‘ไวรัสโคโรน่า’ พจนานุกรมจัดอันดับคำที่สุดแห่งปี

‘ไวรัสโคโรน่า’ พจนานุกรมจัดอันดับคำที่สุดแห่งปี

พจนานุกรมชื่อดังทั้ง Cambridge OED และ Collins ล้วนรายงานเป็นเสียงเดียวกันว่า ไวรัสโคโรน่า กลายเป็นคำที่ทรงอิทธิพล และยังมีคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดนี้ ที่ถูกบันทึกใหม่ไว้เช่นกัน

พจนานุกรมชื่อดังอย่าง Cambridge ยกคำว่า ‘Quarantine’ ให้เป็นคำศัพท์แห่งปี 2020 โดยมีความหมายว่า (v.) กักไว้, กันไว้ หรือ (n.) ช่วงเวลาที่ผู้คนไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากที่พักอาศัยของตน หรือเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างอิสระ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดหรือแพร่กระจายเชื้อโรค 

โดย Quarantine เป็นหนึ่งในคำศัพท์ที่มีการค้นหามากที่สุดในพจนานุกรมของ Cambridge ปีนี้ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 18-24 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับช่วงที่หลายประเทศรวมถึงสหราชอาณาจักรเริ่มเพิ่มมาตรการคุมเข้มและกักกันโรค เพื่อรับมือโควิด-19 ซึ่งคำว่า Pandemic และ Lockdown ก็เป็นคำศัพท์ยอดนิยมที่ได้รับการค้นหาเป็นจำนวนมากในปี 2020 เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีคำว่า HyFlex ที่ย่อมาจาก Hybrid Flexible ใช้สื่อความหมายถึงรูปแบบการเรียนการสอนที่มีนักเรียนบางคนนั่งร่วมคลาสในชั้นเรียนจริง ขณะที่มีนักเรียนบางคนร่วมคลาสผ่านระบบทางไกลหรือใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงคำว่า Elbow bump ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการทักทายกันด้วยการใช้ข้อศอกชนกัน เพื่อให้ยังคงสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคลงได้ Lockstalgia ที่เกิดขึ้นจากคำว่า Lock+Nostalgia หมายถึงความรู้สึกหวนระลึกที่เกิดขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ และ Coronnial ที่หมายถึงคนที่เกิดมาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 

160959829735

นอกจากนี้ ฝั่งพจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ด (OED) ประกาศเมื่อวันจันทร์ (23 พฤศจิกายน 2563) ว่า ปี 2020 นับเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้เลือกคำใดคำหนึ่งเป็นคำศัพท์แห่งปีแต่มีคำหลายคำที่สะท้อนภาพรวมของปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ไม่สามารถสรุปสารพัดเหตุการณ์ด้วยคำคำเดียวได้

คณะผู้จัดทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ด เปิดเผยว่า ด้วยการติดตามคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของคำศัพท์มากกว่า 1.1 หมื่นล้านคำ ซึ่งปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์ข่าว บล็อกออนไลน์ และแหล่งข้อความอื่นๆ ทำให้พบคลื่นสั่นสะเทือนในข้อมูลภาษาและการบัญญัติศัพท์ถี่ขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

 คำศัพท์ส่วนใหญ่ของปีนี้เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เช่น ไวรัสโคโรน่า (coronavirus) ล็อกดาวน์ (lockdown) ตัดวงจร (circuit-breaker) การจับกลุ่มระหว่างกักกันตัว (support bubble) ผู้ปฏิบัติงานหลัก (keyworkers) การลาพักงาน (furlough) และหน้ากากอนามัย (face mask)

160959831952

รายงาน ระบุว่า คำว่าไวรัสโคโรน่าปรากฏมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และเคยใช้ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์เป็นหลัก แต่เมื่อถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา คำนี้กลายเป็นคำนามที่ใช้บ่อยที่สุดคำหนึ่งในภาษาอังกฤษ มากกว่าการใช้คำว่าเวลาด้วยซ้ำนอกจากนั้นคำว่าการระบาดใหญ่” (pandemic) ถูกใช้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 57,000 ในปีนี้

 การปฏิวัติพฤติกรรมการทำงานในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่ยังส่งผลกระทบต่อภาษา โดยคำว่าระยะไกล” (remote) และจากระยะไกล” (remotely) มีการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 300 ตั้งแต่เดือนมีนาคม ส่วนคำว่าปิดเสียง” (On mute) และเปิดเสียง” (unmute) เพิ่มขึ้นร้อยละ 500 ตั้งแต่เดือนมีนาคม ขณะที่คำผสมอย่างการทำงานระหว่างท่องเที่ยว” (workation) และการพักผ่อนอยู่กับบ้าน” (staycation) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน

ด้าน พจนานุกรมชื่อดังอย่าง Collins ยกคำว่า ‘Lockdown’ ให้เป็นคำศัพท์แห่งปี 2020 หลังจากที่มีการใช้คำนี้เพิ่มมากขึ้นกว่า 6,000% นับตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปีนี้มีการใช้คำว่า ‘Lockdown’ ในสื่อต่างๆ อย่างน้อย 2.5 แสนครั้ง ซึ่ง Lockdown มีความหมายว่า มาตรการหรือข้อบังคับที่เข้มงวดที่จำกัดการเดินทาง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ 

นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์อื่นๆ เช่น

Furlough (n.) การสั่งหยุดงานชั่วคราวหรือลดจำนวนพนักงานลง เนื่องจากปริมาณงานที่ลดลง มาจากภาษาดัตช์ Verlof และใกล้เคียงกับคำว่า förlof ในภาษาสวีดิช 

 Key Worker หรือ Keyworker (n.) ลูกจ้างหรือพนักงานในสาขาอาชีพต่างๆ ที่ได้รับการพิจารณาว่า มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสังคม เช่น ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นต้น

 Megxit (n. / ไม่เป็นทางการ) การก้าวถอยจากการปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์อังกฤษของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ เกิดขึ้นจากการรวมกันของคำว่า Meghan และ Brexit

 Mukbang (n. / ภาษาเกาหลี) วิดีโอหรือเว็บถ่ายทอดสดที่มีผู้ดำเนินรายการกินอาหารในปริมาณมาก เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้รับชม มาจากการรวมกันของคำว่า Meogneun (การกิน) และ Bangsong (ถ่ายทอดหรือออกอากาศ)

 Self-isolate (v.) แยกตัว กักตัว ด้วยตนเอง กรณีที่ติดเชื้อหรือต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อที่สามารถแพร่ระบาดได้