใช้เยียวยาตามความจำเป็น 

นายดนุชา กล่าวว่า การระบาดรอบนี้ เบื้องต้นประเมินว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดครั้งที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้กิจกรรมเศรษฐกิจยังเดินหน้าได้ระดับหนึ่ง โดยประชาชนยังเดินทางได้ ร้านอาหารเปิดให้บริการได้ และที่สำคัญรอบนี้มีความพร้อมเรื่องความรู้ เครื่องมือทางการแพทย์ หน้ากากอุปกรณ์ทางการแพทย์และยา

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่ได้มีข่าวเผยแพร่เกี่ยวกับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงแต่ไม่มีมาตรการเยียวยา ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงการคลังชี้แจงว่า รัฐบาลให้ความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข และขอให้มั่นใจว่าไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังที่พร้อมดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สศช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามเศรษฐกิจและการระบาดอย่างใกล้ชิด และกำลังพิจารณาทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เหมาะสมต่อไป ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ากระทรวงการคลังจะมีมาตรการเยียวยาแจกเงิน 4,000 บาท ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่จะรุนแรงมากกว่าเดิม เพราะเดือน เม.ย.2563 ผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้ โดยเบื้องต้นประเมินว่าสถานการณ์จะลากยาวไม่น้อยกว่า 3 เดือน ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยมาตรการเยียวยาควรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.มาตรการสำหรับทุกคนเพราะสถานการณ์รุนแรงขยายไปทั่วประเทศ โดยรัฐควรช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการและเด็กยากจน โดยหากรัฐจะให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน แบบโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ทำได้ตามหลักวิชาการ

2.มาตรการเฉพาะจุด เพราะผลกระทบแต่ละพื้นที่และแต่ละธุรกิจไม่เท่ากัน