กางคู่มือสู้ 'โควิด-19' เศรษฐกิจชะงักระลอกใหม่ ปรับตัวยังไงดี?

กางคู่มือสู้ 'โควิด-19' เศรษฐกิจชะงักระลอกใหม่ ปรับตัวยังไงดี?

เก็บไว้เป็น "คู่มือ" สู้วิกฤติ "โควิด-19" คนไทยผ่านการระบาดรอบแรกมาได้แล้ว โควิดระลอกใหม่ครั้งนี้มาสู้กันอีกสักตั้ง ลองย้อนกลับไปดูสิว่าในการระบาดรอบแรก เคยรับมือยังไง? ให้ฝ่าฟันปัญหาปากท้องในช่วงเศรษฐกิจชะงักมาได้

เมื่อ "โควิด-19" มาทักทายคนไทยระลอกใหม่ ทำเอาระบบเศรษฐกิจก็หยุดชะงักอีกรอบ ทั้งกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด มีประกาศคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงหลายแห่ง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร และบริการต่างๆ การระบาดระลอกนี้คนไทยจะปรับตัวสู้พิษเศรษฐกิจได้อีกครั้งหรือไม่?

เนื่องจากเรามีบทเรียนจากการระบาดรอบแรกมาแล้ว คนไทยส่วนใหญ่รู้วิธีการป้องกัน หลีกเลี่ยง และลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กันเป็นอย่างดีแล้ว แต่สิ่งที่ต้องโฟกัสต่อไปคือ การเยียวยา เงินเยียวยา ปัญหาปากท้อง ปัญหาตกงาน ขาดรายได้ ฯลฯ

การจะปรับตัวสู้วิกฤติระลอกใหม่นี้ให้ได้ ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า ในการระบาดครั้งที่ผ่านมาเรางัดกลยุทธและเคล็ดลับอะไรมาใช้บ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมวิธีปรับตัวสู้พิษเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด จากกรณีศึกษาของผู้คนในแวดวงต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการ ผู้บริหารองค์กร ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ผู้ให้บริการนำเที่ยว ลูกจ้าง พนักงาน สรุปออกมาเป็นคู่มือ 10 ข้อ ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. ปรับตัวให้เร็ว มองหาอาชีพใหม่

โควิดระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศไทยชะงักไม่ต่างจากครั้งที่แล้ว หนึ่งในมาตรการที่พอจะช่วยเหลือเรื่องปากท้องและช่วยแก้ปัญหาภาวะ "ตกงาน" ได้บ้าง คงหนีไม่พ้นการอบรมเพิ่มทักษะอาชีพใหม่ๆ ให้กลุ่มลูกจ้างที่ขาดรายได้ อันเนื่องมาจากโควิดทำให้กิจการเหล่านั้นปิดตัวหรือต้องเลิกจ้างพนักงาน

โดยกลุ่มลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานสายการบินต่างๆ ซึ่งจาการระบาดของโควิดครั้งแรก ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยจัดหลักสูตรอบรมการทำธุรกิจออนไลน์ เทคนิคการทำการค้าออนไลน์ ให้แก่พนักงานสายการบิน ทั้งพนักงานต้อนรับ (แอร์-สจ๊วต) นักบิน พนักงานภาคพื้นดิน รวมถึงพนักงานในส่วนอื่นๆ เป็นการเปิดคอร์สสอนเทคนิคการทำการค้าออนไลน์ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้ลูกจ้างที่ประสบปัญหาตกงาน ถูกพักงาน ถูกลดเงินเดือน (ขาดรายได้) ซึ่งในการระบาดระลอกใหม่นี้ ก็น่าจะนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

สำหรับพนักงานที่ขาดรายได้ อยากหารายได้เสริม แต่ไม่มีความรู้ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร NEA จะเข้าไปช่วย โดยจัดทำหลักสูตรขึ้นมา มีลิสต์หลักสูตรส่งให้ไปเรียน สามารถเรียนเองได้ผ่านทางออนไลน์ เรียนเสร็จจะได้ปรับ Mind Set ในการเป็นผู้ประกอบการ และจะได้เริ่มขายสินค้าได้ เพราะช่องทางก็มีให้แล้ว หากสนใจที่จะเรียนหลักสูตรเชิงลึกเพิ่มเติม NEA ก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยสอนให้ต่อเนื่อง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ >> https://nea.ditp.go.th/

161000620424

2. คิดบวก ปรับตัว และรัดเข็มขัด

มาดูคู่มือวิธีปรับตัวสู้พิษเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 จากทางฝั่งของผู้บริหารที่ถือเป็นหัวเรือขององค์กรขนาดใหญ่ในไทยกันบ้าง เริ่มจาก “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ได้ให้คำแนะนำว่า ผู้บริหารธุรกิจและผู้ประกอบการต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการ “คิดบวก” มองไวรัสตัวร้ายเป็นปัจจัยทำให้นักธุรกิจ “ปรับตัว” ครั้งสำคัญ

“อย่าคิดว่าเหตุการณ์คร้ังนี้เสียหายอย่างเดียว ให้มองเป็นโอกาสด้วย แต่เราต้องอึดให้ได้” จังหวะนี้บริษัทจึงต้องทำการปรับภาพลักษณ์ใหม่ ยกระดับองค์กรธุรกิจให้ดีขึ้น อย่างการจัดงาน 'สหกรุ๊ปแฟร์' มหกรรมลดราคาสินค้าประจำปีครั้งใหญ่ของเครือสหพัฒน์ จัดแบบเดิมไม่ได้ จึงยกเครื่องใหม่สร้างแพลตฟอร์มขายแบบออนไลน์” 

ธุรกิจค้าขายไม่ได้ ทำให้องค์กรต้อง รัดเข็มขัด ระมัดระวังการลงทุน เพราะเมื่อเกิดวิกฤติแบบนี้แน่นอนว่ารายได้จะลดลง 10-20% อีกทั้งการ กู้เงิน” มาลงทุนไม่ใช่ทางออก พยายามอย่าใช้เงินกู้ การลงทุนควรอยู่ในความสามารถของเรา มีมากลงทุนมาก มีน้อยลงทุนน้อย

161000753568

3. อย่าประมาท รู้จักมองหา 'โอกาส' ใน 'วิกฤติ'

คู่มือข้อถัดมาเป็นคำแนะนำจาก “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง แต่หากมองในแง่บวกจะพบว่าวิกฤตินี้เต็มไปด้วย 'โอกาสที่ยิ่งใหญ่' เพราะประเทศไทยร่ำรวยวัฒนธรรม มีจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวโดดเด่น มีแพทย์พยาบาลท่ีเก่งรองรับบริการสุขภาพได้ยอดเยี่ยม สามารถก้าวเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียได้

“ทุกคนต้องคิดบวก อย่าคิดลบ ตอนมืดที่สุด ก็ต้องคิดแล้วว่าถ้ากลับมาสว่างจะทำยังไง ตอนสว่างที่สุด ร่าเริงที่สุด ต้องคิดว่าถ้าเกิดวิกฤติเราจะพร้อมสู้หรือยัง” ต้องเตรียมรับวิกฤติที่จะเจอทุกวัน “อย่าประมาท”  

161000753439

4. ไม่ลงทุนเกินตัว ต้องมีเงินออมไว้ใช้ยามยาก

อีกหนึ่งผู้บริหารที่เคยให้คำแนะนำดีๆ ไว้เมื่อครั้งที่ไทยเผชิญกับการระบาดโควิด-19 ในระลอกแรก นั่นคือ “ตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) โดยให้คำแนะนำเอาไว้ว่า

“การปรับตัวในภาวะวิกฤติ เราต้องไม่ลงทุนเกินตัว และต้องมีเงินออมไว้ใช้ยามยาก ต้องไม่ใช้เงินล่วงหน้า และทุกย่างก้าวที่ทำธุรกิจต้องมีแว่นขยายตลอดเวลา เพื่อดูว่าแย่ของแย่ที่สุด เรายังอยู่ได้ไหม ต้องรู้จักส่องสถานะการเงิน เช็คสุขภาพธุรกิจตนเองอยู่เสมอ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิดทุบเศรษฐกิจยับ ธุรกิจโดนล็อกดาวน์ แต่ในความมืดแปดด้านก็ต้องหา “ช่องว่าง” ให้เจอ ในเมื่อหน้าร้านเปิดค้าขายให้บริการไม่ได้ ก็ต้องหันมา “ขายออนไลน์” ตอบโจทย์ความสะดวกด้วยปลายนิ้ว

161000753636

5. ลดราคา ปรับกลยุทธ์ มองหาพันธมิตรทางธุรกิจ

มาดูวิธีการปรับตัวสู้พิษเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 จากทางฝั่งผู้ประกอบการนำเที่ยวกันบ้าง เรามีเคสตัวอย่างจากธุรกิจนำเที่ยวบริษัท Love Andaman ผู้ให้บริการเรือนำเที่ยวบนเกาะภูเก็ต ซึ่งในครั้งการระบาดโควิดรอบแรกธุรกิจนำเที่ยวก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ โดย ศริยา รัตนภูมิ ผู้จัดการแผนกบริการของเลิฟอันดามัน ได้แชร์วิธีการปรับตัวของธุรกิจนี้ไว้ว่า

การปรับตัวของธุรกิจทัวร์ Love Andaman ในวิกฤติโควิด ก็มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หลายอย่างเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด เช่น ปรับการขายทัวร์ใหม่ แต่เดิมจะขายทัวร์ท่องเที่ยวทางทะเลอย่างเดียว แต่ตอนนี้ปรับมาเป็นขายทัวร์รูปแบบอื่นๆ ด้วย ปรับองค์กรให้เป็นตัวกลาง (ทำเอเจนซี่) ในการเสนอขายทริปท่องเที่ยวด้วย 

อีกทั้งขยับขยายจับมือกับพันธมิตรทางการท่องเที่ยวอย่างโรงแรมต่างๆ หากโรงแรมไหนมีส่วนลดค่าห้องพัก Love Andaman ก็จะเป็นกระบอกเสียงกระจายข่าวพร้อมหาลูกค้าให้ โดยผูกเป็นทริปท่องเที่ยวร่วมกันในภูเก็ต นำเสนอราคาถูกและคุ้มค่าที่สุดแก่ลูกค้า 

6. ปรับตัวสู่เดลิเวอรี่ เปลี่ยนเกมธุรกิจให้ทันสถานการณ์

ส่วนฝั่งผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน และได้รับผลกระทบก่อนใครเพื่อน เพราะมาตรการแรกๆ ที่ภาครัฐประกาศเพื่อควบคุมการระบาดโควิดคือ "สั่งปิดร้านอาหาร" หรือเปิดร้านได้แต่ให้สั่งแบบกลับบ้านเท่านั้น 

ตัวแทนของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบอย่าง เชฟหน่อย-ธรรมศักดิ์ ชูทอง เซเลบริตี้เชฟเจ้าของร้านสำราญ จ.ภูเก็ต และเคยเป็นหนึ่งในทีมเชฟกระทะเหล็กอาหารยุโรป เคยให้คำแนะนำในการปรับตัวสู้ภาวะวิกฤติโควิด-19 เอาไว้ว่า ในความโชคร้าย ยังมีความโชคดี ตรงที่ธุรกิจร้านอาหารสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดได้ง่ายกว่า และเปลี่ยนได้เร็วกว่าธุรกิจโรงแรม

จากเมื่อก่อนร้านนี้เน้นบริการอาหารแนวยุโรป ลูกค้าหลักๆ เป็นชาวต่างชาติ แต่พอมีวิกฤติโควิดก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบร้าน เปลี่ยนสไตล์อาหารทั้งหมด (เปลี่ยนเป็นอาหารอีสานฟิวชั่นยุโรปและไทย) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น ปรับกลยุทธ์ของร้านให้เป็นแนวสนุกสนาน ปรับลดราคาอาหารลง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ก็ยังปรับกลยุทธ์การตลาด เปิดกว้างสู่การขายใหม่ๆ เช่น ทำตลาดเดลิเวอรี่ เป็นต้น

161000940677

7. พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ เป็นสิ่งสำคัญ!

มาถึงฟากฝั่งของกลุ่มลูกจ้าง และพนักงานกันบ้าง เรามีเคสอาชีพหลากหลายมาแชร์วิธีการปรับตัว การเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจชะงักตัวจากโควิด-19 เริ่มจาก สรศักดิ์ มาแก้ว พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มีตำแหน่งหน้าที่ดูแลระบบเน็ตเวิร์คของบริษัท ช่วงที่โควิดระบาดในระลอกแรก เขาได้เปลี่ยนไปเป็น Work From Home ตามมาตรการของรัฐและต้นสังกัด เพื่อแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

หลังจากการปรับรูปแบบการทำงานในครั้งนี้ ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า “การเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญ” ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของอุปกรณ์ที่แตกต่างไปจากการทำงานในออฟฟิศ หรือความพร้อมของตัวเอง ที่จะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีมากขึ้น ฝึกการใช้งานโปรแกรมที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เพื่อใช้ทำงานแบบ WFH เช่น  Zoom, LINE, video call 

8. ประหยัดค่ากินค่าอยู่ งดทานอาหารนอกบ้าน

ด้าน ภัทรพร คัทมาตย์ พนักงานต้อนรับ Front Office ของโรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย อีกหนึ่งในเคสของมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤติโควิด-19 ไปเต็มๆ เพราะกระทบกับธุรกิจโรงแรมโดยตรง ภัทรพรเล่าให้ฟังว่าโรมแรมที่เธอทำงานอยู่มีการปรับลดเงินเดือนพนักงานลง และตัดรายได้พิเศษอย่าง "เซอร์วิสชาร์จ" ออกไป ทำให้รายได้ต่อเดือนลดลงเกือบ 50% 

เธอแชร์วิธีปรับตัวและวางแผนบริหารเงินในช่วงโควิดไว้ว่า ใช้สวัสดิการฟรีจากโรงแรมมากขึ้น (อาหารฟรีสำหรับพนักงาน) และพยายามบริหารเงินเดือนที่ลดน้อยลงให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายสิ่งต่างๆ ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ ค่าของใช้จำเป็น ฯลฯ งดออกไปกินข้าวนอกบ้านที่เป็นมื้อใหญ่ๆ เช่น ร้านหรู ร้านบุฟเฟ่ต์ รวมถึงงดซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ อย่างกระเป๋า เสื้อผ้า เป็นต้น

9. รู้จักบริหารหนี้ งดช้อปปิ้ง หารายได้เสริม

อีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จนทำให้รายได้ลดลงนั่นคือ 'แอร์โอสเตส' พัชรี ยุติธรรม พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ของสายการบินแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าช่วงที่โควิดระบาดรอบที่แล้ว ทำให้การเดินทางทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง รวมถึงสายการบินต้องปิดให้บริการและงดบินอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้ตอนนั้นเธอมีรายได้ลดลงเหลือประมาณ 20-30% ในเดือนที่ไม่มีบิน ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่มี เช่น ค่าผ่อนสินทรัพย์ต่างๆ ค่าน้ำมันรถ ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ

เธอแชร์วิธีการปรับตัวสู้พิษเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดเอาไว้ว่า "ต้องรู้จักจัดการและบริหารหนี้สิน" เธอได้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือและเจรจาหนี้เพื่อให้ลดรายจ่ายการผ่อนชำระต่อเดือนลง ในอีกมุมหนึ่งเนื่องด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ออกไปไหนไม่ได้ จึงมีส่วนช่วยให้เธอประหยัดได้ค่อนข้างเยอะ บวกกับพยายามหารายได้เสริมเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ตนเอง เช่น ทำงานพิเศษต่างๆ งานไหนทำได้ก็จะรับทำทันที และงดซื้อของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น

10. รัดเข็มขัด ออมเงินอย่างจริงจัง มีวินัย

ส่วนคู่มืออีกข้อที่ทุกควรจำและนำไปทำตามก็คือ "การออมเงิน" โดย จุฑารัตน์ (สงวนนามสกุล) พนักงานประจำบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เธอได้แชร์วิธีการปรับตัวสู้วิกฤติปากท้องในช่วงโควิดระบาดเอาไว้ว่า ยุคโควิดเป็นช่วงที่ทุกคนต้องรัดเข็มขัด และต้องรู้จักวางแผนการเงินให้รอบคอบมากขึ้นในแต่ละเดือน

วิธีวางแผน "ออมเงิน"  ที่เธอทำเป็นประจำก็คือ เมื่อได้รับเงินเดือนมาแต่ละเดือน จะแยกบัญชีเงินเก็บกับบัญชีเงินสำหรับใช้จ่ายไว้คนละกอง ซึ่งแบ่งเก็บเงินแบบนี้ทุกเดือน เพื่อให้บริหารเงินได้อย่างมีวินัย สำหรับเงินในกองค่าใช้จ่ายก็นำไปใช้ปกติ เช่น จ่ายค่าหอพัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าของใช้จำเป็น ทั้งนี้การซื้อของใช้ต่างๆ นั้น เธอจะไม่ใช้เงินส่วนที่เป็นเงินเก็บไปซื้อเด็ดขาด

ไม่ว่าสถานการณ์การระบาดโควิด ระลอกใหม่ในปี 2564 นี้ จะร้ายแรงน้อยกว่าหรือมากกว่าการระบาดในรอบแรกแค่ไหนก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็มีคู่มือดีๆ เอาไว้รับมือและสู้พิษเศรษฐกิจชะงักตัวไปด้วยกัน ในเมื่อครั้งที่แล้วคนไทยยังผ่านมาได้ รอบนี้ก็ต้องทำได้อีกครั้งแน่นอน