โควิด-19 จาก “ตลาด บ่อน ผับ” สู่การกระจาย 56 จังหวัด

โควิด-19 จาก “ตลาด บ่อน ผับ” สู่การกระจาย 56 จังหวัด

ศปค.สธ. ระบุว่าการกระจายของเชื้อโควิด -19 ไปหลายกลุ่มมากขึ้น เริ่มจากพื้นที่เสี่ยงเดิม จ.สมุทสาคร สู่การเล่นพนัน แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบ ล่าสุดพบการระบาดในสถานบันเทิงเกิดขึ้น ในเทศกาลปีใหม่ทั้งใน กทม. และเชียงใหม่

ขณะนี้ประเทศไทยมีการติดเชื้อ 56 จังหวัด โดยจังหวัดที่เพิ่มขึ้นใหม่ คือ น่าน และสิงห์บุรี แนวโน้มกราฟยังแทยงขึ้น เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้ตัวเลขอาจมากกว่าวันนี้ก็เป็นได้

โดยเฉพาะช่วงวันหยุดปีใหม่ที่มีการเดินทางออกนอกพื้นที่มากขึ้น และขณะนี้ส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับมาทำงานกันแล้ว จึงต้องมีมาตรการในการดูแล ควบคุมการแพร่ระบาด เพราะการระบาดรอบใหม่นี้มีสิ่งที่แตกต่างจากรอบแรก คือคนไข้พบในอายุที่น้อยลง การเสียชีวิตเกิดขึ้นในคนที่อายุน้อยย เฉลี่ยอยู่ที่ 20-40 กว่าปี ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อติดเชื้อ COVID-19 จะไม่ค่อยมีอาการและมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ  ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปัจจัยจากไวรัสโดยตรง แต่เป็นเพราะมาพบแพทย์ช้า บางรายไม่มาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เมื่อมาในช่วงอาการหนัก จึงให้ยาฟาวิฟิราเวียร์ไม่ทัน ซึ่งยาดังกล่าวต้องได้รับตั้งแต่ต้น ๆ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ประกาศยกระดับให้พื้นที่ 28 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร ชลบุรี ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ระนอง ระยอง ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สระแก้ว สระบุรี และอ่างทอง

โดยพื้นที่ดังกล่าวห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ หรือการฝึกอบรม การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค (อาทิ ผับ บาร์ คาราโอเกะ)สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่ ซึ่งจำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ รวมถึงการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อควบคุมและลดการติดเชื้อ COVID-19

ดังนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชนที่กลับจากภูมิลำเนาหลังหยุดยาวปีใหม่ให้ป้องกันตนเอง ให้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันตนเองเช่น หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ยาประจำตัว เป็นต้น จดบันทึก timeline การเดินทางของตนเอง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค และสังเกตอาการตนเอง หากมีไข้และมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว

โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการป่วยจะรุนแรงกว่ากลุ่มปกติ อาจทำให้เสียชีวิตได้

โดยยึดหลัก D-M-H-T-T ได้แก่ D : Social Distancing เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด M : Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา H : Hand Washing ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ T : Testing การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในกรณีที่มีอาการเข้าข่าย T: Thai Cha Na สแกนไทยชนะก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง เพื่อให้มีข้อมูลในการประสานงานได้ง่ายขึ้น 

 “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านหรือที่พัก ควรถอดรองเท้าไว้นอกบ้านและทำความสะอาดก่อนเก็บเข้าที่ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ใส่ถุงก่อนทิ้งถังขยะที่มีฝาปิด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนสัมผัสสิ่งของภายในบ้าน อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดทันที ทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว หากกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงให้รักษาระยะห่างจากสมาชิกในครอบครัวและคนในชุมชน และสังเกตอาการตนเอง

กรณีการรับประทานอาหารที่ร้านอาหารที่ห้ามนั่งทานที่ร้านตั้งแต่ช่วงเวลา 21.00-06.00 น. เพืิ่อลดการสัมผัสกัน เพราะพฤติกรรมของคนมักจะทานมื้อเย็นค่อนข้างหนักและนั่งนาน  กรมอนามัยแนะข้อปฏิบัติในช่วงเวลาที่รับประทานอาหารที่ร้านต้องสังเกตว่าร้านนั้นมีการคัดกรองไข้ มีจุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำสบู่ และการเว้นระยะห่าง มีจุดเช็คอินไทยชนะ

เมื่อเข้าไปรับประทานอาหารในร้านต้องสังเกตผู้สัมผัสอาหารทั้งคนปรุงอาหาร คนเสิร์ฟอาหาร ต้องมีการสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย และสวมถุงมือ มีการแยกภาชนะส่วนบุคคล การทำความสะอาดโต๊ะ ผนัง เพดาน หลังลูกค้ารับประทานเสร็จ และจุดที่คนมักหลงลืมกันคือช่วงการชำระเงิน หากเป็นไปได้ควรชำระด้วยระบบออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อลดการสัมผัส หากจำเป็นต้องชำระด้วยเงินสดเมื่อรับมาแล้วควรแยกเงินนั้น และล้างมือหลังสัมผัสเงิน

     

ทั้งนี้“เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะออกมากับสารคัดหลั่ง ซึ่งปริมาณก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ การรับประทานอาหารอาจจะไม่ได้ออกมามากเหมือนกับการไอ จาม ตะโกนเชียร์ หรือร้องเพลง อย่างไรก็ตามถ้าเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ร้าน แล้วซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านได้ก็ดี แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ขอให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุด รีบรับประทานและรีบกลับ ไม่ควรใช้เวลานานโดยเฉพาะในห้องแอร์ หรือพื้นที่อับ

“สถานที่แออัด รวมตัวกันจำนวนมาก ไม่สวมหน้ากากอนามัย เวลามีปัญหาป่วยก็ไม่ค่อยบอก ทำให้การสอบสวนยาก ขอให้ร่วมมือกัน ไม่ไปในสถานที่หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ไม่เอาเชื้อมาสู่ครอบครัว ไม่แพร่เชื้อต่อชุมชน สร้างความปลอดภัยให้ตัวเองและคนในครอบครัว” นพ.โอภาสกล่าว

     

อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ทำให้คนหันมาใช้บริการเดลิเวอรีมากขึ้น ซึ่งร้านอาหารจะต้องจัดระบบคัดกรองพนักงานเดลิเวอรี เว้นระยะห่างระหว่างการรอคอย ไม่ให้แออัด ซึ่งการระบาดรอบแรกเราพบว่าพนักงานเดลิเวอรีไปรอรับอาหารค่อนข้างแออัดก็ต้องปรับปรุงตรงนี้ นอกจากนี้อาหารต้องปรุงสุก สะอาด ไม่ทำค้างนาน และร้านต้องคัดกรองพนักงานของตนด้วยใครป่วยให้หยุดงาน

     

พนักงานเดลิเวอรีต้องรักษาความสะอาดส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย 100% ทำความสะอาดภาชนะส่งอาหาร ไม่เปิดอาหารก่อนถึงมือลูกค้า ไม่สัมผัสลูกค้าโดยตรงทั้งการส่งอาหาร และรับชำระค่าอาหาร ล้างมือบ่อยๆ ถ้าไม่สบายต้องหยุดปฏิบัติงาน และผู้บริโภค ที่สั่งอาหารเดลิเวอรี ขอให้ลดการสัมผัสโดยตรงกับผู้ส่งอาหาร เมื่อรับอาหารมาแล้วควรเปลี่ยนภาชนะและอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน

อย่างที่รู้กันว่าโควิด-19 นั้น กว่า 80% อาการน้อย หรือไม่มีอาการ การคัดกรองไข้อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติต้องถือเสมอว่าทุกคนมีความเสี่ยง การป้องกันตัวเองไว้ก่อน จึงเป็นทางออกที่สุดตราบใดที่ยังไม่ได้รับวัคซีน